ธุรกิจสายการบิน 2562 ขาดทุนระนาว วิเคราะห์สาเหตุที่ผลประกอบการติดลบ แต่ยังต้องสู้ กรณีศึกษา บางกอกแอร์เวยส์
ตัวเลขสะท้อนผลประกอบการครึ่งปีแรก บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (Bangkok Airways)
ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงโดยมีตัวเลขครึ่งปีแรก “ขาดทุนสุทธิ” 189.57 ล้านบาท เป็นตัวเลขขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี
และถ้าดูผลประกอบการ 3 ปี ย้อนหลังของบริษัทก็ส่อแววไม่สดใสมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้รายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นจาก 26,766 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 27,944 ในปี 2561 แต่เม็ดเงินกำไรที่เคยได้ในปี 2559 ถึง 1,837 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 264 ล้านบาทในปี 2561
ดูกันชัดๆ จะเห็นว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 6,077.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งๆ ที่มีจำนวนผู้โดยสารเติบโตร้อยละ 2.3 เหตุผลสำคัญคือเป็นเพราะราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยลดลงร้อยละ 4.3
ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วย (Passenger Yield) อยู่ที่ 4.04 บาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 2.5
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ ธุรกิจสายการบิน คือ
1. บางกอกแอร์เวย์ส ต้องประสบกับปัญหาการแข่งขันที่สูง ทั้งในเส้นทางการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นการแข่งขันในเรื่องต่างๆ เช่น ระดับราคาค่าบัตรโดยสาร จำนวนเที่ยวบิน ความน่าเชื่อถือของการบริการ ภาพลักษณ์ของสายการบิน สิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โปรแกรมสะสมไมล์ (Frequent Flyer Program)
นอกจากนี้ สายการบินบางแห่งที่เป็นคู่แข่งของบริษัทฯ นั้นมีขนาดใหญ่กว่าอาจมีชื่อเสียงและทรัพยากรทางการเงินมากกว่า และมีความสามารถในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญซึ่งรวมถึงเส้นทางการบินภายในประเทศได้ดีกว่า
2. มาจากตัวเลขการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตชะลอตัว
3. การแข็งค่าของเงินบาท
“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ “กัปตัน เต๋” ถึงกับบ่นว่าเป็นธุรกิจที่เหนื่อยและมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
แต่สำหรับวันนี้จะเห็นแนวทางต่อสู้ของบางกอกแอร์เวย์สในหลายเรื่อง เช่น
1. การปรับลดเที่ยวบินหลายสายเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต (เที่ยวเดียว) จาก 56 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 49 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ (เที่ยวเดียว) จาก 39 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 35 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และยกเลิกเที่ยวบิน ภูเก็ต-เชียงใหม่ (เที่ยวเดียว) จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562
2. หาธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ซึ่งจะผลิตนักบินจำนวน 10-20 คน คาดจะเปิดรับสมัครได้ในต้นปี 2563
- บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air catering – BAC) ก็จะเปิดครัวการบินเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ สาขาสนามบินเชียงใหม่
- ปัจจุบันบริษัทฯ มีให้บริการร้านอาหาร Brasserie 9 ซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม ร้านอาหาร Al Saray ซึ่งเป็นร้านอาหารเลบานีสและอาหารอินเดีย และภายในปีนี้มีแผนจะเปิดให้บริการร้านเรือนนพเก้า ซึ่งเป็นอาหารไทยตำรับชาววังเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง
- ลงทุนสร้างโรงซ่อมอากาศยานที่สุโขทัย มูลค่าลงทุนราว 1 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ขั้นตอนจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าปีหน้าจะเริ่มลงทุนได้
- มีแผนขยายธุรกิจแบบเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) โดยปัจจุบันสายการบินฯ มีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำในเส้นทางระหว่าง สมุย-เฉินตู และ สมุย-ฉงชิ่ง
