ตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2561 ยังคงมีการแข่งขันอย่างดุเดือด พ่วงด้วยการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเซกเมนต์ระดับบนราคาสองหมื่นบาทขึ้นไป ทำให้ภาพรวมตลาดในเชิง ‘มูลค่า’ (Value) เติบโต 5%

ในทางกลับกัน มูลค่าที่เติบโตขึ้น สวนทางกับ ‘จำนวนเครื่อง’ (Unit) ที่ขายได้น้อยลง โดยปีที่ผ่านมาเหลือเพียง 1.7 ล้านเครื่อง เติบโตติดลบ 5% เนื่องจาก 50% ของตลาดคือ สมาร์ทโฟนช่วงราคา 5,000-10,000 บาท ซึ่งยอดขายในเซกเมนต์กลาง-ล่าง ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนปี 2562 ตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม เพราะ 2 ปัจจัยหลักคือ (1) การเลือกตั้ง กระตุ้นกำลังซื้อและดีมานด์ของผู้บริโภค และ (2) แบรนด์ต่างๆ เริ่มเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ในเดือนมีนาคมและช่วงเริ่มไตรมาส 2/62

จึงเป็นจังหวะดีที่ธุรกิจค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่าง ‘เจมาร์ท’ บุกทำตลาด ณ ช่วงเวลานี้

วิรุฬห์ชาตะพันธ์_Jaymart

โดย นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 9,500 ล้านบาท ส่วนปี 2562 ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะทุ่มงบประมาณการตลาดเฉลี่ยไตรมาสละ 15 ล้านบาท สำหรับ ‘กลยุทธ์’ การตลาด ดังนี้

 

ฉลอง 30 ปี ประเดิมแคมเปญใหญ่ รับไตรมาส 2

ปี 2562 ถือเป็นปีที่ 30 ของเจมาร์ท ดังนั้นบริษัทจึงจัดแคมเปญ “เจมาร์ท จัดเต็ม ดูแลเครื่อง ดูแลคุณ ลุ้นโชคใหญ่” เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกสมาร์ทโฟน

ไฮไลต์สำคัญคือ การรับประกันความพึงพอใจเปลี่ยนเครื่องได้ใน 30 วัน โดยนราธิปอธิบายว่า pain point ของลูกค้าคือ เวลาเล่นเครื่องทดลองที่ร้านกับซื้อไปใช้จริงให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน ดังนั้น บริษัทจึงเก็บข้อมูลด้วยการใช้ Social Listening ให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนเครื่องได้โดยเพิ่มระยะเวลาจากเดิมเพียง 7 วัน เป็น 30 วัน หรือลูกค้ามีความไม่พอใจกับเครื่องที่เพิ่งซื้อไปหรือเปลี่ยนใจต้องการใช้รุ่นใหม่ก็สามารถเปลี่ยนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด

นราธิปเสริมว่า หลังจากที่ลูกค้ามาเปลี่ยนเครื่องใหม่แล้ว เครื่องเก่าจะถูกนำไปจัดการโดย Third Party และจะไม่มีการนำเครื่องไปรีเฟอร์ขายใหม่

แต่จากที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการนี้เป็นกลุ่มที่ซื้อสมาร์ทโฟนในช่วงราคา 5,000-10,000 บาทเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีประกันอุบัติเหตุทั้งเครื่องโทรศัพท์และตัวบุคคล, ลุ้นโชคทอง 30 บาท, รับคะแนน Enjoy Card 30 เท่าในทุกวันที่ 30 และแจก 30 เหรียญ JFIN โดยมีระยะเวลาแคมเปญตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ถึง 9 กรกฎาคม 2562

โดยแคมเปญนี้ยังได้จับมือกับพันธมิตรแบรนด์โทรศัพท์มือถือ อาทิ iPhone, Samsung, Huawei, Oppo, Vivo และ Wiko รวมถึงการทำแคมเปญ Exclusive ร่วมกับ AIS

หลังจากปล่อยแคมเปญนี้ นราธิปคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีรายได้เติบโต 25% ในช่วงไตรมาส 2/62 เทียบกับไตรมาส 2/61 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท

 

