ผลสำรวจของ INRIX ระบุว่าค่าเฉลี่ยคนไทยใช้เวลาบนท้องถนนอยู่ที่ 56 ชั่วโมงต่อปี

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีรถที่พร้อมวิ่งบนถนนมากถึง 39.6 ล้านคัน นับเฉพาะรถที่จดทะเบียนสะสม 20 ปี

แน่นอนจังหวัดที่รถติดมากที่สุดในประเทศไทยคงหนีไม่พ้นกรุงเทพฯ ที่มีค่าเฉลี่ยคนใช้ชีวิตบนท้องถนนอยู่ที่ 64 ชั่วโมงต่อปี

นั่นเป็นผลสำรวจในช่วงปลายปี 2016 แต่ปัจจุบันมีการประเมินจากหน่วยงานต่างๆ ว่า

คนกรุงเทพอาจใช้เวลาบนท้องถนนเฉลี่ย 68 ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็นเกือบๆ 3 วัน/ปี ที่คนกรุงเทพต้องนั่งแช่บนรถ

สาเหตุของการจราจรในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในสภาวะโคม่าเกิดขึ้นจากอะไร?

หากอ้างอิงตัวเลขของกรมขนส่งทางบกที่ปัจจุบันเมืองไทยทุกจังหวัดมีรถทุกประเภทรวมกัน 39.6 ล้านคัน

เชื่อหรือไม่ว่าเกือบๆ 1/4 ของจำนวนรถทั้งหมดในประเทศนั้นมาอยู่บนถนนกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนรถทุกประเภททั้งหมดรวมกัน 9.7 ล้านคัน

ที่น่าสนใจหากอ้างอิงข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก นับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทุกประเภทบนท้องถนนกรุงเทพฯ มีจำนวนสูงถึงเกือบๆ 6 ล้านคัน ในขณะที่ทั่วประเทศนั้นมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกือบๆ 10 ล้านคัน

แต่หากจำนวนรถ 9.7 ล้านคันในกรุงเทพฯ มีถนนรองรับการจราจรเพียงพอปัญหาการจราจรขั้นโคม่าก็คงไม่เกิด

ผลการสำรวจของสำนักงานขนส่งกรุงเทพฯ ระบุไว้ว่าพื้นที่ถนนในกรุงเทพฯ ที่ให้รถวิ่งนั้นมีเพียง 8% จากพื้นที่ทั้งหมดในกรุงเทพฯ หรือคิดเป็นการรองรับปริมาณรถได้ 1.5 ล้านคัน

ในขณะที่พื้นที่เกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสมกับเมืองหลวงหรือมหานครที่มีจำนวนรถหนาแน่นต้องมีพื้นที่ถนน 20-25% จากพื้นที่เมืองทั้งหมด

เมื่อปริมาณรถมีมากกว่าพื้นที่ถนนที่ให้รถวิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในอย่างถนนสุขุมวิท, สีลม, ย่านใจกลางเมืองต่างๆ ที่มีการจราจรเข้าขั้นวิกฤต

จึงเป็นที่มาให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร มีไอเดียที่จะเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถยนต์ส่วนตัวเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

เป้าหมายก็เพื่อลดปัญหาจราจรและจูงใจให้คนกรุงเทพใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

โดยเบื้องต้นวางแผนทดลองบนถนนสุขุมวิท โดยจะใช้วิธีติดกล้องวงจรปิดและบันทึกป้ายทะเบียนของรถยนต์ที่เข้า-ออก จากนั้นจะส่งบิลไปเก็บค่าธรรมเนียมให้เจ้าของรถยนต์ช่วงปลายเดือน

แต่ยังไม่มีการระบุว่ารถส่วนบุคคล 1 คันจะสามารถเข้าออกถนนเส้นหลักได้กี่ครั้งต่อเดือน ถึงจะเริ่มมีการเก็บค่าธรรมเนียม

แล้วค่าธรรมเนียมที่จะเก็บนั้นจะเก็บในราคาเท่าไร?

ซึ่งทั้งหมดก็ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงความเป็นไปได้

แล้วในต่างประเทศมีวิธีแก้ไขปัญหารถติดอย่างไร?

รัฐบาลสิงคโปร์: ออกกฎหมายที่ทำให้คนซื้อรถต้องคิดหนัก เพราะไม่ใช่แค่มีเงินซื้อรถก็สามารถขับได้ทันที

เพราะต้องซื้อใบอนุญาตพิเศษจากรัฐบาลราคา 5 หมื่นเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบๆ 1.2 ล้านบาท เพื่อให้รถตัวเองวิ่งบนท้องถนน

โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น: หากใครจะซื้อรถยนต์ กฎหมายระบุไว้ว่าต้องมีที่จอดรถแสดงให้เจ้าหน้าที่รัฐเห็นก่อน

ถึงได้รับอนุญาตให้ซื้อรถ ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่นิยมใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงต้องกลับมาคิดว่า แล้วการเตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียมบนท้องถนนกรุงเทพฯ ใช่วิธีที่มาถูกทางแล้ว?

หากเป็นกฎหมายขึ้นมาจริง จะสามารถบังคับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน?

แต่ก่อนจะเป็นกฎหมายบังคับใช้จริงจังนั้น เชื่อว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรคงต้องมีการหยั่งเสียงมหาชนคนกรุงเทพ

แล้วจะได้คำตอบที่แน่ชัดว่ากฎหมายนี้จะ “ถูกใจ” หรือจะถูก “ต่อต้าน”

เชื่อว่าคนกรุงเทพทุกคนมีคำตอบอยู่ในใจ



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online