ตลาดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ 2562 เจาะลึกสถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน (Day Care) โอกาสที่ไม่ควรมองข้าม โดย ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล

ไทยเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้เป็นทั้งปัญหาและโอกาสทางธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน ประเทศที่ผู้สูงอายุเยอะถ้าไม่สามารถดึงดูดต่างชาติที่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน หรือไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงเพียงพอ จะกลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ จะได้รับผลกระทบทางลบ เมื่อคนเกิดใหม่น้อยลง เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง ความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานตามที่ทำงานก็จะน้อยลงไปด้วย

อีกทั้งผู้สูงอายุที่พอมีกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์จะมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยหลังแรกในสังคมผู้สูงวัยจะมีขนาดตลาดที่เล็ก

แต่ถ้าเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตสูง ตลาดคนชั้นกลางที่ปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น หรือตลาดบ้านหลังที่ 2 ที่มีมูลค่าสูงกว่าบ้านหลังแรกจะยังช่วยให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตได้ แต่ถ้าดูจากโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว ดูแนวโน้มว่าเราจะเป็นประเทศที่ประชาชนเข้าสู่ภาวะสูงวัยแบบจนๆ สิ่งที่พอจะหวังได้ก็เห็นจะเป็นตลาดด้านการท่องเที่ยว และการเข้ามาซื้อเพื่อการอยู่อาศัยและลงทุนของชาวต่างประเทศในการผลักดันให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมีการเติบโต

การตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติดูจะเป็นตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ แล้วรายเล็กรายกลางจะทำอะไรดี ดูเหมือนตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผู้ประกอบการหลายรายในประเทศไทยให้ความสนใจ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุมีอยู่หลายประเภท ตั้งแต่หมู่บ้านหรืออาคารชุดที่เน้นกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ จนถึงศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะสุดท้ายที่ต้องการมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยประเภทหลังนี้ดูจะใกล้เคียงกับธุรกิจโรงพยาบาลมากกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

แต่ถ้าถามผมว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุควรเริ่มต้นที่ตลาดไหนก่อน ถ้าเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ที่สนใจโดยไม่ได้มีความเชี่ยวชาญการด้านการแพทย์ คิดว่าการเริ่มต้นจากสถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวันดูจะเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่น่าสนใจ

สถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน (Day Care) คืออะไร?

สถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน (Day Care) เป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่รับฝากผู้สูงอายุไว้ดูแลในช่วงกลางวันที่ลูกหลานออกไปทำงานแล้วไม่ต้องการให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านลำพัง อาจเป็นเพราะผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม ที่หากไม่มีคนอยู่ดูแลอาจเดินหลงออกไปนอกบ้านแล้วกลับบ้านไม่ถูกหรือเปิดแก๊สทิ้งไว้ หรือบุตรหลานกลัวว่าผู้สูงอายุอาจจะเหงาจึงต้องการให้อยู่ที่ศูนย์ดูแลจะได้มีเพื่อนในการพูดคุยและทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการดูแลเรื่องอาหารและการเตือนเรื่องการรับประทานยา

สถานดูแลผู้สูงอายุแบบ Day Care นั้น ดำเนินการไม่ยากเนื่องจากไม่ต้องมีที่พักค้างคืน และผู้ใช้บริการเป็นผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ในการเป็นผู้ให้บริการ

แต่เมื่อพูดถึงสถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวันมักจะมีคำถามตามมาว่า ทำแล้วคุ้มไหม ผู้สูงอายุจะยอมจ่ายไหม ลองมาดูกันดีกว่าครับว่ารูปแบบในการทำธุรกิจและหารายได้หรือที่เรียกว่า Business Model ของธุรกิจนี้มีอะไรบ้าง

ตลาดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

Business Model สถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน

รูปแบบการดำเนินธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะช่วงกลางวัน เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ลงทุนพอจะมีรูปแบบการดำเนินงานที่เห็นกันอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศดังนี้

รูปแบบที่ 1 รูปแบบการดำเนินการแบบ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์กรการกุศล หรือ องค์กรธุรกิจ รูปแบบนี้ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศใช้กันอยู่ โดยภาครัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการเอง หรืออาจให้เงินสนับสนุนเป็นรายหัวต่อเดือนกับผู้ประกอบการ องค์กรไม่มุ่งหวังกำไร เช่น มูลนิธิในต่างประเทศหลายแห่งก็เข้ามาเป็นผู้ดำเนินธุรกิจนี้ รายได้หลักของการให้บริการมาจากเงินกองทุนของรัฐ เงินประกัน ที่ผู้สูงอายุโดนหักไว้ตอนทำงาน โดยผู้ใช้บริการอาจต้องร่วมจ่ายบางส่วน หรือจ่ายสำหรับค่าบริการพิเศษ ส่วนเพิ่ม ในญี่ปุ่นจะใช้การดำเนินการในรูปแบบนี้เยอะมาก โดยเอกชนผู้ดำเนินการจะได้เงินสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในประเทศไทยก็มีการให้บริการในรูปแบบดังกล่าว เช่น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี โดยค่าธรรมเนียมแรกเข้า (เมื่อสมัครสมาชิกใหม่) ในเขตเทศบาล 100 บาท นอกเขตเทศบาล 200 บาท และยังมีค่าสมาชิกรายปี ในเขตเทศบาล-สมาชิกสามัญ 300 บาท-สมาชิกวิสามัญ 500 บาท นอกเขตเทศบาล-สมาชิกสามัญ 600 บาท-สมาชิกวิสามัญ 800 บาท

ในเขตจังหวัดปทุมธานี เทศบาลเมืองบึงยี่โถก็มีการเปิดศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยใช้สโมสรของหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ มาปรับปรุง โดยเปิด 3 แห่ง ศูนย์หมู่บ้านสถาพร ศูนย์บ้านฟ้ารังสิต และศูนย์หมู่บ้านปิยวรารมย์ โดยเก็บค่าแรกเข้า 100-200 บาท และค่าสมาชิกรายปี 200-800 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทสมาชิก และยังเก็บค่าบริการเสริม รายครั้ง สำหรับบริการพิเศษ เช่น ห้องอบซาวน่า นวดแผนไทย สระว่ายน้ำ

รูปแบบที่ 2 รูปแบบการดำเนินการแบบรายได้จากค่าสมาชิกโดยผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่ายทั้งหมด รูปแบบนี้จะคล้ายกับการเป็นสมาชิก Fitness ที่เก็บค่าบริการต่อปี  และหรือรายครั้งค่อนข้างสูง แต่ก็ได้รับบริการและบรรยากาศที่ดีกว่า รูปแบบนี้นิยมเรียกว่า Wellness Center

ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลเอกชน เช่น BDMS Wellness Clinic ของกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ ที่ได้เข้าซื้อโรงแรมปาร์คนายเลิศถนนวิทยุ มูลค่ากว่า 1.28 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 15 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจร ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอกมีสถาบันสุขภาพและความงาม ตรัยญา บริเวณถนนพระรามเก้า

ที่ยกตัวอย่างดูจะเป็น Wellness Center ในตลาดบน แต่ในระดับคนชั้นกลาง ก็ดูเหมือนจะมีช่องว่างทางการตลาดของการให้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้จากค่าสมาชิกอยู่เช่นกัน และผมคิดว่าตลาดนี้ในอนาคตน่าจะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กระแสความนิยมใช้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเฉพาะช่วงกลางวันมีการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้อยู่มาก ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ผมเคยคุยด้วย เขามองว่ากฎหมายปัจจุบันในการพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่ระบุให้มีโรงเรียนอนุบาลนั้นดูไม่สอดคล้องกับปริมาณเด็กที่ลดน้อยลงในสังคมไทยถ้ามีการแก้กฎหมายจัดสรรที่ดินและเปลี่ยนพื้นที่ที่ระบุให้เป็นโรงเรียนให้กลายมาเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้านจัดสรรที่มุ่งจับลูกค้าระดับรายได้ปานกลางมีการเติบโตขึ้น

บริการและบริการเสริมในธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน

สำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเนื่องจากราคาค่าบริการค่อนข้างต่ำ บริการส่วนใหญ่จึงมักออกมาในรูปของการนำกลุ่มกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุ เช่น การบรรยาย การสอนโยคะ โดยบริการเสริมอื่นๆ ก็สุดแล้วแต่ความอำนวยของสถานที่ เช่น หากพื้นที่มีสระว่ายน้ำ ก็จะเก็บค่าบริการใช้สระว่ายน้ำเพิ่ม โดยมีกิจกรรมสอนออกกำลังกายในน้ำเพิ่มเติมให้

แต่ที่ผมเห็นในต่างประเทศนั้นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวันในประเทศญี่ปุ่น มีบริการและบริการเสริมที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยบริการที่น่าสนใจและน่าจะนำมาปรับใช้ในบ้านเรา ได้แก่ บริการอาหาร เนื่องจากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสุขภาพที่ต้องการควบคุมปริมาณเกลือ น้ำตาล หรือไขมันในอาหาร การรับประทานอาหารร่วมกับสมาชิกในครอบครัวที่ต่างวัยเกิดความยุ่งยากในการจัดเตรียมอาหาร ในประเทศญี่ปุ่นผู้สูงอายุจะเข้ามาใช้บริการอาหารบางมื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อกลางวันที่ศูนย์ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย แต่ในบางที่ลูกค้าระดับบนและไม่ได้พึ่งพาเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าอาหารเองโดยคุณภาพของอาหารย่อมดีกว่าศูนย์ที่รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และผมคิดว่าศูนย์บริการผู้สูงอายุในประเทศไทยที่จับลูกค้าระดับกลางขึ้นไปและให้ลูกค้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง บริการด้านอาหารหรือน่าจะเป็นรายการที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี และน่าจะเป็นส่วนที่ลูกค้าและครอบครัวยอมจ่ายได้มากกว่าค่าบริการพื้นฐาน

  • บริการรถรับส่ง จากบ้านมาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งบริการที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ที่ญี่ปุ่นศูนย์ฯ จะมีรถของตัวเองคล้ายรถโรงเรียนที่ตระเวนรับผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกจากบ้านมาที่ศูนย์ฯ และส่งกลับในช่วงเย็น เพื่อทำให้ผู้สูงอายุมีความสะดวกในการเดินทาง ผมคิดว่าตรงนี้แหละครับที่บ้านเรายังขาดอยู่
  • บริการด้านเสริมความงาม และบริการทางการแพทย์ เช่นการทำผม การให้บริการทันตกรรม บริการตรวจสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมีผู้สูงอายุเข้ามาอยู่ในช่วงกลางวันจำนวนมากบางศูนย์ฯ จึงมีห้องทำผม บริการทันตกรรม โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีรอบเวลาให้ผู้ให้บริการเข้ามาโดยผู้สูงอายุสามารถทำการจองเวลาเพื่อใช้บริการได้ล่วงหน้า โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มในการใช้บริการ
  • บริการที่พักค้างคืน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวันบางแห่งในประเทศญี่ปุ่น จะมีบริการที่พักค้างคืนสำหรับผู้สูงอายุโดยมีจำนวนเตียงที่จำกัดหรือไม่มากนัก สำหรับให้บริการผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลในช่วงที่ลูกหลานไม่อยู่ช่วงเวลาสั้นๆ เช่นไปพักผ่อนต่างจังหวัด 2-3 วัน ทางศูนย์จะรับฝากผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกไว้เป็นการชั่วคราว โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยดูแล ศูนย์บางแห่งเมื่อสมาชิกอายุมากขึ้น มีปัญหาสุขภาพมากขึ้นและขาดคนดูแล ทางศูนย์ก็จะเริ่มขยายบริการข้ามมาเปิดเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบ Nursing Home เพื่อให้บริการสมาชิก

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะทำศูนย์บริการผู้สูงอายุแบบครบวงจร เพราะการเริ่มต้นเปิดศูนย์เฉพาะกลางวัน ทำได้ไม่ยากใช้งบลงทุนไม่มาก สามารถรับผู้สูงอายุได้ในปริมาณมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ การขยายสาขาก็ทำได้รวดเร็ว และเมื่อทำธุรกิจลักษณะนี้มาระยะเวลาหนึ่งผู้สูงอายุอายุมากขึ้น ต้องการการบริการหรือการดูแลที่มากขึ้น คนเหล่านี้ก็จะพัฒนาต่อกลายมาเป็นลูกค้าสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในระดับที่ต้องการบริการมากขึ้นในที่สุด

การให้บริการผู้สูงอายุจำเป็นต้องอาศัยความไว้วางใจ และการบอกต่อของลูกค้า การเริ่มต้นจากการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะกลางวัน จึงเป็นการสร้างฐานลูกค้า สร้างแบรนด์ สร้างความเข้าใจในพฤติกรรมและความต้องการของผู้สูงอายุ และสร้างความไว้วางใจที่ดี นี่อาจเป็นห้องทดลองที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online