รถเต่า (Beetle) ความคลาสสิกที่กำลังจะหลงเหลือไว้เพียงตำนาน (วิเคราะห์)
หนึ่งในบรรดาข่าวเศร้าและข่าวใหญ่สุดของวงการยานยนต์เมื่อปี 2018 คือ Volkswagen เตรียมเลิกผลิต Beetle เพราะเหตุผลทางธุรกิจ ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ค่ายรถดังสัญชาติเยอรมัน เดินหน้าตามแผน ’ดับเครื่อง’ แล้ว หลัง “รถเต่า” รุ่นที่ 3 กลุ่มสุดท้าย ประกอบเสร็จและออกจากโรงงานในเม็กซิโกเป็นที่เรียบร้อย
นี่คือการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจาก Volkswagen ว่า Beetle ถึงคราวต้องจอดและ Volkswagen เองต้องหันหลังให้กับอดีตเสียที ไม่ว่าเสียงทัดทานจากคอรถเก่าและแฟน “รถเต่า” จะดังแค่ไหนก็ตาม
รถเต่า ครองบทนำค่ายรถเยอรมันช่วงออกสตาร์ท ที่ใกล้สต็อปในหลายปีให้หลัง
ปี 1937 ก่อตั้งขึ้น Volkswagen ตามนโยบายของ Adolf Hitler ที่อยากให้ชาวเยอรมันได้มีรถราคาเข้าถึงได้ใช้กัน สอดคล้องกับชื่อแบรนด์ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่ารถของมวลชน
โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จหลังรถ 5 ที่นั่ง เครื่องยนต์ด้านหลังในชื่อ Volkswagen Type 1 หรือที่เรียกกันว่า Beetle ภายใต้การดูแลของ Ferdinand Porche และการออกแบบ Erwin Komenda ออกสู่ตลาด
Volkswagen Type 1 ที่ต่อมาเรียกกันว่า Beetle
การต้องหันไปผลิตรถยนต์และอาวุธยุทโธปกรณ์ป้อนกองทัพเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ Beetle รุ่นแรกต้องขาดช่วงไป
แต่หลังสงครามสงบ โรงงานในเยอรมนีที่เสียหายหนักจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบฝ่ายชาติสัมพันธมิตรเพื่อตัดกำลังฝ่ายอักษะที่นำโดยทัพเยอรมัน ก็ได้กลับมาเดินหน้าอีกครั้งภายใต้การดูแลของกองทัพอังกฤษ จึงทำให้ลูกค้าหลักช่วงฟื้นตัวของทั้ง Volkswagen และ Beetle คือกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรนั่นเอง
พอถึงยุค 60-70 รถรุ่น Beetle ก็ดังไปทั่วโลก จาก Herbie ภาพยนตร์ดังที่มีรถรุ่น Beetle มีบทบาทเด่น พร้อมครองตำแหน่งพาหนะคู่ใจของเหล่า Hippies วัยรุ่นกลุ่มใหญ่ของกรอบเวลาดังกล่าว
ความโด่งดังและยอดขายที่เพิ่มขึ้นของรถรุ่นนี้ยังส่งผลดีต่อการรุกตลาดโลกของ Volkswagen ด้วย ยืนยันได้จากการตั้งโรงงานใน 14 ประเทศทั่วโลกในเวลาถัดมา
Beetle ได้รับการปรับโฉมและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น New Beetle ปลายยุค 90 ตามนโยบายของ Ferdinand Piech ประธานบริหาร (CEO) ในขณะนั้น เพื่อกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งปรากฏว่าได้ผล ยืนยันได้จากการทำยอดขายสูงถึง 80,000 คันในเวลาเพียง 1 ปี
แต่ราคาที่สูงกว่ารถขนาดกะทัดรัด (Compact Car) รุ่นอื่นในตลาด ทำให้ยอดขายของ New Beetle ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนไปเป็นรถที่มีตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche) แทน ส่วนกลุ่มลูกค้าก็กลายเป็นวัยกลางคนที่มีกำลังซื้อ และผูกพันกับรถรุ่นนี้มานานตั้งแต่รุ่น Classic ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ตามที่ Volkswagen หวังไว้
ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ Volkswagen ต้องตัดใจเลิกผลิต New Beetle ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นรุ่น 3 ของรถตระกูลนี้ คือ ยอดขาย 8 เดือนแรกของปี 2018 ในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่เพียง 11,151 คัน
ลดลงจากกรอบเวลาดังกล่าวของปี 2017 อยู่ 2.2% โดยถือเป็นการปิดตำนานรถตระกูล Beetle ทั้ง 3 รุ่น (ปี 1938, 1998 และ 2011) ด้วยยอดขายรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 22,700,000 คัน
เม็กซิโก บ้านหลังใหญ่ของ “รถเต่า” แม้เรียกชื่อต่าง
ท่ามกลางโรงงานในเครือ Volkswagen Group ทั้งหมดกว่า 60 แห่งใน 27 ประเทศทั่วโลก แน่นอนว่าด้วยขนาดพื้นที่ถึง 6.5 ล้านตารางเมตร และกำลังการผลิตถึง 815,000 ต่อปี โรงงานที่เมือง Wolfsburg จึงสำคัญที่สุด แต่โรงงานในเมือง Puebla ของเม็กซิโกก็มีความสำคัญใกล้เคียงกับพระรองที่พระเอกขาดไม่ได้
โรงงานใหญ่สุดของ Volkswagen Group ในเมือง Wolfsburg
เพราะโรงงานแห่งนี้ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 1967 เป็นหนึ่งโรงงานที่ขนาดใหญ่สุดของ Volkswagen Group ในทวีปอเมริกา และมีกำลังการผลิตได้กว่า 435,000 คัน
ท่ามกลางรถที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ มี Beetle ทุกรุ่นรวมอยู่ด้วย จึงทำให้เป็นโรงงานแห่งสุดท้ายในโลกที่ผลิตรถรุ่นนี้ออกมา และเป็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมรถ Beetle คันสุดท้ายจึงผลิตจากโรงงานดังกล่าว
โรงงานที่เมือง Puebla ยังทำให้ “รถเต่า” โดยเฉพาะรุ่น Classic เป็นที่นิยมอย่างมากในเม็กซิโก แม้ชาวเม็กซิกันเรียกรถรุ่นนี้ด้วยภาษาสเปนว่า Vocho ซึ่งต่างจากประเทศอื่น ที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า Beetle อันหมายถึงตัวด้วงเหมือนกันก็ตาม
ขณะเดียวกันยังเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างเม็กซิโกกับเยอรมนีอีกด้วย/euronews, mercopress, volkswagen, wheels24, wikipedia
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



