ในวันที่หลายคนมองว่าสตาร์ทอัพในเมืองไทยกลายเป็นฟองสบู่ ทั้งในแง่ของการเติบโต และบริษัทสตาร์ทอัพที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการของตลาดไปแทบจะหมดแล้ว

แต่หากได้ลองหันมาดูเหล่าสตาร์ทอัพในโครงการ Dtac Accelerate Batch 7 ก็จะพบว่าจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายปัญหาและอีกหลายความต้องการที่รอคนทำ Service บางอย่างเพื่อมาแก้ไข Pain Point ที่มีอยู่

เหมือนอย่าง 2 สตาร์ทอัพจาก Dtac Accelerate Batch 7  ที่ Marketeer ได้หยิบยกมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน

รายแรกคือ Arincare สตาร์ทอัพเพื่อร้านขายยา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากหนุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่าง ธีระ กนกกาญจนรัตน์

แม้จะไม่ใช่เภสัชกร ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับยาโดยตรง แต่สิ่งที่ทำให้ธีระสามารถทำสตาร์ทอัพเพื่อร้านขายยาได้ นั่นก็เพราะในอดีตเขาคือนักพัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลคนไข้สำหรับแพทย์และโรงพยาบาลในแคนาดา และนั่นก็ทำให้เขามีความเข้าใจและรู้จัก Insight ปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี 

จนเมื่อกลับมาที่ไทย ธีระก็ได้เจอกับโอกาสที่ว่าตลาดยาของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าประมาณ 170,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซีย

บวกกับจำนวนของร้านขายยาในไทยที่มีมากพอๆ กับร้านสะดวกซื้อ คือ 24,000 ร้าน ซึ่งจ่ายยาให้ผู้คนเฉลี่ยวันละ 2,000,000 คนทั่วประเทศ

แต่ร้านยาซึ่งเป็น Healthcare ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้คนมากที่สุด เป็นสาธารณสุขที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย กลับต้องเจอกับปัญหาด้านการจัดการมากมาย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือร้านขายยาในไทยส่วนใหญ่ยังคงบันทึกข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาซื้อยาด้วยกระดาษ ทั้งที่จริงแล้วข้อมูลการซื้อยาคือ Data มหาศาลที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็น Solution อะไรได้อีกมากมาย ทั้งในแง่การจัดการ ประวัติผู้ใช้ยา หรืออาจไปสู่ในระดับของสาธารณสุขระดับเขต ระดับจังหวัด ระดับประเทศเลยก็เป็นได้

และที่สำคัญคือยังไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้อย่างจริงๆ จังๆ สักที

นี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้ธีระชักชวน ชายพงษ์ นิยมกิจ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี

และ วิรุณ เวชศิริ ผู้มีประสบการณ์ทำงานในวงการยามากกว่า 15 ปีในหลากหลายสายงาน ทั้งกับโรงพยาบาลในประเทศไทยอย่างโรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล เป็นเภสัชกรผู้ดูแลการผลิตยาบริษัท Inpac Pharma Limited รวมถึงดูแลด้านการตลาดในฐานะ Product Manager ให้กับบริษัทยาระดับโลก เช่น Pfizer, Janssen-Cilag, Pharmalink, และ Baxter Healthcare เพื่อมาร่วมกันทำ Arincare 

เมื่อถามว่า Arincare คืออะไร ธีระจึงได้อธิบายให้เราฟังต่อไปว่า 

Arincare คือแพลตฟอร์มสำหรับเภสัชกรและร้านขายยาที่จะใช้เทคโนโลยีมาทำให้ร้านขายยามีระบบการจัดการต่างๆ ที่ดีขึ้น ทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

พูดให้เข้าใจง่ายๆ Arincare จะเปิดให้ร้านขายยาต่างๆ เข้ามาใช้ระบบของพวกเขาได้แบบฟรีๆ ทั้งในแง่ของสต๊อกยา จำนวนยอดขาย สั่งซื้อยาจากระบบของ Arincare ได้ และอะไรต่อมิอะไรมากมายที่ทำให้ร้านขายยาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งรายได้ของ Arincare จะมาจากการเป็น Marketplace สำหรับขายยาโดยเฉพาะ โดยในทางกฎหมายยาเป็นสินค้าที่ไม่สามารถทำการซื้อขายบนออนไลน์ได้ เราจึงไม่ค่อยเห็นยาวางขายบน Marketplace เหมือนอย่างสินค้าประเภทอื่นๆ

