Digital Disruption อย่าปล่อยให้ธุรกิจถูกกลืน กรณีศึกษา ฟูจิฟิล์ม ถึงเวลา ต้องเลือก ต้องรอด ต้องรุ่ง !!!
หากอยากรู้ว่าแบรนด์มีจุดเริ่มต้นอย่างไรหรือจากธุรกิจอะไร อาจไม่ต้องไปค้นหาให้เสียเวลา เพราะเราจะพบคำตอบดังกล่าวได้จากชื่อแบรนด์นั่นเอง แต่ด้วยเหตุผลทางธุรกิจและ Trend ตลาดที่เปลี่ยนไปทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว จนชื่อที่ใช้ทำหน้าที่เพียงเพื่อสื่อถึงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เหมือน Fujifilm ที่ปัจจุบันมีธุรกิจในเครือมากมายและแทบไม่ได้พึ่งพาฟิล์มที่เป็นรายได้หลักในยุคแรกๆ
จุดเปลี่ยนดังกล่าวเกิดขึ้นต้นยุค 2000 ซึ่งกล้องฟิล์มเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว หลังถูกกล้อง Digital เข้ามาตีตลาด แล้ว Fujifilm รอดพ้น Digital Disruption ครั้งนั้นมาได้อย่างไร
Focus เรื่องฟิล์มที่ถนัดในยุคแรก
Fujifilm ถือเป็นผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพรายแรกของญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 1934 หลังรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดธุรกิจด้านนี้ขึ้นในประเทศ โดยช่วง 10 ปีแรกมุ่งมั่นทำตลาดเฉพาะฟิล์มและการถ่ายภาพ รวมไปถึงฟิล์ม X-Ray ทางการแพทย์ จนครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในประเทศ
ถัดมาระหว่างยุค 50 ถึง 60 เริ่มขยายกิจการไปต่างประเทศและรุกสู่ธุรกิจถ่ายเอกสารจับมือกับ Rank Xerox ของสหรัฐฯ ตั้งบริษัท Fuji Xerox (ปี 1962) ซึ่งถือเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศนี้ซึ่งมีประวัติยาวนานที่สุดด้วย
ยุค 80 เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้นทั้งด้วยการรุกตลาดต่างประเทศและเป็นหนึ่งใน Sponsor ของโอลิมปิค ในนคร Los Angeles ปี 1984 ซึ่ง Kodak มองข้ามไป
ขณะเดียวกันยังเจาะตลาดการถ่ายภาพในสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ด้วยการตั้งโรงงานและผลักดันกล้องถ่ายรูปที่ราคาถูกกว่าสู่ตลาด ตรงข้ามกับ Kodak ที่ยังล้มเหลวในการเจาะตลาดญี่ปุ่น
ท่ามกลางการตื่นตัวของผู้บริโภคยุค 80 ต่ออุปกรณ์ Digital ต่างๆ แบรนด์ในอุตสาหกรรมถ่ายภาพก็เริ่มก้าวสู่โลก Digital แล้วเช่นกัน แต่ยังจำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) เช่น การวินิจฉัยโรคด้วย Digital X-Ray ในโรงพยาบาล
โดยในส่วนของ Fujifilm ได้เปิดตัว Fujix DS-1P กล้อง Digital ในตลาด Consumer รุ่นแรกๆ ของโลก แต่ก็ด้วยยอดขายที่สูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 320,000 บาทตามค่าเงินปัจจุบัน) ยอดขายจึงยังไม่ดีนัก
พ้น Digital Disruption มาได้ด้วยการปรับ Focus ครั้งใหญ่
ฟิล์มและกล้องฟิล์มยังเป็นรายได้หลักของ Fujifilm มาอีกหลายปี โดย 2 ใน 3 ของกำไรปี 2001 ที่บริษัททำได้มาจากฟิล์ม แต่ในปี 2003 ความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกวงการที่ปัจจุบันเรียกกันติดปากว่า Disruption ก็มาโถมเข้าใส่อุตสาหกรรมการถ่ายภาพโดยเฉพาะกล้องฟิล์มอย่างรุนแรง
