เมื่อถูกถามว่าชื่อไหนคือชื่อแรกที่นึกถึง เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี คำตอบคงเป็น “BTS” บอยเเบนด์เกาหลีใต้ที่โด่งดังระดับโลก เเต่จะยกย่องความสำเร็จของวงนี้ โดยปราศจากการกล่าวถึง BigHit คงเป็นไปไม่ได้

Bighit คือชื่อที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์วงการบันเทิงเกาหลีไปอย่างสิ้นเชิง ยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคใหม่

ล่าสุดจากการที่ HYBE (เดิมชื่อ Bighit) ได้สร้างดีลสำคัญกับอีซูมาน ผู้ก่อตั้ง SM ในการคานอำนาจกับ Kakao ด้วยการเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด

ส่งผลให้ HYBE กลายเป็นบริษัทบันเทิงชั้นนำไปแล้ว เพราะเป็นการผนวกกำลังกันระหว่างสองบริษัทบันเทิง ที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งเเละสองของเกาหลีใต้ ด้วยมูลค่ารวมกันทิ้งห่างจากเบอร์ 3 เเละ 4 (JYP, YG) อย่างไม่เห็นฝุ่น

หากได้ติดตามการเติบโตของ HYBE มาบ้าง น่าจะทราบกันดีว่า นี่คือบริษัทที่ชะตากรรมพลิกผันจากวันเเรกเป็นอย่างมาก  เพราะเกือบจะล้มละลาย เเต่ภายในเวลาเกือบทศวรรษก็ผงาดขึ้นมายืนอยู่ในเเถวหน้าได้อย่างสง่างาม และคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นไปอีก

การเดินทางของ HYBE Corporation และ BigHit Entertainment

BigHit Entertainment เป็นบริษัทเพลงเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นมาอย่างยากลำบาก ไม่มีใครคาดคิดว่าวันหนึ่งจะสามารถขึ้นมายืนเเถวหน้าเทียบเท่า Big 3 (SM YG เเละ JYP) แห่งวงการบันเทิงได้

Bang Si-hyuk (บังพีดี)

BigHit ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดย Bang Si-hyuk (หรือที่เรียกว่า บังพีดี) ในชื่อ BigHit Entertainment

อ่านบทความ Bang Si-hyuk  เพิ่มเติมได้ ที่นี่

ในตอนแรกบริษัทมีศิลปินภายใต้การจัดการเพียง 8Eight เเละ 2AM ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดการร่วมกับบริษัทอื่น จากนั้นห้าปีให้ถัดมาจึงค่อยเซ็นสัญญากับสมาชิกคนแรกของวง BTS ซึ่งก็คือนัมจุน เเละทยอยเซ็นสัญญาจนครบวง เเละเปิดตัวบีทีเอสในปี 2013

ใช้เวลาเว้นห่างมาถึงหกปี จึงค่อยเดบิวต์วงที่สอง คือ “Tomorrow X Together” (TXT) ในปี 2019

จากจุดนี้ บริษัทก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการเริ่มเข้าซื้อค่ายเพลง และบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ เพื่อขยายกิจการออกไป ทั้งในและนอกเกาหลีใต้ โดยนำไปสู่การรีแบรนด์เป็น HYBE Corporation ในปี 2021 และตั้งค่ายเพลง BigHit Music (เดิมคือ BigHit Entertainment) แยกออกต่างหาก โดยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของ HYBE Labels

“Bighit ไม่ได้สร้าง BTS เเต่ BTS ต่างหากที่สร้าง Bighit”

ภาพวง BTS และ Bang Si-hyuk บนปกนิตยสาร TIME

เคยมีคำกล่าวของคนในค่ายผ่านรายการหนึ่งว่า “BigHit ไม่ได้สร้าง BTS เเต่ BTS ต่างหากที่สร้าง BigHit” ฟังดูไม่เกินจริงนัก เพราะ  BigHit เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนสำคัญมาจากกระแสความดังเป็นพลุแตกของ BTS

แต่ก่อนที่ BTS จะประสบความสำเร็จได้ เเละฉุดค่าย BigHit กลับคืนมาได้นั้น ต้องเผชิญกับความยากลำบาก เเละค่ายก็เกือบล้มละลายด้วยเช่นกัน

BigHit ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก มากจนบริษัทเกือบเอาตัวไม่รอด เพราะศิลปินไม่มีงานติดต่อเข้ามา  เเละไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

