เทรนด์ธุรกิจ 2019 เจาะลึกอินไซด์พิชิตใจคนขี้เกียจ เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุค Lazy Economy

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เคยมีใคร “ไม่ขี้เกียจ”

เหนื่อยจากการทำงานแล้วก็ไม่อยากทำอะไร

อยากกินขนมหวานร้านดัง แต่ไม่อยากไปต่อคิวซื้อ

เพราะความขี้เกียจไม่ใช่แค่ “นิสัย” แต่ยังลึกลงไปถึงระดับยีน

และเพราะความขี้เกียจนี้เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเป็นกระแสที่น่าจับตามองของเศรษฐกิจโลก จนเป็นที่มาของคำว่า Lazy Economy หรือเศรษฐกิจคนขี้เกียจ ซึ่งเกิดจากความต้องการความสะดวกสบายในชีวิต โดยที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินหากสินค้าหรือบริการนั้นๆ ช่วยทำให้รู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายมากกว่าเดิม

และจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการความสะดวกสบาย ทำให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจจองคิว บริการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ สินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทาน เป็นต้น

Marketeer พาล้วงลึกอินไซต์งานสัมมนา “Lazy consumer” เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เกียจ ที่สำรวจเชิงลึกของนักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ขี้เกียจออกกำลังกายมากสุด

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดแรงงานและเวลา จนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สังคมของความเคยชิน หรือที่เรียกว่า “ความขี้เกียจ”

โดยทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า 10 อันดับกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่  1.ออกกำลังกาย 84% 2.รอคิวซื้อของ 81% 3.ทำความสะอาดบ้าน 77% 4.อ่านหนังสือ 70% 5.ทำอาหาร 69 %

6.พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 68% 7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68% 8.เรียน/ทำงาน 65% 9.ออกไปช้อปปิ้ง 64%  และ 10.เดินทางไปไหนมาไหน 60%

และวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่คนทั่วไปขี้เกียจที่สุดคือ

มนุษย์อยากดูดี แต่ไม่มีแรง (ออกกำลังกาย):  คนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่อยากดูดีทั้งภายนอกและภายใน ถึงแม้จะอยากดูดีแค่ไหน แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่ทำ เพราะรู้สึกขี้เกียจ พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 84% หรือประมาณ 55 ล้านคน สาเหตุหลัก คือ ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีเวลา

มนุษย์ชอบช้อป แต่ไม่ชอบรอ:  ชอบช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ แต่ติดตรงที่ต้องไปต่อแถวชำระเงินทำให้พวกเขาไม่อยากรอ หลายคนจึงเลือกกลับบ้านแล้วหันไปช้อปปิ้งออนไลน์แทน พบว่า มีคนขี้เกียจรอซื้อของ 81% หรือประมาณ 53 ล้านคน สาเหตุหลักคือ เสียเวลา และเหนื่อย

มนุษย์บ้านรก สกปรกค่อยทำ: มนุษย์กลุ่มนี้ขี้เกียจทำความสะอาด รวมถึงขี้เกียจทำงานบ้านอื่นๆ ทั้งกวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ ซึ่งพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 77% หรือประมาณ 50 ล้านคน

มนุษย์ไม่ชอบอ่าน แค่ผ่านๆ ก็พอ: หรือขี้เกียจอ่านหนังสือ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 70% หรือประมาณ 46 ล้านคน

และ มนุษย์ชอบกิน แต่ไม่อินทำอาหาร: พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 69% หรือประมาณ 45 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ และทำไม่เป็น

(*เทียบจากจำนวนประชากร  66 ล้านคน อ้างอิงจากสำนักสถิติแห่งชาติปี  2561)

และหากแยกกิจกรรมสุดขี้เกียจตามเพศจะพบว่า เพศชายมีความขี้เกียจรอคิวซื้อของ 80% มากเป็นอันดับ 1 ขณะที่เพศหญิงขี้เกียจออกกำลังกาย 87% มากเป็นอันดับ 1

5 เทรนด์ธุรกิจ รับอานิสงส์ Lazy Consumer

 และจากพฤติกรรมดังกล่าวจะมีธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ ครองใจตลาดคนขี้เกียจได้ดี

1. ไม่ใช่แฟน ทำแทนได้นะ: ธุรกิจแบบ On-demand service ที่เป็นบริการตามที่ต้องการตอบโจทย์มนุษย์ขี้เกียจที่ไม่อยากเสียเวลารอ และยอมที่จะใช้เงินแก้ไขปัญหา แลกกับไม่ต้องเสียเวลา ธุรกิจที่คนส่วนใหญ่รู้จักดีคือ Food delivery, Home service หรือ Grocery delivery

2. ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ: สินค้าประเภท Automation & Hands-free เช่น เครื่องไอโรบอทหุ่นยนต์ช่วยทำความสะอาด หรือพวก Automate Store  ที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานคิดเงินอีกต่อไป

3. พร้อมเสมอ ถ้าเทอต้องการ: ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น สินค้าประเภทพร้อมกิน พร้อมดื่ม Ready to cook, Ready to eat, Ready to  use

4. better together: การสร้าง community เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ได้ทำอะไรร่วมกัน ช่วยกันทำ จะเป็นแรงจูงใจให้คนขี้เกียจได้เป็นอย่างดี

5. ฟังเพลินๆ ได้ learn แบบไม่ต้องอ่าน:  คือ ไอเดีย Read Less, Listen MORE เน้นความสั้นกระชับของข้อมูล หรือทำรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น Podcast, Short Content, Video content

SLOTH กลยุทธ์พิชิตใจชาวขี้เกียจ

ทั้งนี้เคล็ดลับการทำการตลาดในยุคที่คนขี้เกียจครองเมืองนั้น เจ้าของสินค้าและบริการจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “SLOTH” เพื่อครองใจผู้บริโภค

ประกอบด้วย Speed คือต้องมีความรวดเร็ว และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา

Lean กระชับ ตัดทอนขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

EnjOy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ

ConvenienT สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น

และสุดท้ายคือ Happy ความสุข จากความต้องการที่ถูกเติมเต็มและปัญหาได้ถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด

สำหรับการตลาดขี้เกียจหรือเศรษฐกิจขี้เกียจนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 หลังจากที่เถาเป่า ผู้ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีนได้เก็บข้อมูลของลูกค้าและพบว่าคนจีนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 1995 มีการใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์สำหรับคนขี้เกียจมากถึง 70%

โดยเป็นการจับจ่ายสินค้าที่อยู่ในหมวดอาหารพร้อมรับประทาน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอุปกรณ์ดิจิทัล และเครื่องสำอาง

และจากการศึกษายังพบอีกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคนขี้เกียจ ส่งผลให้สินค้าและบริการต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและเป็นวาระสำคัญของๆหลายบริษัท

ไม่ใช่แค่ประเทศจีนเท่านั้นที่มีการใช้จ่ายในเรื่องความขี้เกียจ เพราะขณะนี้เริ่มมีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่เน้นทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายนี้

โดยเฉพาะธุรกิจประเภทรับสั่งอาหาร ( Food Delivery) ที่กำลังมาแรง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติดีแต่ไม่ต้องการเสียเวลาไปรอคิวหรือเดินทางไปซื้อเอง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหรือบริการรูปแบบอื่นๆที่สามารถตอบสนองความขี้เกียจได้  อาทิ เครื่องพับผ้า เครื่องช่วยแปรงฟัน เว็บไซต์ที่ช่วยเลือกเสื้อผ้า บริการจัดส่งวัตถุดิบปรุงอาหารพร้อมวิธีการทำ ฯลฯ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online