จากธุรกิจขายซาลาเปาหน้าบ้านในปี 2535 กลายเป็นซาลาเปาธุรกิจ 845 ล้านได้อย่างไร วราภรณ์ ซาลาเปา ทำได้
ภูมิ สุธัญญา ลูกชายคนโต ของคุณแม่วราภรณ์ สุธัญญา คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ภูมิ เคยเล่าว่า ต้นกำเนิดของวราภรณ์ซาลาเปามาจาก ภูมิ และน้องทั้ง 3 ชอบทานซาลาเปามาก และแม่วรภรณ์ที่มีอาชีพขายของชำมองว่าการที่ต้องซื้อซาลาเปามาทานบ่อยๆ เป็นการสิ้นเปลือง จึงเกิดความคิดที่จะทำซาลาเปาเองเพื่อให้ลูกๆ ทานได้อย่างเต็มที่ และมีเหลือแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านชิม
ต้นกำเนิดของธุรกิจมาจากเพื่อนบ้านนี่แหละ ที่ชิมแล้วติดใจจนแนะนำให้ลองทำขายดู คุณแม่วราภรณ์จึงลองทำซาลาเปามาตั้งขายหน้าบ้านที่เป็นตึกแถวไม่ไกลจากตลาดนางเลิ้งนัก และนั่นคือจุดเริ่มต้องของวราภรณ์ซาลาเปาในปี 2535
ในยุคของคุณแม่วราภรณ์ขายซาลาเปาที่หน้าร้านย่านนางเลิ้งได้ประมาณวันละร้อยกว่าลูกเท่านั้น
เมื่อภูมิ เข้ามาสานต่อธุรกิจ เขาได้วางกลยุทธ์ใหม่ๆ ให้ วราภรณ์ ซาลาเปา เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งประกอบด้วย
1.ขยายสาขา = ขยายฐานลูกค้า ขยาย Awareness ซาลาเปา Fast Food
ภูมิเกิดความคิดวาง Positioning ของวราภรณ์ซาลาเปาคือ อาหารสะดวกทาน จับกลุ่มลูกค้าหลักคือคนทำงาน ไปพร้อมกับการขยายสาขาเพื่อให้ฐานลูกค้า สร้าง Brand Awareness วราภรณ์ซาลาเปากว้างขึ้น
โดยสาขาที่2 ของวราภรณ์ซาลาเปาคือสาขาพหลโยธินเพลส เนื่องจากแถวนั้นใกล้เอไอเอส อาคารไอบีเอ็ม ธนาคารกสิกรสำนักงานพหลโยธิน สำนักกิจการกระจายเสียง และอื่นๆ ซึ่งเป็นออฟฟิศ สำนักงานของมนุษย์เงินเดือนทั้งสิ้น
และยังขยายฐานลูกค้าไปยังห้างสรรพสินค้า เจาะกลุ่มครอบครัวและคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า โดยวราภรณ์ซาลาเปาสาขาแรกที่ขึ้นห้างคือโดยวราภรณ์ซาลาเปาสาขาห้างเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ ก่อนที่จะขยายไปยังห้างอื่นๆ อีกมากมาย
แต่การขยายเข้าห้างยังไม่พอสำหรับภูมิ เพราะเขามองว่ายังมีช่องว่างในตลาดอีกมากมาย เขาจึงขยายสาขาไปยังสถานีบริการน้ำมัน โดยเน้นไปที่สถานีน้ำมัน ปตท. เพราะอย่างน้อยเมื่อนักเดินทางแวะเข้ามาแวะพัก และเข้าห้องน้ำจะได้ซื้อวราภรณ์ซาลาเปากลับไปทานในรถได้ รวมถึงเพิ่มบริการเดลิเวอรี่รองรับลูกค้าที่ไม่อยากเดินทางเข้ามาซื้อวราภรณ์ซาลาเปาที่ร้านอีกด้วย
ในปัจจุบันวราภรณ์ซาลาเปามีสาขามากกว่า 80 สาขา มีสาขาที่ให้บริการเดลิเวอรี่ 8 สาขา
สาขาของวราภรณ์ซาลาเปามี 3 รูปแบบคือ 1. ร้านแบบคีออส ส่วนใหญ่อยู่แถวซูเปอร์มาร์เก็ตห้างสรรพสินค้า เน้นกลุ่มลูกค้าซื้อกลับไปทานที่บ้าน 2. ร้านขนาดกลาง 3. ร้านขนาดใหญ่ โดยสาขาขนาดกลางและขนาดใหญ่จะเน้นการตกแต่งร้านให้ดูทันสมัยน่านั่ง ในคอนเซ็ปต์ร้านสะดวกทานของคนรุ่นใหม่
2.ความหลากหลายของอาหาร
ปัจจุบันวราภรณ์ซาลาเปามีซาลาเปาให้เลือก 10 ไส้ มีไส้ที่แปลกๆ คือ หมูสับเป็ดย่างและเขียวหวานไก่ ติ๋มซำ 20 ชนิด และอาหารจานด่วน ในช่วงเทศกาลกินเจก็มีซาลาเปา หมั่นโถเจออกจำหน่าย เพื่อขยายรายได้และเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาวราภรณ์ ซาลาเปาแล้วต้องทานซาลาเปาเพียงอย่างเดียว
แม้วราภรณ์ซาลาเปาจะมีอาหารที่หลากหลายแต่ 50% ของรายได้วราภรณ์ซาลาเปา ก็ยังมาจากซาลาเปาทั้ง 10 ไส้ มีไส้เบสิกอย่าง หมูสับ หมูแดง ใส้ครีมเป็นไส้ยอดนิยม
3.ควบคุมคุณภาพ
ซาลาเปา ติ๋มซำ และอาหารจานด่วน จะทำจากครัวกลางทั้งหมดเพื่อควบคุมคุณภาพของอาหาร วัตถุดิบ และรสชาติให้มีมาตรฐานเท่ากันทุกสาขา และสาขาจะมีหน้าที่เพียงอุ่นและเสิร์ฟให้กับลูกค้า
นอกจานี้ภูมิยังใช้กลยุทธ์ขยายสาขาเองทั้งหมด เพื่อควบคุมคุณภาพการให้บริการ เพราะเขามองว่าการขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์ข้อเสียคือการควบคุณภาพของร้านและบริการ
ทั้งนี้ภูมิได้วาดฝันไว้ว่าอนาคตจะพาวราภรณ์ซาลาเปา ให้เป็นร้านสะดวกทานที่ใครๆ ก็คิดถึง และเป็นร้านที่ชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยต้องเข้ามาลอง แต่จะไปถึงฝั่งฝันได้เมื่อไรนั้น อนาคตเป็นเครื่องพิสูจน์
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