การจะเอาตัวรอดในวงการเคป๊อป ยิ่งมาจากบริษัทเล็กเเล้วนั้น ความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์ ศิลปินมักไม่ได้รับการยอมรับในระดับเดียวกับศิลปินจากค่ายใหญ่

ตัวอย่างจากงาน 2016 Melon Music Awards (MMA) ที่ BTS ได้รับรางวัลรับแดซัง (รางวัลใหญ่ที่สุดของวงการบันเทิง) สำหรับอัลบัมแห่งปี ผู้ชมในฮอลล์ต่างไม่เห็นด้วยกับผลตัดสิน เพราะคิดว่าศิลปินผู้ท้าชิง ที่มาจากบริษัทใหญ่สมควรได้มากกว่า

ผู้ชมจึงร่วมกันปิดไฟจากเเท่งไฟ (เรียกเหตุการณ์นั้นว่า Black Ocean)  ซึ่งปกติจะเปิดแท่งไฟให้กำลังใจศิลปินที่ทำการเเสดง เเต่การกระทำนั้นเพื่อเเสดงออกว่าไม่ยอมรับบีทีเอส

 

การตลาดที่ Related กับผู้ชม

อย่างไรก็ตาม BTS ฟันฝ่ามาได้ทุกดราม่า ด้วยคุณภาพของผลงานอันเป็นที่ประจักษ์เเต่ Story ของวง ก็เป็นอีกปัจจัยความสำเร็จอย่างหนึ่ง ที่ทำให้บีทีเอสตีตลาดได้ทั่วโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวความยากลำบาก ที่ทั้งศิลปินเเละค่ายต้องฝ่าฟัน มัน Related กับวัยรุ่นทุกมุมโลก ช่วยสร้างเเรงบันดาลใจให้ผู้คน ทำให้พวกเขามีความรู้สึกร่วม อยากสนับสนุน BTS ให้ประสบความสำเร็จที่สุด

เมื่อศิลปินมีอิสระในการสร้างผลงาน วงจึงเริ่มหันไปในทางเเต่งเพลงสร้างกำลังใจเเละปลอบประโลมจิตใจให้กับผู้ฟัง  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่วัยรุ่นทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมี Army (ชื่อเเฟนคลับ) อยู่ทั่วทุกมุมโลก

BTS คือศิลปินวงแรก ๆ ที่พูดถึงประเด็นทางสังคมด้วยจุดยืนที่ชัดเจน โดยทำงานร่วมกับสหประชาติ (UN) วงมักจะพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นทั่วโลก การวิ่งตามความฝัน เเละการรักตัวเอง

BTS ทำงานร่วมกับ UN

ความโด่งดังของ BTS ยังนำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติรับราชการทหาร  ที่สภาแห่งชาติถึงกับต้องนำเรื่องขึ้นพูดกันอย่างจริงจัง  เเละได้แก้ไขอนุญาตให้เลื่อนการเกณฑ์ทหารไปเป็นอายุ 30 ได้ เพราะเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันวัฒนธรรมสมัยนิยมและศิลปะ สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้สาธารณรัฐเกาหลี

ขยายราก สร้างความยั่งยืน เพื่อเติบโตไปอย่างสวยงาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า BigHit เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะกระแสความดังเป็นพลุแตกของ BTS หลังจากที่ค่ายสามารถลืมตาอ้าปากได้ ก็รีบหาทางแตกไลน์ และสร้างธุรกิจย่อย

หลังการเดบิวต์ของ TXT บริษัทก็เข้าซื้อกิจการ Source Music Entertainment ต้นสังกัด วง GFRIEND เเละจับมือ CJ Entertainment  ตั้งค่ายเพลงใหม่ ‘Belift Lab’

ปีถัดมาก็เข้าซื้อกิจการ Pledis Entertainment ต้นสังกัด วง Nu’Est และ Seventeen เเละอีกมากมาย ทำให้บริษัทกลายเป็นเบอร์หนึ่งของวงการบันเทิงในทันที  ด้วยการควบคุมบริษัทในเครือ ที่ต่างก็เป็นต้นสังกัดของนักร้องดังในประเทศเเละต่างประเทศ

