ซิงเกอร์ แบรนด์ราชาเงินผ่อน กับสถานการณ์หลัง เจมาร์ท เข้ามาถือหุ้น

หลังจากที่ บมจ.เจมาร์ทเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างบริษัท ทีมผู้บริหาร และทิศทางดำเนินธุรกิจ

เจมาร์ทเข้ามาถือหุ้นในช่วงมิถุนายน 2558 โดยในปี 2558 และ 2559 ซิงเกอร์ยังมีผลกำไร ในระดับ 100 ล้านบาท ก่อนที่จะเริ่มขาดทุนในปี 2560 และ 2561 เป็นการขาดทุน 2 ปีซ้อน

—————-

ซิงเกอร์ขาดทุน 2 ปีซ้อน หลังเจมาร์ทเข้ามาถือหุ้น

2554       2,963.35 ล้านบาท กำไร  226.45 ล้านบาท

2555       3,101.04 ล้านบาท กำไร  158.68 ล้านบาท

2556       3,062.93 ล้านบาท กำไร  152.35 ล้านบาท

2557       3,548.93 ล้านบาท กำไร  241.43 ล้านบาท

2558       3,394.56 ล้านบาท กำไร  143.15 ล้านบาท

2559       2,545.63 ล้านบาท กำไร  119.81 ล้านบาท

2560       2,363.41 ล้านบาท ขาดทุน  9.76 ล้านบาท

2561       2,888.02 ล้านบาท ขาดทุน  80.77 ล้านบาท

—————-

สิ่งที่ทำให้ซิงเกอร์ขาดทุนมาจาก

1. หนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญจากธุรกิจสินเชื่อ

ที่ผ่านมาลูกค้าซิงเกอร์ 95% เป็นคนต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ธุรกิจสินเชื่อของซิงเกอร์ประสบปัญหาจากลูกหนี้บัญชีเก่ายังคงไม่มีความสามารถในการชำระเงินค่างวด จากสินค้าเช่าซื้อและสินเชื่อที่กู้ยืมไปแล้ว

ทำให้ในปีที่ผ่านมาซิงเกอร์มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญมากถึง 446,218,258 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มจากปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ซิงเกอร์ยังมีกำไร โดยในปี 2559 มีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญทั้งสิ้น 183,552,937 บาท

—————————–

ซิงเกอร์มีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเท่าไร

2558       100,127,081 บาท

2559       183,552,937 บาท

2560       372,237,521 บาท

2561       446,218,258 ล้านบาท

——————–

2. การปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดความสำคัญราชาเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า

หลังจากที่เจมาร์ทเข้ามาถือหุ้นซิงเกอร์ในประเทศไทยได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และกลุ่มเป้าหมายหลักของซิงเกอร์ได้รับผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจนี้ และเกิดปัญหาไม่มีเงินมาผ่อนสินค้า และการที่ลูกค้าเงินผ่อนไม่มีสภาพคล่องในการผ่อน ทำให้ซิงเกอร์อาจจะประสบปัญหาหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากได้

ซิงเกอร์จึงได้ปรับเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่เน้นไปยังสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในรูปแบบเช่าซื้อซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่มีความเสี่ยงสูงเพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสู้สินเชื่ออื่นๆ ที่จะช่วยให้ซิงเกอร์มีรายได้เข้ามาในธุรกิจอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว

เช่น แบรนด์รถทำเงิน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ 4 ล้อ-18 ล้อที่มีดอกเบี้ยที่ต่ำ และมีอัตราความเสี่ยงที่ต่ำ เพราะอย่างน้อยซิงเกอร์ยังมีทะเบียนรถเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน และได้รายได้จากการผ่อนในระยะยาว

ซึ่งการปรับโครงสร้างสู่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ทำให้ซิงเกอร์ต้องใช้เงินทุนในการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้น เพราะลูกค้าที่นำทะเบียนรถมาจำนำส่วนใหญ่มีความต้องการเงินก้อนที่จะไปใช้จ่ายในด้านต่างๆ และผู้ที่จะขอสินเชื่อจำนำทะเบียนรถสามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 75% ของมูลค่าประเมินรถ ซึ่งการอนุมัติวงเงินสูง ทำให้ซิงเกอร์มีต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,133,466,769 บาท จาก 881,526,353 บาทในปี 2560

ทั้งนี้ แม้ซิงเกอร์จะประสบกับสภาวะขาดทุนแต่ถ้ามาดูด้านรายได้ ซิงเกอร์กลับมีรายได้เติบโต 22.2% จาก 2,363.4 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 2,888 ล้านบาทในปี 2561

ข้อมูลและภาพจากรายงานประจำปี บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย

การเติบโตด้านรายได้ของซิงเกอร์มาจากรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับเอนด์ยูสเซอร์ ได้แก่ จักรเย็บผ้า ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้แก่ ตู้แช่เป็นหลัก

