ปี 2018 คือปีที่ “พานาโซนิค” แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากดินแดนซามูไร ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ครบ 100 ปี ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่นับวันจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยปี 2017 (เมษายน 2017 –มีนาคม 2018 ) ที่ผ่านมา ยอดขายของ “พานาโซนิค” ทั่วโลกอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เติบโตถึง 9%
“เมืองไทย” ไม่ได้เป็นเหมือน “ตลาดโลก”
แต่สำหรับในเมืองไทยที่บุกเข้ามาทำตลาดถึง 57 ปีแล้ว สถานการณ์กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะถึงจะสามารถพลิกกลับมาเติบโตได้ 1% หรือคิดเป็นยอดขาย 91,000 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ติดลบไป 1% ก็ตาม แต่ตัวเลขที่เกิดขึ้นก็ยังห่างกับภาพรวมทั่วโลกอยู่ไม่น้อย
ยิ่งยอดขายในไตรมาส 1 ของปี 2018 (เมษายน–มิถุนายน 2018 ตามปีงบประมาณของญี่ปุ่น) ก็ทำให้ “พานาโซนิค” ในเมืองไทยต้อง “คิดหนัก” อีกครั้ง
“ผลประกอบการในไตรมาส 1 ของพานาโซนิค ยอดขายทั่วโลกเติบโตประมาณ 8% ในขณะที่ผลงานในเมืองไทยลดลง 2% หรือคิดเป็นยอดขาย 22,000 ล้านบาท”
“เหตุผลที่ทำให้ยอดขายลดลงคือ ในไทยมีทั้งบริษัทผลิตและษริษัทขาย ส่วนใหญ่ของตัวเลขอยู่ในบริษัทขาย ถึงในส่วนของสินค้า AV (Appliances Company) เติบโตได้ก็จริง แต่ด้วยราคาที่ลดลงของทีวีก็เป็นปัญหาหนึ่ง รวมไปถึงอากาศที่ไม่ร้อน ฝนตกเร็วมาก จึงทำให้เครื่องปรับอากาศยอดขายตกลงไป” ฮิเดคาสึ อิโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย ให้เหตุผลที่ยอดขายลดลง
“โจทย์” ที่ต้องเร่งแก้
สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็น “โจทย์ข้อใหญ่” ที่ “พานาโซนิค” ต้องเร่งแก้
ฮิเดคาสึ บอกว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “พานาโซนิค” ได้ทำการปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่ โดยเริ่มจากการทำงานที่แต่ก่อนแยกออกเป็น 20 บริษัทที่ประกอบไปด้วย 11 บริษัทผลิต, 4 บริษัทขาย, 1 ศูนย์วิจัย และ 4 บริษัทอื่นๆ จากนี้ไปการทำงานจะร่วมกันมากขึ้น
ในขณะเดียวกันธุรกิจที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ 1. Appliances Company (AP) 30%, 2. Eco Solutions Company (ES) 9%, 3. Connected Solution Company (CNS) CNS 2% และ 4. Automotive & Industrial Systems Company (AIS) 59% ก็ต้องปรับทิศทางเกมการตลาดเสียใหม่ด้วย
เครื่องใช้ไฟฟ้าต้อง “พรีเมียม”
เริ่มจาก AP ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ทางที่ “พานาโซนิค” จะเดินคือรุก “เซกเมนต์พรีเมียม” มากขึ้น
“ก้าวต่อไปในเมืองไทยท่ามกลางการแข่งขันที่สูง พานาโซนิคจะเน้นสินค้าที่เป็นพรีเมียมมากขึ้น เพราะไม่ต้องการแข่งขันในเรื่องของราคา ถ้าต้องแข่งราคากับแบรนด์จีนก็ไม่มีวันที่จะชนะ”
ทางเดินนี้จะถูกหรือไม่? คงยังตอบไม่ได้ เพียงแต่นี่อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดของ “พานาโซนิค” ในตอนนี้ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า การแข่งขันในตลาดที่ไม่ได้มีแค่ “แบรนด์เกาหลี” ที่เป็นคู่แข่งหลักอีกต่อไป หากยังมี “แบรนด์จีน” ที่ไล่บี้ขึ้นมาหายใจรดต้นคอด้วยการทุบราคาให้ถูกกว่า และการสาดงบโฆษณาที่หวือหวากว่า เพื่อสร้างการจดจำ
แต่สิ่งหนึ่งที่ “พานาโซนิค” มีความได้เปรียบกว่าแบรนด์จีนคือคำว่า “Japan Quality” ที่ยังมีอิทธิพลอยู่สำหรับผู้บริโภคชาวไทย


ES ต้องมีสัดส่วน 20%
ในขณะที่ ES ซึ่งผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมด ฮิเดคาสึบอกว่า ในอนาคตต้องการเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 20% เหมือนบริษัทแม่
