สำหรับคนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ตลอด 30 วันของเมษายนปีนี้ คงผ่านไปตามปกติ แต่กับชาวญี่ปุ่นถือเป็น 30 วันแห่งการอำลา หลังรัฐบาลประกาศแล้วว่า 1 พฤษภาคม เจ้าชายนารุฮิโตะ จะขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ของประเทศ พร้อมเริ่มยุคเรวะ ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิ อากิฮิโตะ ที่ทรงสละบัลลังก์และปิดฉากยุคเฮเซ

เฮเซ เรวะ

ช่วงส่งท้ายดังกล่าวทำให้ตลาดของย้อนยุคที่เชื่อมโยงกับยุคเฮเซที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 1989 ขยายตัว ขณะเดียวกันยังทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวคึกคัก เพราะ 1-10 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้เป็นวันหยุดยาว เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ของว่าที่จักรพรรดิองค์ใหม่

 

ธุรกิจย้อนอดีตและทุกอย่างที่เคยฮิตในยุคเฮเซกลับมาได้รับความสนใจ

นอกจากการหลงใหล การโหยหาอดีต ซึ่งแสดงออกมาผ่านทางความสามารถในการอนุรักษ์ของเก่าและโบราณสถานแล้ว ญี่ปุ่นยังมีส่วนทำให้จินตนาการเรื่อง Time Machine เป็นรู้จักของเด็กๆ ทั่วโลก

ผ่านการ์ตูนเรื่องดังอย่าง Doraemon โดยช่วงอำลายุคเฮเซ ตลาดของย้อนยุคไม่พลาดโอกาสทอง นำของเก่าตั้งแต่ปี 1989-2019  ออกมาให้คอของเก่า คนทั่วไปและเด็กยุคนี้ได้ชื่นชมกัน

เฮเซ กูลิโกะ

พิพิธภัณฑ์ของเล่นกูลิโกะ 

พิพิธภัณฑ์ที่เมืองโอซากาของ Glico แบรนด์ขนมดังที่ชาวไทยรู้จักกันในชื่อกูลิโกะ ได้นำของเล่นขนาดกะทัดรัดที่แถมมากับขนมตลอดยุคเฮเซออกมาจัดแสดงไปจนถึง 30 เมษายนนี้ โดยมีการขยายให้ใหญ่ขึ้น และเสริมด้วยรายละเอียดที่ดูได้ผ่านการสแกนด้วย Smartphone

เฮเซประกาศ

ด้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในกรุงโตเกียว ได้นำแบบจำลองใบประกาศยุคเฮเซ ที่เขียนด้วยตัวคันจิซึ่ง เคอิโซะ โอยบุชิ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 1989 ใช้ในการแถลงเริ่มยุคดังกล่าวมาจัดแสดง และผลิตของที่ระลึกออกมาจำหน่าย ซึ่งขายไปได้แล้วกว่า 25,000 ชิ้น

ส่วนเมืองเฮนาริ ซึ่งชื่อเมืองใช้ตัวคันจิเดียวกันกับคำว่าเฮเซ ได้นำเห็ดชิทาเกะ ของขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นออกมาขายเพื่อรับกระแสดังกล่าว ขณะที่สถานีรถไฟเฮเซ ได้เพิ่มพนักงานหลังพบจำนวนนักท่องเที่ยวที่อยากมาถ่ายรูปป้ายสถานีแล้วโพสต์ขึ้น Social Media ไว้เป็นที่ระลึก

ด้านสายการบินและภัตตาคารต่างๆ ก็เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวและลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นใน 10 วันแรกของเดือนพฤษภาคม ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดฉลองการครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ใหม่  

Tsunami

สึนามิปี 2011 

สำหรับสื่อญี่ปุ่นร่วมเกาะกระแสดังกล่าวเช่นกัน ด้วยการนำเสนอเรื่องราวของยุคเฮเซ โดยสำนักข่าวเกียวโดได้เผยผลการสำรวจความคิดเห็นผ่านกลุ่มตัวอย่างผู้อ่านราว 1,900 คน ซึ่งปรากฏว่าราว 70% ยังมองยุคเฮเซ ในทางที่ดี

และเห็นว่าเป็นช่วงที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้เป็นยุคที่เผชิญทั้งภัยธรรมชาติจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 และเหตุก่อการร้ายด้วยแก๊สพิษซารินในรถไฟใต้ดินจากฝีมือลัทธิโอม ชินริเกียว เมื่อปี 1995

เฮเซ Flipphone

ด้าน Website ข่าว Japantimes ได้ย้อนให้เห็นถึงพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เริ่มจาก Pager, โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกๆ ที่น้ำหนักมากแถมยังดูเทอะทะ

และโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพับได้ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่วัยรุ่น พร้อมระบุว่าบริษัทที่ได้อานิสงส์พัฒนาดังกล่าวคือ NTT Docomo ค่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน

 

พานั่ง Time Machine กลับไปยุคเฮเซ และส่องกล้องมองยุคเรวะ

ยุคเฮเซ เริ่มขึ้นเมื่อ 8 มกราคม 1989 หลังการสวรรคตของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พร้อมการสิ้นสุดยุคโชวะ โดยช่วงปีแรกๆ ของยุคเฮเซ ญี่ปุ่นทำให้ทั่วโลกต้องเหลียวมอง จากการที่ Sony ซื้อกิจการของบริษัทภาพยนตร์ Columbia Pictures

และ Mitsubishi Real Estate ทุ่มเงินก้อนใหญ่คว้ากลุ่มอาคาร Rockyfeller Center ในนครนิวยอร์กมาครอง แต่ในปี 1992 เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟองสบู่แตก จนเข้าสู่ภาวะซบเซาต่อเนื่องยาวนานอีก 20 ปี

ตลอดสองทศวรรษดังกล่าวเป็นเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกอย่างจีนและเกาหลีใต้เริ่มขยายตัว ผ่านการเป็นโรงงานโลกและแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำดับ

จนปรากฏชัดในปัจจุบัน ขณะที่ญี่ปุ่นก็เริ่มกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย จากการที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น  

เฮเซ เรวะ

(ซ้าย) เจ้าชายนารุฮิโตะ (ขวา) สมเด็จพระจักรพรรดิ อากิฮิโตะ

ส่วนยุคเรวะ ซึ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ 1 พฤษภาคมนี้ ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญความท้าทายมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการขาดแคลนวัยทำงาน จากอัตราการเกิดต่ำแต่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก

เฮเซ โตเกียว โอลิมปิค

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2020 จะคึกคัก ด้วยการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่ต่างจากการเปิดประเทศในช่วงเริ่มยุคเมจิ และการบุกสหรัฐฯ ช่วงเริ่มยุคเฮเซ/kyodo, nikkei, japantimes, bbc, wikipedia

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online