เผยความคืบหน้าโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ล่าสุดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ผู้ว่า กทม. ร่วมเป็นประธานเซ็น MOU เปิดโครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อเดือนมกราคม 2562 ให้ กทม. เป็นเจ้าภาพในการนำ ‘สายสื่อสาร’ หรือ ‘สายไฟฟ้า’ ลงใต้ดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ

โครงการส่งเสริมพัฒนาและกำหนดแนวทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นความร่วมมือระหว่าง “กทม.” และ “กสทช.” เพื่อเตรียมแผนงานและมาตรการต่างๆ

มูลค่าโครงการ 2 หมื่นล้าน ระยะ 2,450 กม. ทั่วกรุงเทพฯ

การดำเนินงานที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การทำงานของ “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ “กทม.” เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างฯ

โดยสายพาดทั่วกรุงเทพฯ คิดเป็นระยะรวม 2,450 กิโลเมตร ครอบคลุมสายไฟฟ้าบนถนนสายหลัก สายรอง และเส้นทางลัด และมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี รวมมูลค่าโครงการรวมกว่า 20,000 ล้านบาท และไม่ใช้งบประมาณของราชการ

อยู่ระหว่างสำรวจ-ประเมินพื้นที่

พล.ต.อ. อัศวินกล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสำรวจสภาพพื้นที่ และเก็บข้อมูลตำแหน่งของท่อสาธารณูปโภคใต้ดินและสิ่งกีดขวางใต้ดิน โดยใช้ระบบเรดาร์ที่ระดับความลึก 8 เมตร

วิธีการก่อสร้าง 2 รูปแบบ คือ (1) การก่อสร้างแบบเจาะลากท่อ (Horizontal Directional Drill) และ (2) การก่อสร้างแบบเปิดหน้าดิน เนื่องจากวิธีการที่ง่าย ขุดเจาะเปิดหน้าดินน้อย และช่วยประหยัดพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้

แบ่ง 4 พื้นที่นำร่อง

จากนั้น ผู้ว่าจ้างฯ จะเริ่มในพื้นที่นำร่อง 4 จุด ใน 4 พื้นที่พร้อมกัน ประกอบด้วย พื้นที่ 1 กรุงเทพเหนือ ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร นำร่องที่จะดำเนินการบริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1- ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กิโลเมตร

พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก ระยะทางประมาณ 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์ (CW Tower) รวม 1.95 กิโลเมตร

พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทางรวม 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กิโลเมตร

พื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เช่นเดียวกัน รวมระยะทาง 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่อง ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร

เซ็น MOU ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน

พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า การดำเนินการขุดเจาะและวางท่อจะเริ่มในเดือน ก.ค. 2562 โดยตั้งเป้าหมายนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กิโลเมตร ภายในปี 2562 (ภายใต้กำหนดการแล้วเสร็จใน 2 ปี)

นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการ’ ขับเคลื่อนและกำกับดูแลการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นหน่วยงานผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลการสื่อสารและโทรคมนาคม เพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online