นั่นเพราะถึงในญี่ปุ่น ES จะแข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่ แต่อย่างที่รู้กันว่าที่ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะฉะนั้นการสร้างบ้านและคอนโดอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว “พานาโซนิค” จึงต้องสร้างตลาดในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย
“สำหรับ Smart Home ได้ทำสัญญากับดีเวลลอปเปอร์รายหนึ่งไปแล้ว คิดว่าอีกไม่นานจะมีประกาศ ซึ่งกำลังใกล้จะเห็นแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ES ยังต้องเจอความท้าทายอยู่อีกมาก เพราะตั้งแต่คนไทยเริ่มนิยมหลอดไฟแบบ LED “พานาโซนิค” ก็ต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมาก
“พานาโซนิคอาจไม่เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ แต่เติบโตอย่างสม่ำเสมอได้อย่างแน่นอน โดยเรื่องคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญซึ่งเชื่อว่ายังสามารถสู้ได้อยู่ อีกทั้งจะพยายามศึกษาและวิเคราะห์ พร้อมกับนำสินค้าใหม่ๆ เข้ามาอีก”
CNS ต้องพยายามต่อไป
สำหรับ CNS ซึ่งเป็น Business Solution (B2B) ที่ให้บริการการพัฒนา, เชื่อมต่อระบบ, บำรุงรักษา และระบบปฏิบัติการ ในเมืองไทยยังมีเพียง 2% ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพรวมที่มีสัดส่วน
ฮิเดคาสึ เขินอายที่จะตอบในเรื่องนี้ CNS เพราะรายได้หลักในส่วนนี้มาจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นสัดส่วนกว่า 40% เลย
“สิ่งที่ขาดหายไปไม่มีในเมืองไทยคือแลปทอปคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ตัวเลขไม่ดีนัก เนื่องจากเมืองไทยเน้นไปที่มือถือซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ญี่ปุ่นต้องการคอมพิวเตอร์ที่เบาและถ่านที่ยาวนาน ส่วนอเมริกาต้องการคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่คนไทยไม่ชอบ”
เขาอธิบายต่อว่า อีกอันที่หายไปคือกล้องสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์หรือสตูดิโอต่างๆ เนื่องจากกล้องทั่วไปคุณภาพดีขึ้น ผู้บริโภคจึงไม่ต้องการกล้องตัวใหญ่อีกแล้ว
นอกจากนี้ Project ในไทยยังมีอยู่น้อย ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นที่ไม่ได้ขายสินค้าอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนที่ให้บริการและบริหารต่างๆ มีการเช็นสัญญาระหว่างปี ซึ่งถือเป็นรายได้ใหญ่
“ในเมืองไทยยอมรับว่ายังไม่มีความชำนาญมากพอ ด้วยยังขายสินค้าชิ้นเดี่ยวๆ เพราะฉะนั้นอนาคตคงต้องทำงานกับพาร์ตเนอร์ ในการนำเสนอสินค้าและต่อยอดไปให้ผู้บริโภค แต่ตอนนี้ยังจำเป็นต้องปั้นวิศวกรในส่วนนี้ให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองกับธุรกิจก่อน”
ปี 2020 อยากมีรายได้ 100,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ถึง 3 ธุรกิจก่อนหน้าจะทำให้ “พานาโซนิค” ต้องหนักใจ หากยังมี AIS ที่ยังพอให้สบายใจอยู่บ้าง
นั่นเพราะ AIS เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบข้อมูลและความบันเทิงในรถยนต์ และตอนนี้เองตลาดรถยนต์ในบ้านเรากำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” จึงส่งผลดีถึง “พานาโซนิค” ที่ขายทั้งในประเทศและส่งออกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยกลยุทธ์ที่ว่ามา “พานาโซนิค” เชื่อว่าจะสามารถทำให้รายได้รวมขึ้นไปแตะ 100,000 ล้านบาท ได้ภายในปี 2020
“เป้าหมายที่วางไว้ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม เพราะไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้ล่วงหน้า จู่ๆ อาจจะมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอย่างกะทันหัน หรือมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น นี่เป็นความยากในการทำงาน หากแต่จำเป็นต้องวางเป้าหมายไว้ ไม่งั้นก็จะทำแบบเดิมๆ”
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