แต่ด้วยความที่เป็น Marketplace สำหรับยาโดยเฉพาะ ไม่มีสินค้าอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ Arincare สามารถทำเรื่องขออนุญาตและขายยาบนออนไลน์ได้อย่างถูกกฎหมาย

เป็น Solution ที่ทำให้ร้านยาซื้อยามาสต๊อกได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้บริษัทยามีช่องทางในการขายที่มากขึ้นด้วยนั่นเอง

นอกจากนี้ ระบบของ Arincare ยังทำมาเพื่อรองรับนโยบายของรัฐ นั่นคือการที่คนไข้สามารถไปรับยาที่แพทย์สั่งข้างนอกได้ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และทำให้คนไข้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตโมเดลการทำให้คนไข้ออกไปรับยานอกโรงพยาบาลของ Arincare อาจจะมา Disrupt ยาราคาแพงในโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นได้

มาต่อกันที่รายที่สอง สำหรับ LING ที่หากจะให้อธิบายอย่างเข้าใจง่ายๆ นี่คือ Digital Assistant For Modern Farmer ซึ่งเกิดจากไอเดียของ นำพล เลปวิทย์

โดยที่มาที่ไปของ LING มาจากประสบการณ์ในอดีตของนำพล ที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ด้าน GIS (Geographic Information System) มาเป็นเวลากว่า 10 ปี

ซึ่งหากจะให้อธิบายความหมายของ GIS ให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือข้อมูลต่างๆ ด้านภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม หรืออะไรต่างๆ อีกมากมาย ที่ถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ จนกลายเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้อีกมากมายมหาศาลนั่นเอง

จากประสบการณ์ที่มี นำพลมองว่าที่จริงแล้วข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย แต่ด้วยรูปร่างหน้าตาของมันที่ดูเข้าใจยาก นำพลจึงทำข้อมูล GIS ต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของ LING เพื่อทำให้เทคโนโลยีที่ดูเป็นเรื่องเข้าใจยาก เข้าไปถึงผู้คนได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของการใช้งาน และชื่อของ Application เพราะนอกจากฟังดูง่าย ชื่อของ LING ยังสื่อไปถึงการเป็นผู้ช่วยของมนุษย์อีกด้วย

แม้เทคโนโลยี GIS จะสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้หลากหลายรูปแบบ แต่ในช่วงแรกนำพลมีแพลนที่จะใช้ LING ให้เป็นผู้ช่วยของเกษตรกรเป็นหลักก่อน

เริ่มตั้งแต่การวางแผนผลิต ที่สามารถดูข้อมูลที่ดินตรงนั้นได้ว่าเคยประสบภัยพิบัติอะไรมาบ้าง นอกจากนี้ ก็ยังสามารถใช้ Feature ของ LING ในการวัดที่ดิน เพื่อที่เกษตรกรและผู้จ้างปลูกจะได้เห็นภาพที่ตรงกัน และตกลงราคากันอย่างเป็นธรรมได้ เป็นการวัดที่แม่นยำกว่าโฉนด เพราะบางครั้งผู้จ้างปลูกก็ไม่ได้จ้างแบบเต็มพื้นที่โฉนดเสมอไป

และเมื่อรู้ประวัติของที่ดิน ก็ทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกด้วยเทคนิคเกษตรแม่นยำได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งภายใน Application ยังมี Feature ที่บอกข้อมูลภัยพิบัติเพื่อให้เกษตรกรเตรียมตัวรับมือเอาไว้อีกด้วย

อย่างที่บอกไปว่าแม้ในช่วงแรก LING จะโฟกัสไปที่การเป็น App แต่ด้วยพื้นฐานของการเป็น App ระบบ GIS จึงทำให้ LING สามารถนำไปปรับใช้กับงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการวัดที่ดินเพื่อซื้อขาย การประเมินราคาที่ดิน และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย จนทำให้มีผู้ใช้งานที่เป็น Active User ใน App ของ LING มากถึงเดือนละ 200,000 User ที่ใช้เวลาอยู่บน App นานถึง 4-5 นาทีเลยเดียว



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน