แกรมมี่ รายได้ เท่าไร ? ทำไมปีนี้ถึงเป็นปีแรกที่ แกรมมี่ ได้เห็นกำไร !!!

นับตั้งแต่ แกรมมี่ ไล่ล่าความฝันของตัวเองในการที่จะมีทีวีดิจิทัลสักช่อง รวมไปถึงธุรกิจทีวีดาวเทียม 

ผลลัพธ์ที่ได้คือการขาดทุน 6 ปีติดต่อกันคือปี 2012-2017

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนในปีที่ “แกรมมี่” ขาดทุนหนักที่สุด

คือปี 2014 มีรายได้ 10,268 ล้านบาท ขาดทุนถึง 2,314 ล้านบาท

แต่ล่าสุดในปี 2018 แกรมมี่เพิ่งได้ลิ้มรสชาติกำไรในการทำธุรกิจครั้งแรกในรอบ 7 ปี 

ด้วยรายได้ 6,984 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท

กำไรของแกรมมี่กำลังบอกอะไรกับเรา? 

หากลองไล่เลียงรายได้ของแกรมมี่ตั้งแต่ปี 2012-2017 นั้นในภาพรวมลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขภาพรวมที่ขาดทุนน้อยลงในทุกๆ ปี จนมาถึงปี 2018 ที่มีกำไร 

สะท้อนให้เห็นคำตอบว่า แกรมมี่ทั้งขายธุรกิจและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 

อันดับแรกที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือการลดจำนวนพนักงาน จากในปี 2013 มีพนักงาน 3,584 คน ปี 2018 เหลือพนักงาน 1,838 คน 

หนึ่งในเหตุผลที่จำนวนพนักงานน้อยลง ก็คือการทยอยขายกิจการและเลิกธุรกิจที่แกรมมี่มองว่าไม่สามารถจะทำกำไรได้ในอนาคต

ทั้งการเลิกธุรกิจเพย์ทีวี GMMZ ที่ขาดทุนมหาศาล, การขายธุรกิจสิ่งพิมพ์มูลค่า 45 ล้านบาทให้กับบริษัท ซีทรู จำกัด, ขายหุ้นบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำนวน 49.55 ล้านหุ้น เป็นเงิน 297 ล้านบาท เป็นต้น

การขายธุรกิจและขายหุ้นนอกจากลดจำนวนพนักงานแล้วนั้น แกรมมี่ยังได้กระแสเงินสดมาหมุนเวียนในธุรกิจ

แต่…เท่านั้นดูจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูแกรมมี่ให้กลับมามีกำไร
เลยต้องกลับมาดูว่าในโครงสร้างบริษัทนั้น ธุรกิจไหนที่ทำให้ขาดทุนมากที่สุด

คำตอบคือ 2 ช่องทีวีดิจิทัล และแกรมมี่ก็เลือกจะใช้วิธีลดอาการบาดเจ็บของตัวเองด้วยวิธีการขายหุ้น

ช่อง ONE ได้มีการขายหุ้นให้กลุ่มปราสาททองโอสถ มูลค่า 1,900 ล้านบาท จนแกรมมี่เหลือหุ้นในมือ 25% จากเดิม 51% 

ช่อง GMM 25 ขายหุ้นให้ บริษัท อเดลฟอส จำกัด บริษัทในเครือของเสี่ยเจริญ มูลค่า 1,000 ล้านบาท และทำให้บริษัท อเดลฟอส จำกัด ถือหุ้น 50%

จากนั้นแกรมมี่ก็เลือกจะให้ 2 บริษัทนี้อยู่ในสถานะเป็นการร่วมค้า ที่ไม่ใช่ธุรกิจที่แกรมมี่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เหมือนอย่างในอดีต

ไม่แปลกที่ผลประกอบการล่าสุดของแกรมมี่ เราเลยไม่เห็นรายได้ของ 2 ช่องทีวีดิจิทัล 

แถมยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แกรมมี่มีกำไรครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพราะในอดีต “แกรมมี่” ต้องแบกรับต้นทุนทุกอย่างของ 2 ช่องทีวีดิจิทัล 

แต่เวลานี้เกมเปลี่ยน คือมี 2 บริษัทมาแบ่งเบาภาระในการลงทุนทีวีดิจิทัล แต่แลกกับการที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเต็มตัวเหมือนในอดีต

ทำให้ในปี 2561 แกรมมี่มีส่วนแบ่งขาดทุนจากการร่วมค้าในธุรกิจทีวีดิจิทัล 150 ล้านบาท จากในอดีตที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นเคยขาดทุนแตะ 1,000 ล้านบาท 

จากนั้นก็กลับมาจริงจังในธุรกิจดั้งเดิมของตัวเอง นั่นคือ ธุรกิจเพลง

ที่มุ่งสู่ตัวโน้ตออนไลน์เต็มตัว ด้วยการนำบทเพลงของศิลปินในค่ายไปอยู่ทั้งใน YouTube, iTunes, JOOX, Line TV หรือ Spotify เพื่อให้แฟนเพลงสามารถเลือกฟังเพลงออนไลน์แบบทันทีจากเพลย์ลิสต์ 

ทำให้ แกรมมี่ รายได้ ในส่วนธุรกิจเพลงเติบโตทุกส่วน 

รายได้เพลงจากบริษัทย่อยทั้งหมดในปี 2017 คือ 1,354 ล้านบาท ปี 2018 รายได้ 1,772 ล้านบาท

รายได้ในส่วนจัดคอนเสิร์ต Show Biz ปี 2017 คือ 1,608 ล้านบาท ปี 2018 รายได้ 1,965 ล้านบาท

ต่อมาคือธุรกิจ TV Home Shopping ที่แกรมมี่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจไม่น้อย

จากในปี 2017 รายได้ 1,940 ล้านบาท ในปี 2018 รายได้ 2,305 ล้านบาท

แล้วเราได้เรียนรู้อะไรกับการมีกำไรครั้งแรกในรอบ 7 ปีของแกรมมี่?

นั่นคือการรู้ว่าหากธุรกิจใดที่มีการแข่งขันสูง อย่างเช่นทีวีดิจิทัลที่มีถึง 25 ช่อง แถมยังต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมที่มีทางเลือกมากมายโดยเฉพาะสารพัดช่องทางออนไลน์

การจะเดินอย่างเดียวดายและแบกรับต้นทุนธุรกิจที่หนักหน่วงอยู่คนเดียว หากปล่อยไว้นานวันก็จะกลายเป็นบาดแผลธุรกิจเรื้อรัง 

ทางออกคือการหาพันธมิตรที่เงินทุนหนามาแบ่งเบาภาระ

จากนั้นก็กลับไปโฟกัสธุรกิจหลักที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญมานาน 35 ปี อย่างธุรกิจเพลงและธุรกิจอื่นๆ ที่คิดว่าสามารถ “ตีบวก” เพิ่มรายได้และกำไร

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online