หลังกล้อง Digital ทวีความนิยม จนยอดขายฟิล์มลดลงถึง 1 ใน 3 และร้านล้างรูปหลายพันแห่งต้องปิดตัว ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อผลประกอบการและกำไรของบริษัท
ชิเกะทากะ คิโมริ CEO คนสำคัญของ Fujifilm
Fujifilm รับมือกับวิกฤตดังกล่าว ด้วยแผน “Vision 75” ซึ่งตั้งชื่อตามวาระครบรอบ 75 ปี โดย ชิเกะทากะ คิโมริ ประธานกรรมการบริษัทและประธานบริหาร (CEO) มั่นใจว่าจะช่วยให้บริษัทรอดพ้นวิกฤตมาได้และกลับมาเป็นบริษัทที่ยอดขายปีละ 2–3 ล้านล้านเยนได้อีกครั้ง
แผน Vision 75 เริ่มด้วยด้วยปิดธุรกิจที่ซ้ำซ้อน ปรับลดกำลังการผลิต และหันมาให้ความสำคัญกับกล้อง Digital ขณะเดียวกันก็ให้ฝ่ายวิจัยและพัฒนา พิจารณาว่าจะต่อยอดธุรกิจและทรัพยากรต่างๆ ที่มีไปในทิศทางใด
นอกจากนี้ ยังให้ฝ่ายซื้อและควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition–M&A) เดินหน้าซื้อกิจการบริษัทในธุรกิจที่สามารถนำ Technology ของ Fujifilm รวมเข้าไปเพื่อรุกตลาด
อีกไม่กี่ปีถัดมาผลประกอบการ Fujifilm ก็ดีขึ้นผ่านธุรกิจใหม่ๆ โดยปี 2007 Fujifilm เรียกเสียงฮือฮา รุกสู่ตลาดเครื่องสำอาง ด้วย ASTALIFT ครีมชะลอการเหี่ยวย่นของผิวที่ต่อยอดมาจากคอลลาเจนใช้รักษาสภาพฟิล์ม
ตามด้วยซื้อกิจการ Toyoma Chemicals บริษัทเคมีภัณฑ์ เพื่อรุกตลาดยาในปี 2008 และซื้อกิจการบริษัทเภสัชภัณฑ์รังสีเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการตลาดเวชภัณฑ์และการวินิจฉัยโรคด้วยงาน X-ray ขณะเดียวกันก็เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นใน Fuji Xerox
ความสำเร็จจาก Focus ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ฟิล์มอีกต่อไป
หลังพ้น Digital Disruption มาได้ Fujifilm ก็กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจในเครือมากมายและไม่จำกัดตัวเองอยู่เฉพาะฟิล์มและการถ่ายภาพอีกต่อไปแม้ยังมีฟิล์มติดในชื่อแบรนด์อยู่ก็ตาม ต่างจาก Kodak ที่ปรับตัวช้าและยึดติดจนต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายในปี 2012
ปี 2018 Fujifilm มีผลประกอบการอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านเยน (ราว 687,000 ล้านบาท) ซึ่งธุรกิจด้านเอกสาร เช่น ถ่ายเอกสาร และบริการซ่อมบำรุงต่างๆ จาก Fuji Xerox ทำเงินให้มากสุด คิดเป็นสัดส่วน 43%
ตามด้วยธุรกิจในส่วนของเวชภัณฑ์และอุปกรณ์วินิจฉัยโรค ตั้งแต่เครื่องสำอางไปถึงเครื่อง X-Ray ที่ครองสัดส่วนรายได้ 41% ขณะที่อุปกรณ์ถ่ายภาพครองสัดส่วนรายได้เพียง 16% ต่างจากปี 2000 ก่อน Digital Disruption ที่รายได้ในส่วนนี้ครองสัดส่วนมากถึง 60% / hbs, channelnewsasia, petapixel, fujifilmholdings
—
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