“เราไม่ได้ซื้อ makro ในราคาแพงอย่างที่ใครคิด เพราะการซื้อครั้งนี้เหมือนเป็นการซื้อเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่พิมพ์ได้จำนวนมาก แถมพิมพ์เร็ว เครื่องไม่เสีย” เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ให้สัมภาษณ์ในวันที่ตัวเองต้องจ่ายเงิน 188,000 ล้านบาท เพื่อครอบครอง makro ในไทยจำนวน 57 สาขา และสิทธิ์ในการขยาย makro ไปยังต่างประเทศ
คำถามคือ ณ วันนี้ makro ในมือ “เจ้าสัว ธนินท์” ผ่านมา 5 ปี ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแล้วหรือยัง?
หากวัดในแง่ผลกำไร 4 ปีกับ 9 เดือนนั้น makro มีกำไรรวมกันอยู่ที่ประมาณ 26,200 ล้านบาท ซึ่งก็ยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลกับเงินที่ CP ALL จ่ายให้แก่บริษัท SHV จากเนเธอร์แลนด์และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่รวมๆ กันแล้วคือ 188,000 ล้านบาท
แต่ความห่างไกลจากจุดคืนทุนเดิมอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะแรกเริ่ม “เจ้าสัวธนินท์” เองก็รู้แล้วว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนระยะยาวที่อาจจะต้องใช้เวลาคืนทุนนานเป็น 10 ปี
สิ่งที่ต้องโฟกัสก็คือผลกำไรที่เติบโตในทุกๆ ปี และการใช้ makro ต่อยอดธุรกิจต่างๆ ในเครือ CP คือสิ่งสำคัญที่สุด
เรื่องของกำไรที่เติบโต
จากในอดีตก่อน makro จะมาอยู่ในมือเจ้าสัว CP ALL นั้นมีกำไรเฉลี่ยประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทแต่ ณ วันนี้ makro มีกำไรต่อปีสูงถึง 6,178 ล้านบาทเลยทีเดียว
อะไรที่ทำให้ makro มีกำไรเติบโตเป็นเท่าตัว
อันดับแรกสุด ก็คือการไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นร้านค้าส่งให้แก่กลุ่มร้านค้าโชห่วยเหมือนอย่างในอดีต โดยวิถีของ makro แม้ยังคงรักษาคอนเซ็ปต์ “มิตรแท้โชห่วย” อย่างแข็งแกร่งและให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยจุดขายคือ “ราคาถูก บริการดี”
แต่สิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ในอดีตไม่เคยมีมาก่อน ทั้ง makro food service เน้นขายอาหารและของสดเป็นสาขาขนาดเล็ก มีพื้นที่ 1,000-3,000 ตารางเมตร เจาะทำเลในชุมชนต่างๆ และโลเคชั่นที่มีร้านอาหารเยอะๆ
เป็นรูปแบบสาขาเล็กเน้นขายสินค้าประเภทอาหารสด, ที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าสาขาใหญ่ที่มีขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป และขายสารพัดสินค้ามากมาย
และด้วยขนาดร้านที่เล็กทำให้ makro food service สามารถขยายสาขาได้ง่าย และตรงกลุ่มเป้าหมายในโลเคชั่นที่ตัวเองต้องการ แถมแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้จำกัดลูกค้าแค่กลุ่มผู้ประกอบการและสมาชิกกว่า 3 ล้านราย แต่ลูกค้าทั่วไปก็สามารถที่จะเข้าไปช้อปปิ้งได้
ส่วนแพลตฟอร์มต่อมาก็คือร้าน SIAMFROZEN เป็นร้านขนาดเล็กเหมือนกัน แต่จะเน้นขายอาหารแช่แข็งเป็นหลักและให้บริการทั้งขายส่งและกลุ่มลูกค้าคนทั่วไป
ส่วนแพลตฟอร์มร้านแบบสุดท้ายก็คือ siam food service เน้นขายอาหารและวัตถุดิบนำเข้า ระดับพรีเมียม เจาะกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหาร
จะเห็นว่าแนวคิดของ makro นับตั้งแต่อยู่ภายใต้มือของ “เจ้าสัวธนินท์” ก็คือแม้จะมีสาขาขนาดใหญ่ดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ก็เลือกที่จะเน้นขายสินค้าเฉพาะทางเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ด้วยการใช้สาขาขนาดเล็กเป็นอาวุธในการขยายสาขาให้รวดเร็วมากขึ้นกว่าในอดีต
และเมื่อนำจำนวนสาขามาเปรียบเทียบกัน จากเมื่อ 5 ปีที่แล้วในช่วงที่ CP ALL เข้าซื้อกิจการนั้นมี 57 สาขา แต่ในวันนี้มีถึง 123 สาขาเมื่อสิ้นปี พ.ศ.2560 และในปี พ.ศ.2561 นั้นถูกประมาณการอยู่ที่ 140 สาขา
รวมไปถึงการไม่ได้เป็นห้างค้าส่งแบบ “หลงยุค” เมื่อ makro เปิดช่องทางขายออนไลน์ทั้งผ่านหน้าเว็บไซต์ตัวเองจนถึงการมี makro application ที่ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดใช้งานมากกว่า 300,000 ราย
ตรงนี้ยังรวมไปถึงการขยายสาขา makro ไปต่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ต้องการมากที่สุด เพราะการซื้อแฟรนไชส์ 7-Eleven นั้นมีข้อจำกัด คือสามารถขยายสาขาได้แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แตกต่างจาก makro ที่สามารถ “โก อินเตอร์” ได้ในหลายๆ ประเทศ (บางประเทศไปไม่ได้ เพราะสัญญาระบุไว้)
โดยเวลานี้ makro ได้เปิดสาขาขนาดใหญ่ในประเทศกัมพูชา และเตรียมที่จะเปิดสาขาในประเทศอินเดีย 15 สาขาภายใน 5 ปี ด้วยงบลงทุนประมาณ 145 ล้านเหรียญสหรัฐ
makro เกมต่อยอดธุรกิจของ CP
โดยทุกช่องทางการขาย ทั้งแบบดั้งเดิมคือ makro ขนาดใหญ่ รวมไปถึงร้านค้าแบบใหม่ทั้ง 3 รูปแบบ, ช่องทางออนไลน์ และการขยายสาขาไปต่างประเทศ
เป็นเครื่องมือชั้นดีในการช่วยให้สินค้าที่ makro เป็นผู้ผลิตเองหรือที่เรียกว่า House brand ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ aro กลุ่มของสดพรีเมียม, Savepak สินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัด ให้มียอดขายมากขึ้นกว่าในอดีตที่มีช่องทางการขายอยู่แค่ makro สาขาใหญ่เท่านั้น
และไม่ใช่แค่นั้นแต่สารพัดสินค้าอาหารที่อยู่ในกลุ่มบริษัท CPF ที่มีเจ้าของคนเดียวกันอย่างเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ยังมีช่องทางขายเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
ซึ่งคงจะถูกอย่างที่ “เจ้าสัวธนินท์” พูดไว้ไม่ผิด การจ่ายเงินซื้อ makro ไปในราคา 188,000 ล้านบาท จะถูกจะแพง ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนซื้อ
ถ้า CP ALL เป็นคนซื้อ ห้างค้าส่งอย่าง makro จะกลายเป็นสินค้าราคาถูกทันที เพราะ makro สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ในเครือ CP ได้อย่างมากมาย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.coFacebook: www.facebook.com/marketeeronline