ส่วนรายได้จากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและรายได้จากสินค้าฝากขาย เป็นรายได้ที่มีสัดส่วนที่ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายได้ของซิงเกอร์ทั้งหมด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้บริหารซิงเกอร์เชื่อว่า ซิงเกอร์ในปีที่ผ่านมาเข้าสู่ภาวะต่ำสุดก่อนที่จะดีดตัวขึ้นไปอย่างสวยงามในอนาคต จากฐานธุรกิจต่างๆ ที่ได้วางเอาไว้

ซึ่งอนาคตจะเป็นเช่นไร คงต้องดูกันต่อไป

 

Marketeer FYI 1

ซิงเกอร์มาจากไหน

ในปีนี้ซิงเกอร์ มีอายุครบ 130 ปีในประเทศไทย

ด้วยชีวิตอันยืนยาวในประเทศไทย ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ซิงเกอร์เป็นแบรนด์ไทย

แต่ความจริงแล้วซิงเกอร์เป็นแบรนด์จากประเทศอเมริกา มีต้นกำเนิดจาก ไอแซค เมอร์ริทท์ ซิงเกอร์ ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ให้กำเนิดจักรเย็บผ้ารายแรกของโลก

โดยไอแซค เมอร์ริทท์ ซิงเกอร์ ได้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้าต้นแบบครั้งแรกในปี 2394 หรือ 168 ปีที่ผ่านมา จักรเย็บผ้าต้นแบบของเขาใช้งบลงทุนประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐ  และใช้เวลาในการประดิษฐ์จักรเย็บผ้าต้นแบบเพียง 11 วัน

หลังจากที่จักรเย็บผ้าต้นแบบได้ถือกำเนิดขึ้น จากนั้นอีก 2 ปี ไอแซค เมอร์ริทท์ ซิงเกอร์ ได้นำจักรเย็บผ้าซิงเกอร์ออกจำหน่ายในรูปแบบคอมเมอร์เชียล ในราคาคันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพเมื่อ 160 กว่าปีก่อน แต่ก็เป็นสินค้าที่ได้รับการตอบรับอย่างดี จนจักรเย็บผ้าของซิงเกอร์ได้ขยายธุรกิจไปยังทั่วโลก

ส่วนในประเทศไทย จักรเย็บผ้าซิงเกอร์เข้ามาทำธุรกิจในประเทศครั้งแรกอย่างจริงจัง ผ่านบริษัทเคียม ฮั่ว เฮง ซึ่งเป็นบริษัทที่ซิงเกอร์แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายจักรเย็บผ้าซิงเกอร์ในประเทศไทย ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อซิงเกอร์ประเทศไทย ในปี 2512 และเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนในปี 2537

และซิงเกอร์ได้นำธุรกิจเงินผ่อนมาใช้ครั้งแรกในปี 2468 หรือ 36 ปีหลังจากที่ซิงเกอร์เข้ามาทำธุรกิจในไทย และซิงเกอร์ก็ได้โมเดลราชาเงินผ่อนที่เข้าไปถึงใจและถึงเงินในกระเป๋าผู้บริโภคชาวไทยตั้งแต่นั้นมากขึ้น

จนซิงเกอร์ได้ชื่อว่าเป็นราชาเงินผ่อนรายแรกของไทย

และบริการเงินผ่อนนี้เอง คือซิกเนเจอร์การตลาดที่สำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงและการเติบโตให้กับซิงเกอร์เสมอมา

 

Marketeer FYI 2

ทำไมเจมาร์ทถึงมาบริหารซิงเกอร์

ในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ถือเป็นวันการเปลี่ยนมือทีมบริหาร และโครงสร้างทีมผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ หลังจากที่ เจมาร์ทเข้ามาถือหุ้นในซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) แทน SINGER (Thailand) B.V. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดิม  

โดย SINGER (Thailand) B.V มีอยู่ทั้งหมด 40% ใน บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย แบ่งขายให้กับ บมจ.เจมาร์ท 25% (24.99)

กลุ่มบริษัทสหพัฒน์ 7% และผู้ถือหุ้นรายอื่นอีก 8%

เจมาร์ทได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24.99% พร้อมสิทธิ์และเสียงในการบริหารธุรกิจ บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย แทน SINGER (Thailand) B.V ผู้ถือหุ้นรายเก่า

ข้อมูลและภาพจาก บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย

Marketeer FYI 3

อาณาจักรซิงเกอร์ใหญ่แค่ไหน

กลุ่ม ซิงเกอร์ประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัทลูก 3 บริษัท และบริษัทย่อยอีก 3 บริษัทได้แก่

บริษัท ซิงเกอร์ ลิสซิ่ง และบริษัทย่อย เอสจี แคปปิตอล

ประกอบธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน จักรเย็บผ้า สินค้าเชิงพาณิชย์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินค้าอื่นๆ

บริษัท ซิงเกอร์เซอร์วิสพลัส และบริษัทย่อย เอสจี เซอร์วิสพลัส

ประกอบธุรกิจบริการหลังการขายถึงบ้าน

บริษัท ซิงเกอร์โบรคเกอร์ และบริษัทย่อย เอสจี โบรคเกอร์

ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online