100 ปี ซีพี ความสำเร็จที่มาพร้อมกับความท้าทายครั้งใหม่ของ เจ้าสัวธนินท์
ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ได้เวลาที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ต้องไปลงนามในสัญญาการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หลังจาก ครม. อนุมัติ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
หลังจากเลื่อนการลงนามมาจากวันที่ 15 ต.ค. เพราะบอร์ดของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม จึงต้องรอให้มีการแต่งตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดใหม่ขึ้นมาก่อน
ที่บอกว่าต้อง “ลุ้น” เพราะอภิมหาโครงการนี้ เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มาก มีความซับซ้อนทั้งด้านการเงิน กฎหมาย และเทคโนโลยี ที่ท้าทายอย่างมากว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ให้สร้างได้ทันในเวลาที่กำหนด และมีมูลค่าที่ถูกที่สุด แต่มีคุณภาพในการให้บริการที่ดีเยี่ยม
เป็นโครงการใหญ่ ที่มาพร้อมความเสี่ยงหลายๆ ด้าน เช่น
1. การสร้างรถไฟความเร็วสูงวิ่งพาดผ่าน 5 จังหวัด เป็นเรื่องที่ยากกว่าการสร้างรถไฟฟ้าในเมืองแน่นอน
2. รัฐบาลจะต้องส่งมอบพื้นที่่ก่อสร้างทั้งหมด 4,400 ไร่ให้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดและรายละเอียดในการส่งมอบต้องชัดเจน ซึ่งสำคัญมากเพราะจะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้โครงการสร้างไม่ทันตามกำหนด
3. ถ้าโครงการไม่เสร็จตามเวลา 5 ปี ได้ขยายเวลาเพิ่มให้ก็จริง แต่ต้นทุนค่าก่อสร้าง ค่าดอกเบี้ยก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย
4. ถึงแม้ในช่วงเวลาที่พัฒนาจะสามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์บริเวณสถานีมักกะสันและศรีราช แต่ก็ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างและขาย
5. สร้างเสร็จหากผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ก็เสี่ยง ระยะเวลาการคืนทุนก็จะยิ่งนานออกไปอีก
6. ความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน แต่ยังมองไม่เห็น
สรุปว่ามีความเสี่ยงทุกจุด
มาดูกันว่าความตั้งใจที่จะทำโครงการนี้ของธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีมากแค่ไหน
เขาเคยประกาศในงานสัมมนาวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ครั้งที่ 3/2019 ณ สถาบันผู้นำของเครือ ไว้ว่า
“งานนี้ ซีพีเป็นผู้นำ ต้องกล้าเสี่ยงเมื่อรับมาแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ”
เจ้าสัวธนินท์ยังตั้งใจจะให้งานชิ้นนี้เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ ที่จะทิ้งไว้ให้กับแผ่นดิน และร่วมฉลองไปกับการครบรอบ 100 ปี ซีพี ในปี 2563 อีกด้วย
โครงการนี้ไม่ใช่งานระดับประเทศ แต่เป็นงานช้าง ระดับอาเซียน เพราะหลายประเทศในแถบนี้ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง
ถ้าทำได้สำเร็จ จะทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดใน EEC รวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่นๆ
รวมทั้งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย
ปัจจุบันอาณาจักรของซีพีมีอยู่ 8 กลุ่มธุรกิจ ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ในแต่ละวันตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเข้านอนของใช้รอบตัวก็เป็นสินค้าของซีพี เช่น อาหารคน อาหารสัตว์ เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ กลับมาใช้อินเทอร์เน็ต เปิดช่องทรู ดูหนัง เข้าร้านกาแฟ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อยา ใช้บริการของสถาบันการเงิน และประกันภัย หรือแม้แต่การหาโรงเรียนให้ลูก
แต่ธุรกิจหนึ่งที่ซีพีไม่เคยทำมาก่อนคือด้านคมนาคม โครงการรถไฟความเร็วสูงจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับเครือ
เจ้าสัวธนินท์ บอกว่าหลายคนคงมีคำถามว่าซีพีรู้เรื่องนี้แค่ไหน แต่เขากลับมองว่าเมื่อครั้งซีพีนำเซเว่น-อีเลฟเว่น มาในประเทศไทย ทุกคนก็มองว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยง หรือตอนที่เขาจะเลี้ยงไก่หมื่นตัวทุกคนก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ รวมทั้งตอนคนเลี้ยงไก่ มาลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมก็เคยโดนปรามาสว่าจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ในที่สุดโปรเจกต์แสนล้านนั้นก็ประสบความสำเร็จ
ดังนั้น เรื่องนี้แม้จะใหม่ก็น่าจะถึงเวลาที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เขาย้ำว่าโครงการนี้ อย่างไรก็ต้องทำให้สำเร็จ อย่าให้กลายเป็นภาระของประเทศ
รู้ว่าเสี่ยง แต่ก็ต้องขอลอง มาวัดใจกันว่า วันที่ 25 ตุลาคม 62 รถไฟสายซีพี จะสะดุด หรือได้ไปต่อ
———————————————————————————————–
รายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
1. แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ. สมุทรปราการ จ. ฉะเชิงเทรา จ. ชลบุรี และ จ. ระยอง
2. รวมระยะทางทั้งหมด 220 กม.
3. รถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 160-250 กิโลเมตร/ชั่วโมง
4. ประกอบไปด้วย 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา
5. เงินลงทุนทั้งหมด 224,544.36 ล้านบาท
6. ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี และเวลาให้บริการ 45 ปี รวม 50 ปี
7. เมื่อครบกำหนดแล้วทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐบาล
8. คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ
.
Marketeer ฉบับดิจิทัล :
อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
.
Related