ทิศทางใหม่ = Gadget-Accessories Destination

นราธิปให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเจมาร์ทมีจำนวนสาขาประมาณ 200 สาขา แต่บริษัทยังไม่เน้นเรื่องการขยายสาขา เนื่องจากหากมีสาขาเพิ่มขึ้นจะมีต้นทุนที่บริษัทต้องแบกรับมากขึ้น แต่หากมีการขยายจะต้องเป็นสาขาที่เป็นพรีเมียมโลเคชั่น หรือพื้นที่ที่คนมีกำลังซื้อสูง

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่บริษัทจะนำมาใช้ในปีนี้คือ ทำให้ยอดขายสาขาที่มีอยู่เติบโตกว่าเดิม โดยนราธิปมองว่าจะปรับร้านให้เน้น ‘แอคเซสเซอรี’ มากขึ้น เพิ่ม Line up อุปกรณ์เสริม ตลอดจนรีโนเวต-ปรับปรุงหน้าร้านถึง 50 สาขา ใช้งบเฉลี่ยสาขาละ 1 ล้านบาท

“เราตั้งใจให้เป็น Desination ของ Gadget มากขึ้น” นราธิปกล่าว

 

ลงพื้นที่ ‘ขายตรง’ ทำได้แล้ว 10 ล้าน

นราธิปกล่าวอีกว่า บริษัทยังมีบางพื้นที่บางจังหวัดที่ไม่สามารถใช้ ‘หน้าร้าน’ ในการเข้าถึงลูกค้าได้

“ต้องยอมรับว่าบางพื้นที่เราอ่อนแอ” นราธิปเสริม

เพื่อเป็นการแก้เกม บริษัทจึงเลือกใช้กลยุทธ์ Direct Sale หรือขายตรง เน้นพื้นที่ตลาด-ชุมชน ปัจจุบันมีรายได้ในกลุ่มขายตรงเฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ กลยุทธ์นี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากธุรกิจในเครืออย่าง “JMT”

 

ใช้ประโยชน์จากธุรกิจในเครือ

ที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จจากการใช้กลยุทธ์ Synergy ที่เป็นการผสานจุดแข็งทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ ในกลุ่มเข้าด้วยกัน รวมถึงแคมเปญฉลอง 30 ปีครั้งนี้ ที่ได้เป็นการรวมพลังกันระหว่างบริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด จึงทำให้เจมาร์ทสามารถสร้างความแตกต่างของข้อเสนอเพียงหนึ่งเดียวให้กับลูกค้าได้”

“ข้อเสนอที่แตกต่างจากคู่แข่ง คิดว่าไม่มีใครทำได้ในตอนนี้ แต่เราใช้ประโยชน์จากบริษัทในเครือเลยสามารถทำได้” นราธิปทิ้งท้าย


Marketeer FYI

Jaymart ไม่ได้ขายแค่มือถือ: รู้จัก 7 ธุรกิจในเครือ JMART

(1) Jaymart Mobile

ประเภทธุรกิจ: ค้าปลีก-ค้าส่งโทรศัพท์ และอุปกรณ์ไอที

(2) JMT Network Services

ประเภทธุรกิจ: ติดตามหนี้ด้อยคุณภาพ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต เช่าซื้อ และค่าสาธารณูปโภค

(3) Jas Asset

ประเภทธุรกิจ: บริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า ในรูปแบบศูนย์จำหน่ายโทรศัพท์และอุปกรณ์มือถือภายใต้ชื่อ “IT Junction” และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ชื่อ The Jas และ J. Market

(4) Singer

ประเภทธุรกิจ: ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหมายการค้า “ซิงเกอร์” เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฯลฯ ตลอดจนสินค้าเชิงพาณิชย์ เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร ตู่เติมเงินออนไลน์ ตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ ฯลฯ

(5) J Fintech

ประเภทธุรกิจ:  บริหารสินเชื่อ และธุรกิจการเงิน รองรับการขยายตัวของธุรกิจในเครือ

(6) J Ventures

ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ และลงทุนใน Startup รวมถึงเปิดระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญดิจิทัลหรือ Initial Coin Offering (ICO) ภายใต้ชื่อ J Fin Coin

(7) J Insurance Broker

ประเภทธุรกิจ: โบรกเกอร์จำหน่ายประกันภัยและสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล


ตลาดสมาร์ทโฟน จะไปทางไหน ?

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online