จากแนวคิดที่ไปเห็นโมเดลสวนสนุกที่ญี่ปุ่นที่นำ “ทะเลขึ้นมาสร้างบนพื้นดิน” จึงหยิบไอเดียดังกล่าวมาสร้าง สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ ในปี 1980 บนพื้นที่ 13,600 ตารางเมตร 

กลายเป็นแนวคิดที่มา “ถูกทาง” เพราะในยุค 90 หากใครไม่เคยมาเที่ยวสวนสยามถือว่าเอาต์ตกเทรนด์ ไม่ว่าจะไปกับพ่อแม่ หรือทัศนศึกษากับโรงเรียน จนไปถึงไปกับแก๊งเพื่อน

ที่น่าสนใจเมื่อสวนสยามกลายเป็นสวนน้ำที่ใครๆ ก็อยากไปมีกำไรต่อปีเป็นกอบเป็นกำ โปรเจ็กต์การขยายธุรกิจก็เกิดขึ้น เมื่อต้องการอัพเกรดตัวเองให้เป็นมากกว่า “สวนน้ำ” จึงลงทุนซื้อเครื่องเล่นจากสวนสนุกที่ขาดทุนจนต้องปิดกิจการมาจาก “แฮปปี้แลนด์”

สวนสยาม จึงเป็นทั้งสวนน้ำที่ใหญ่ที่สุดและเป็นสวนสนุกไปด้วยในเวลาเดียวกัน พร้อมกับรายได้ต่อปีที่เติบโตต่อเนื่องในอดีต

แต่แล้ววันนี้ สวนสยามกลับไม่ได้สนุกเหมือนอย่างในอดีต จำนวนคนเข้าไปใช้บริการน้อยลงต่อเนื่อง แม้จะมีการจัดทำโปรโมชั่นหลายต่อหลายครั้งก็ตามไม่ว่าจะเป็นการ ซื้อบัตร ครั้งเดียวเที่ยวฟรีตลอดวัน ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 100 บาท

จะเห็นว่ารายได้ของสวนสยามลดลงต่อเนื่องในทุกๆ ปี ต้นเหตุมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นได้เกิดสวนน้ำสวนสนุกมากมายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาทิ Vana Nava Hua Hin Water Jungle ที่หัวหิน หรือ Cartoon Network Amazone Waterpark ที่พัทยา, The Pirates Park, ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะที่ในกรุงเทพฯ Pororo AquaPark สวนน้ำลอยฟ้าที่เซ็นทรัล บางนา 

หากนับๆ แล้วเวลานี้สวนน้ำและสวนสนุกในไทยน่าจะมี 40-50 แห่งเลยทีเดียวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 

และสวนน้ำสวนสนุกทุกแห่งได้แชร์รายได้จากสวนสยามอย่างต่อเนื่อง เพราะคนต่างจังหวัดเองก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อมาเล่นสวนน้ำสวนสนุก ในขณะที่คนกรุงเทพเองก็หนีไปเที่ยวสวนน้ำสวนสนุกในต่างจังหวัดมากขึ้น

แล้วทำไมสวนสยามไม่คิดใหม่ ทำใหม่ ให้ตัวเองโดดเด่นกว่าเดิมและให้เหนือกว่าคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามาแย่งลูกค้าตัวเอง

อันดับแรกสุดก็คือ ธุรกิจสวนน้ำสวนสนุกจะหาเงินได้พีคๆ ก็ในช่วงปิดเทอมกับวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ หากวันธรรมดาลูกค้าจะน้อยมาก ในขณะที่เจ้าของธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนทั้งการเปลี่ยนน้ำในสระ, ค่าบำรุงเครื่องเล่น, เงินเดือนพนักงาน ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ในทุกๆ เดือน 

เหตุผลที่สอง ธุรกิจสวนน้ำสวนสนุกกลางแจ้ง หากฝนตกนักท่องเที่ยวก็ไม่อยากมา

สุดท้ายคือ ใช่ว่าลงทุนไปแล้วจะการันตีว่าคนจะเข้าสวนสยาม เพราะในตลาดสวนน้ำสวนสนุกในไทยเวลานี้ทุกรายกำลังขับเคลื่อนด้วยโปรโมชั่นราคา เพื่อดึงดูดคนเข้าสวนน้ำตัวเอง

ทั้ง 3 ข้อคือเหตุผลว่าทำไมสวนสยาม รวมไปถึงคู่แข่งในธุรกิจสวนน้ำหรือสวนสนุกไม่กล้าที่จะลงทุนมหาศาลเหมือนอย่างสวนน้ำสวนสนุกในต่างประเทศ ที่แต่ละแห่งได้กลายเป็น โปรแกรมทัวร์ที่ห้ามพลาดของนักท่องเที่ยว ต่างชาติ อาทิ Disneyland ที่แต่ละสาขามีมูลค่าการก่อสร้าง 3-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จนไปถึง universal studios หรือจะเป็น Everland ในประเทศเกาหลีใต้ ที่ซัมซุงเป็นเจ้าของ

แต่สวนสนุกและสวนน้ำในเมืองไทยแต่ละแห่งไม่ได้มีสถานะเหมือนอย่าง Disneyland หรือ universal studios

ทางออกของสวนสยามก็คือไม่ต้องโดดเด่นแต่ขอรักษาคุณภาพให้เท่าเดิม แล้วไปเน้นธุรกิจในกลุ่มองค์กรให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดทัศนศึกษาตามโรงเรียน, การจัดสัมมนา, ตั้งแคมป์ หรือจะเป็นธุรกิจรับเหมาสถานที่บางส่วนให้ลูกค้าจัดงานวันเกิด, งานมีตติ้งเพื่อนๆ, หรือแม้แต่งานแต่งงาน

เป้าหมายก็คือหารายได้อื่นๆ เพิ่มเข้ามาทดแทนรายได้จากการขายบัตรให้นักท่องเที่ยวที่หายไป

เพราะในยุคที่ตลาดสวนน้ำสวนสนุกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย การจะเป็นตำนานที่มีลมหายใจต่อไปของ “สวนสยาม”

ย่อมไม่ใช่การพองตัวให้ดูโดดเด่นกว่าคู่แข่ง เพราะผลลัพธ์อาจจะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

เพราะฉะนั้นภาพในอดีตที่เคยเห็นสวนสยามลงทุนซื้อเครื่องเล่นใหม่ๆ ปีละ 3-4 พันล้านบาทอาจจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

จะมีให้เห็นความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือในปีนี้ “สวนสยาม” จะใช้งบการตลาด 60 ล้านบาทจัดทำแคมเปญการตลาด เพื่อดึงดูดให้คนมาเที่ยวโดยหวังว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 10% โดย วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก ก็ยอมรับตรงๆ ว่า

เป็นเป้าหมายที่ยากและท้าทาย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online