อย่างที่รู้กันอยู่ว่า สถานการณ์กล้องถ่ายภาพในประเทศไทย ถูก Mirrorless ครองตลาดใหญ่สุด ใน ตลาดกล้อง 2018 ด้วยสัดส่วนมากถึง 60% เลยทีเดียว

Mirrorless กินแชร์ 60% ตลาดกล้อง Compact 10% Mirrorless 60% DSLR 30% ตลาดรวม 7,000 ล้านบาท* *มกราคม-กรกฎาคม 2561 ที่มา : นิคอน, กันยายน 2561แม้การเติบโตของ Mirrorless ไทยจะมีสัดส่วนมากถึง 60% เมื่อเทียบกับตลาดรวม แต่เมื่อมองลึกลงไป ตลาด Mirrorless ได้เลยช่วงจุดสูงสุดของตลาดในแง่ของจำนวนเครื่องมาแล้ว

สังเกตได้จากจำนวนกล้อง Mirrorless ในตลาดที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยโทรุ มัทสึบาระประธานและกรรมการผู้จัดการ นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่าจำนวนกล้องที่ลดลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการหายไปของยอดจำหน่ายในกลุ่ม Entry Level ที่ผู้ใช้กล้องเริ่มมีประสบการณ์และอัพเกรดไปยังรุ่นที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งการอัพเกรดไปสู่กล้อง Mirrorless ระดับ Hi End ได้ทำให้มูลค่าตลาดนี้ยังคงเท่าเดิม

Full Fame Mirrorless ตลาดเกิดใหม่ ที่ใหญ่กว่าที่คิด 30% คือ Full Fame เติบโต 30% สัดส่วน 30% ตลาดกล้องรวม เติบโต 3% ต่อปี ที่มา : นิคอน, กันยายน 2561Full Frame Mirrorless ถือว่าเป็นตลาดที่ใหม่ ใน ตลาดกล้อง 2018 และไม่เคยมีการแข่งขันกันมาก่อนหน้านี้

แม้ที่ผ่านมา นิคอน เคยไม่ประสบความสำเร็จในการส่ง Nikon 1 ลงแข่งในตลาด Mirrorless ระดับแมส จนต้องพับ Nikon 1 เก็บกลับบ้านไป

แต่ด้วยเทรนด์ของตลาดที่ไปในกลุ่ม High End มากขึ้น ทำให้ นิคอน มองว่า มันคือโอกาสครั้งใหม่ในตลาด Mirrorless ที่จะใช้จุดแข็งของภาพลักษณ์ของนิคอน ที่เป็นแบรนด์กล้องระดับมืออาชีพ เข้าไปทำตลาดในกล้อง Mirrorless ในระดับ Full Frame แทนกล้องระดับแมส เหมือนที่ผ่านมา

เพราะก่อนหน้าที่นิคอน จะเปิดตัว Full Frame Mirrorless เข้ามาแข่งขันในตลาด

ตลาดในเซ็กเมนต์นี้มีโซนี เพียงค่ายเดียว ที่ออกกล้อง Full Frame Mirrorless สำหรับมืออาชีพ ออกวางจำหน่ายในประเทศไทย เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2556 และสร้างตลาดแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีคู่แข่งอยู่เกือบครึ่งปี ผ่าน Full Frame Mirrorless หลากรุ่นที่ทยอยเปิดตัวออกมา และกำลังจะเปิดตัวรุ่นใหม่ในเร็วๆ นี้

แต่ก่อนที่โซนีจะรุกตลาดได้ไกลกว่านี้ได้มีคู่แข่งอย่างนิคอน แคนนอน พานาโซนิค และฟูจิ ฟิล์ม ที่ค่อยทยอยประกาศความพร้อมที่จะลงแข่งขันในตลาด Full Frame Mirrorless ด้วยเช่นกัน

นิคอน เป็นแบรนด์แรกที่พร้อมวางจำหน่าย Full Frame Mirrorless ในชื่อ Z Series เข้ามาแข่งขันกับโซนี ก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ ที่คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งอยู่ในช่วง High Season ตลาดกล้องในประเทศไทย จากการซื้อเพื่อใช้ในการท่องเที่ยวปลายปี

โดยนิคอนเปิด Z Series ในตลาดโลกเมื่อ 24 สิงหาคม 2561 และพร้อมจำหน่ายในไทย 27 กันยายน 2561

สิ่งที่ทำให้ค่ายอื่นๆ ลงเล่นในตลาดนี้ตามโซนี นอกจากการเห็นเทรนด์ของ Mirrorless ที่เข้าสู่สินค้าในกลุ่ม Hi End จากประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ยังมาจากการเห็นพฤติกรรมของผู้ใช้กล้องFull Frame DSLR ได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่ผู้ซื้อกล้องระดับนี้จะจำกัดอยู่เพียงช่างภาพมืออาชีพ

แต่ปัจจุบันราคากล้อง Full Frame DSLR (เฉพาะตัวกล้อง) มีราคาตั้งแต่ 30,000 กว่าบาทไปจนถึง 130,000 บาทแล้วแต่รุ่นและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสินค้าใหม่ที่มาทดแทน และขนาดของตลาดที่ใหญ่ขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่างภาพมือสมัครเล่นให้ความสนใจ ซื้อกล้องระดับมืออาชีพเพื่อใช้ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก

ซึ่งนิคอนเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนมาใช้งาน กล้อง Full Frame Mirrorless เพราะขนาดที่กะทัดรัด พกพาสะดวก แต่ให้คุณภาพในการถ่ายภาพไม่แตกต่างจาก Full Frame DSLR

