ใน 1 ปีประเทศไทยมีปริมาณขยะหนักถึง 27 ล้านตัน
หากนึกภาพไม่ออกว่ามหาศาลขนาดไหน กรมควบคุมมลพิษ บอกว่าถ้าเรานำเอาขยะ 27 ล้านตันมากองรวมกัน
จะมีความสูงเทียบเท่าตึกใบหยก 2 ที่มีถึง 140 ชั้น
แน่นอนขยะย่อมมีหลากหลายชนิด แต่ขยะที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ก็คือ “พลาสติก” ที่ส่วนใหญ่ใช้เวลาย่อยสลาย 300-400 ปีเลยทีเดียว
เรื่องนี้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร หากประเทศไทยที่มีขยะพลาสติกปีละ 2 ล้านตัน แต่เชื่อหรือไม่ว่า
ในจำนวนขยะพลาสติก 2 ล้านตันนั้น ประเทศไทยกลับทิ้งพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ สูงถึง 1.3 ล้านตันต่อปี
โดยหนึ่งในแหล่งน้ำที่รองรับจำนวนพลาสติกมากที่สุดก็คือ ทะเล
จนทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 6 ในการเป็นประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก
หากปล่อยไว้นานวัน ท้องทะเลไทยที่เคยสวยงามก็อาจเป็นเพียงแค่ภาพในอดีต
อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะมีจำนวนน้อยลง เพราะท้องทะเลไทยที่เคยเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างในอดีต
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลไทยต้องค้นหาสารพัดวิธี ทั้งปลูกจิตสำนึกของประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ, การทำความสะอาดแหล่งน้ำต่างๆ
สุดท้ายก็คือการประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวน 8 ชนิดภายในปี 2025 โดยแบ่งเป็น 3 เฟส
เฟสแรกนั้นประกาศยกเลิกภายในปี 2019 มีพลาสติก 4 ชนิด
1. Cap seal ที่รัดรอบฝาน้ำดื่มสารพัดแบรนด์ โดยส่วนใหญ่จะผลิตจากพลาสติก PVC
2. พลาสติกประเภท HDPE ที่ใช้ทำถุงร้อน มีคุณสมบัติทนความร้อนได้ถึง 100 องศาเซลเซียส มักนิยมเอาไปใส่อาหารตามสั่งที่เป็นของร้อน
3. พลาสติก LDPE ถุงเย็น ที่นิยมเอาไปใส่อาหารทุกชนิดยกเว้นอาหารที่มีความร้อนสูง
4. Microbead ชิ้นส่วนเล็กๆ ของพลาสติกในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด และอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนเฟส 2 ที่จะยกเลิกปี 2022 ประกอบด้วย 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร
ส่วนเฟสสุดท้าย ที่จะยกเลิกปี 2025 คือ แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติก โดยส่วนใหญ่จะผลิตจากพลาสติกประเภท polystyrene
แน่นอนคนที่จะได้รับผลกระทบคนแรก ก็คือกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ โดยมีโจทย์ที่ฟังดูง่ายแต่ทำให้เกิดขึ้นจริงนั้น “ยาก”
นั่นคือ ต้องหาวัตถุดิบชนิดใหม่มาใช้ทดแทนพลาสติกของเดิมที่ถูกยกเลิกไป แถมยังต้องเป็นวัตถุดิบที่เมื่อนำมาใช้งานจริงสามารถเทียบชั้นกับพลาสติก
ทำให้กลุ่มบริษัทพลาสติกบรรจุภัณฑ์ต้องลงทุน R&D รวมไปถึงต้องหาวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อมาผลิตแพ็กเกจจิ้งทดแทนพลาสติก ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้นทุน ในการผลิตจะต้องสูงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Bioplastic ทดแทน หรือหลอดดูดน้ำพลาสติก เปลี่ยนมาเป็นสาหร่ายทะเล และช้อนกินข้าวเปลี่ยนจากพลาสติกมาเป็นแป้งสาลี
ตัวอย่างวัตถุดิบทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีต้นทุนที่แพงกว่าพลาสติก
หลายคนอาจคิดว่าไม่เห็นเกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย เพราะเป็นเรื่องของบริษัทผู้ผลิตพลาสติกที่ต้องหาทางออกกับสิ่งที่รัฐบาลบังคับ
แต่จริงๆ แล้วอีกคนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราๆ
ลองคิดดู เมื่อต้นทุนแพ็กเกจจิ้งสินค้าเพิ่มขึ้น แน่นอนต้นทุนสินค้า 1 ชิ้นก็ต้องเพิ่มขึ้นตาม
เจ้าของแบรนด์ก็ต้องปรับราคาขาย สุดท้ายแล้วเราอาจจะต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นกว่าในยุคแพ็กเกจจิ้งพลาสติก
แต่ราคาสินค้าที่น่าจะแพงขึ้นเล็กน้อย เชื่อได้เลยว่า คนไทยทุกคนพร้อมจ่าย
หากจะทำให้ท้องทะเล สิ่งแวดล้อมในวันนี้ ยังคงความสวยงาม ไว้ให้นานที่สุด
เพื่อเก็บเอาไว้… ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