ค่ายเพลงในเครือ

  • ค่ายเพลงใหญ่ BigHit Music ตัวอย่างศิลปิน:  BTS, TXT เเละลีฮุน
  • BeLift Lab ค่ายเพลงร่วมกับ CJ E&M โดยที่บิ๊กฮิตถือหุ้นในบริษัทนี้ 52% ซีเจ 48%  ตัวอย่างศิลปิน:  Enhypen พักซองฮุน
  • Pledis Entertainment ตัวอย่างศิลปิน:  Seventeen, NU’EST, PRISTIN, Han Dong Gun, After School, fromis_9
  • Source Music ตัวอย่างศิลปิน: GFRIEND เเละ MI.O
  • KOZ Entertainment ตัวอย่างศิลปิน:  ZICO, Fanxy Child เเละ DVWN
  • ADOR ค่ายลูกที่บริหารโดย มินฮีจิน Chief Brand Officer (CBO) ของ HYBE อดีตเธอเคยเป็นคนอยู่เบื้องหลังศิลปินดังอย่าง Girls’ Generation ตัวอย่างศิลปิน: Newjeans ที่กำลังโด่งดังเป็นพลุเเตก
  • Ithaca Holdings บริษัทภายใต้ Scooter Braun ซึ่งเป็นเจ้าของ บริษัทบันเทิง SB Projects บริษัทที่ดูแลศิลปินตัวทอปของโลก ตัวอย่างศิลปิน:   Justin Bieber, Ariana Grande, J Balvin, Demi Lovato, Thomas Rhett, Florida Georgia, Blackpink

นอกจากนั้น บริษัทยังได้เข้าซื้อบริษัทพัฒนาเกม Superb เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายเพลงของศิลปินในค่าย

แพลตฟอร์มโซเชียล Weverse

อีกทั้งสร้างแพลตฟอร์มโซเชียล Weverse ตั้งใจให้เป็นเเพลตฟอร์ม ที่แฟนคลับได้เชื่อมต่อกับศิลปินโดยเฉพาะ เกิดเป็นคอมมูนิตี้ยอดนิยมเเห่งใหม่

โดยมี beNX บริษัทในเครือของ BigHit เป็นผู้พัฒนาแอป Weverse กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ BigHit ประสบความสำเร็จ เเละเอาตัวรอดมาได้อย่างสวยงามในช่วงวิกฤตอีกด้วย

สร้างดีลใหญ่กับ อีซูมาน ประธานค่าย SM

จากศึกภายในของ SM Entertainment ที่กลายเป็นพาดหัวใหญ่ ไม่กี่วันที่ผ่านมา  ในบรรดาค่ายทั้งหมด HYBE คือตัวเลือกที่อีซูมานเลือกมางัดข้อกับ Kakao ในศึกเเย่งชิงอำนาจที่กำลังวุ่นอยู่ในเกาหลีใต้ ณ ขณะนี้

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของสำนักข่าวฮันกุกคยองเซ รายงานว่า HYBE กำลังเตรียมเสนอชื่อผู้เข้ารับตำแหน่งไดเรกเตอร์ในบอร์ดบริหารของ SM Entertainment หวยอาจไปออกที่ บังชีฮยอก เเละมินฮีจิน (ซึ่งในอดีตเคยทำงานใน SM ก่อนจะมาสร้างวง New jeans)

ในหมู่ค่ายทั้งหมด HYBE มีมูลค่าบริษัทมากที่สุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2023 HYBE มีมูลค่าอยู่ที่ 6,310 ล้านดอลลาร์ (ราว 217,000 ล้านบาท) มากกว่า SM สองเท่าตัว  ขณะที่ Kakao มีมูลค่า 22,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 781,000 ล้านบาท)

การที่ HYBE เข้าลงทุนในกิจการค่ายเพลงเเละขยายไปสู่อุตสาหกรรมไอที  ซึ่งเป็นวงการเกี่ยวเนื่อง รับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป  ยิ่งเมื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SM ด้วยเเล้วนั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งของศิลปินดังทั้งอุตสาหกรรม จะตกมาอยู่ในกำมือของ HYBE

ซึ่งข่าวการเข้าถือหุ้นใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นของ SM พุ่งขึ้นไปถึง 16.45%

เรียกได้ว่า การเคลื่อนไหวของ HYBE ครั้งหนึ่งสามารถสร้างเเรงกระเพื่อมเเละชี้ชะตาอนาคตอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้อย่างเเท้จริง

 

อ้างอิง: hybecorp, companiesmarketcap, ibighit, TIME, rollingstone, musicbusinessworldwide, asiansoutloud, republicworld, hallyukstar, hani



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online