3. สร้างแบรนด์ผ่านกิจกรรมเชิงกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ร่วมมือทางการตลาดกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมสโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศเยอรมนี ที่มีแฟนคลับมากเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปยุโรป เพื่อช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของบางกอกแอร์เวย์สในระดับสากล ส่วนในประเทศยังสนับสนุนทีมฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 7 ทีม คือ เชียงรายยูไนเต็ด เชียงใหม่เอฟซี สุโขทัยเอฟซี ตราดเอฟซี ลำปางเอฟซี เชียงรายซิตี้เอฟซี และสมุยซิตี้เอฟซี
ปัจจุบันรายได้ของบางกอกแอร์เวยส์แบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจหลักคือ
1. ธุรกิจสายการบิน 10,105 ล้าน 2. ธุรกิจสนามบิน 296 ล้าน 3. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 2,137ล้าน (เช่น บจ.ครัวการบินกรุงเทพ บจ.บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพ เวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส และรายได้ที่ไม่ได้แบ่งตามสายธุรกิจ 1,326 ล้าน
รายได้ตั๋วโดยสารหลักๆ มาจากเส้นทางสมุย 49-50% เส้นทาง CLMV สัดส่วน 22-25% เส้นทางในประเทศ สัดส่วน 22-24% เส้นทางมัลดีฟส์และอินเดีย 3-5%
51 ปี บนเส้นทางนักสู้แห่งเอเชีย
หากย้อนอดีตกลับไปในปี 2511 บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด เริ่มก่อตั้งขึ้นโดย นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้เป็นบิดาของพุฒิพงศ์ ต้องยอมรับว่าบุคคลคนนี้คือนักธุรกิจคนแรกในสังคมไทย ที่ “เสี่ยง” กับธุรกิจการบินมานานกว่า 51 ปีแล้ว
ล้มบ้างยืนบ้างอย่างอดทนเพราะเป็นเอกชนรายแรกของประเทศที่ต้องการมีสนามบิน และทำธุรกิจการบินตั้งแต่ในยุคที่กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้เอกชนทำ
จนกระทั่งในปี 2528 กระทรวงคมนาคมสมัยนั้นมีสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่บริการด้านเครื่องบินเช่าเหมา เสนอหลักการประกอบการบินโดยสารได้
เป็นเอกชนรายแรกในโลกเหมือนกันที่มีสนามบินก่อนมีเงินซื้อเครื่องบิน และรุกสู่ธุรกิจการบินอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ปราเสริฐเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อตอนขอตั้งสนามบินเอกชนแห่งแรกที่อำเภอสมุย สถาบันการเงิน ทุกแห่งต่างปฏิเสธและมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่เคยมีเอกชนคนไหนเคยขอกู้เพื่อสร้างสนามบินก่อน
และเมื่อถูกถามว่าจะขายอะไร จะเอาคนที่ไหนเข้ามา เขาก็ตอบว่า ตั้งใจจะขายแดด และธรรมชาติอันสวยงามของเกาะสมุย โดยมีแผนที่จะไปตั้งสำนักงานขายบนถนนชองป์เอลิเซ่ กลางกรุงปารีส ศูนย์รวมนักท่องเที่ยวเกรดเอจากทั่วโลก
นั่นคืออุปสรรคอย่างหนึ่งในช่วงแรก แต่ก็สามารถก่อสร้างสนามบินและได้เปิดเส้นทางบินสมุย-กรุงเทพฯ ได้เมื่อปี 2532
(ในปี 2561 สนามบินสมุยให้บริการผู้โดยสารเข้าและออกกว่า 2.6 ล้านคน ในจำนวน กว่า 30,000 เที่ยวบิน)
หลังทะยานขึ้นท้องฟ้าได้ไม่นาน ปี 2540 ราคาเงินบาทกลับดิ่งลงเหว บางกอกแอร์เวย์สจะก็ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมัน ค่าประกันภัย ทุกอย่างเป็นดอลลาร์หมด
พอผ่านมาได้ก็เจอกับวิกฤตวันที่ 11 กันยายน 2544 หรือ 9/11 ต่อด้วย โรคซาร์ส ปัญหาไข้หวัดนก แต่ละเหตุการณ์คนแทบร้างสนามบิน
ที่สำคัญในปี 2546 สถานการณ์ด้านธุรกิจการบินในประเทศเปลี่ยนไป เกิดสายการบินโลว์คอสหลายสายมาทำสงครามราคากันอย่างรุนแรง
และเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าบริษัทจะพยายามสร้างแบรนดิ้ง และสร้างจุดขายที่แตกต่างจากสายการบินอื่นๆ อย่างต่อเนื่องก็ตาม
ถึงแม้อุตสาหกรรมการบินจะอยู่ในช่วงที่มีการแข่งขันรุนแรงอย่างไรก็ตาม แต่ก็ได้รับรางวัลระดับโลกต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาก็รับไปแล้วหลายรางวัล เช่น รางวัลสายการบินภูมิภาคยอดเยี่ยมของโลก และรางวัลสายการบินภูมิภาคยอดเยี่ยมของเอเชีย ประจำปี 2562 (SKYTRAX World Airline Awards 2019) หรือได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินตรงต่อเวลาที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอันดับที่ 2 ปี 2562 จากโอเอจี (OAG) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านอุตสาหกรรมการบินระดับโลก
และยังเป็นสายการบินเดียวของประเทศไทยที่ติด 20 อันดับแรกด้านความตรงต่อเวลาจากการจัดอันดับของสายการบินจากทั่วโลก
รางวัลทั้งหมดน่าจะทำให้องค์กรแห่งนี้มีพลังในการต่อสู้ต่อไป หลังจากต่อสู้มานานถึง 5 ทศวรรษ
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