นอกจากนี้กล้อง Full Frame Mirrorless ยังสามารถต่อยอดไปยัง อุปกรณ์อื่นๆ เกี่ยวข้อง เช่น เลนส์ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้กว้างกว่า Mirrorless ระดับแมส

แม้ว่าในตลาดนี้จะเปิดให้ผู้ใช้งาน Full Frame Mirrorless สามารถใช้เลนส์ DSLR ของเดิมได้ แต่ธรรมชาติของคนเล่นกล้องจะนิยมสะสมอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด และเมื่อผู้ใช้งานลงทุนในกล้อง Full Frame Mirrorless ค่ายไหนแล้ว โอกาสในการย้ายค่ายจะทำได้ยาก เพราะเสียดายในอุปกรณ์ที่ลงทุนไป

แล้ว นิคอน จะสร้างโอกาสการตลาดให้กับตัวเองในFull Frame Mirrorlessอย่างไร

เปิดตลาดด้วย Z Series

การทำตลาดของ นิคอน เริ่มจาก การเปิดตัว Z Series พร้อมกัน 2 รุ่น ได้แก่ NIKON Z7และ NIKON Z6 ที่มีจุดเด่นคือเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่หมด เช่น ช่องมองภาพเมาท์เลนส์ใหม่ ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่กว้างขึ้น มีระยะท้ายเลนส์ห่าง 16 มม. ให้ภาพที่ถ่ายออกมามีความคมชัดทั้งภาพ ในราคาเริ่มต้น (เฉพาะตัวกล้อง) 69,900 บาท

สร้างรับรู้ในกลุ่มผู้สนใจการถ่ายภาพด้วยการช่างภาพมืออาชีพในแขนงต่างๆ ที่เป็นไอดอลในวงการถ่ายภาพมาทดลองใช้ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการบอกต่อถึงคุณภาพในการถ่ายภาพ และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานกล้อง Z Series

พร้อมสร้างประสบการณ์การใช้งานกล้อง Z Series ผ่านเวิร์คช็อป สัมมนา โดยช่างภาพมืออาชีพ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ ที่จัดทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัด กับผู้ที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้งานกล้องนิคอนมาก่อน

อย่างเช่นการจัด “Z Wedding Talk” สัมมนาเจาะลึกเทคโนโลยีของ NIKON Z กับงานถ่ายภาพ Wedding ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความคล่องตัวในการถ่ายภาพเก็บบรรยากาศในงาน และการถ่ายภาพพรีเว็ดดิ้งแนวสตรีท โดยวิทยากรที่เป็นช่างภาพเว็ดดิ้งมืออาชีพ ให้กับผู้สนใจทั่วไป เป็นต้น

การจัดเวิร์คช็อป สัมมนา เป็นกิจกรรรมที่นิคอนทำมาอย่างต่อเนื่อง และการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้กล้องของคู่แข่งเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ กับนิคอนได้นั้น มาจากกลยุทธ์ในการบุกตลาดสร้างประสบการณ์ที่ดี ให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคโดยไม่รู้ตัว เพื่อหวังว่าในอนาคตจะกลายเป็นลูกค้าของนิคอนสักวันหนึ่ง

เบอร์ 4 ที่ไม่ห่าง

ในวันนี้นิคอนมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 4 ในตลาดกล้องทั้งหมดในเชิงมูลค่า ซึ่ง โทรุ มัทสึบาระ ได้กล่าวว่าส่วนแบ่งตลาดในตลาดกล้องของอันดับ 1-4 มีเปอร์เซ็นต์แต่ละอันดับห่างกันเพียง 1-3% เท่านั้น และเป็นไปได้ว่าในอนาคต นิคอนจะค่อยๆ ก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างยั่งยืนได้

ซึ่งการก้าวขึ้นเบอร์หนึ่งอย่างยั่งยืนของนิคอน นอกจากกลยุทธ์การทำให้แบรนด์เป็นที่รักผ่านกิจกรรมต่างๆ แล้วยังประกอบด้วย

-การเปิด Nikon Experience HUB ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาทดลองใช้งานกล้องนิคอนได้ทุกรุ่น เพื่อลดข้อจำกัดของร้าน Multi Brand ที่มีกล้องให้ลูกค้าทดลองใช้เพียงไม่กี่รุ่น และ Nikon Experience HUB ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเวิร์คต่างๆ ของนิคอนให้กับผู้สนใจด้วย

-ลดภาพนิคอนให้เด็กลง จากเดิมที่มีคนมองว่านิคอนมีภาพลักษณ์เป็นผู้ชาย อายุ 40 ปี ขึ้นไป ที่ถ่ายรูปเก่ง พูดได้แต่ภาษาเทคนิค ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปในคำพูดปกติได้ ให้มีภาพลักษณ์ เป็นผู้ชายและผู้หญิงอายุ 20 ปี และคุยภาษาเดียวกับพวกเขา ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่นที่ผ่านมีการร่วมมือกับแบรนด์ชุดกีฬาวอริกซ์ จัดประกวดภาพถ่าย เสื้อบอลไทย ใส่ได้ทุกวัน หรือการจัดโครงการปั้นช่างภาพหญิงรุ่นใหม่สู่ช่างภาพมืออาชีพ เป็นต้น

ทั้งนี้การเข้ารุกตลาดของ Full Frame Mirrorless ของนิคอน คงต้องดูกันระยะยาวว่า นิคอน จะสามารถสร้างพลัง นิคอน แฟน ให้เกิดขึ้นในตลาดนี้ได้มากน้อยแค่ไหน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online