อีคอมเมิร์ซไทย มูลค่าเท่าไร ? วิเคราะห์ 5 เรื่องจริงปวดใจของร้านค้าออนไลน์

จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ (ETDA) พบว่ามูลค่าของอีคอมเมิร์ซในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าจะสูงถึง 680,000 ล้านบาทภายในปี 2562 คิดเป็นประมาณ 20% ของมูลค่าการค้าปลีกของประเทศไทย

และปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซไทย มีเอสเอ็มอีเป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์มากกว่า 200,000 ราย บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Lazada, Shopee และ JD Central

และอีกกว่า 300,000 ราย ที่ค้าขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซ ทั้ง Facebook, LINE และ Instagram

พร้อมพงษ์ พัฒนธีระเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์และ Portfolio ธุรกิจ เอสเอ็มอี ทีเอ็มบี กล่าวว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ผลักดันให้เกิดการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีได้เพิ่มช่องทางหรือขยายธุรกิจผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ทำการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในธุรกิจออนไลน์อย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นแนวทางการให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเติบโต

โดยเผยผลงานวิจัย “5 เรื่องจริงปวดใจของร้านค้าออนไลน์” พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. ขายยังไงดี ของไม่มีจุดต่าง

ร้านค้าออนไลน์ถึง 60% พบว่าสินค้าของตนเองไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากซื้อสินค้าจากแหล่งเดียวกันถึง 44% และไม่สามารถสั่งผลิตสินค้าแยกได้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าการผลิตถึง 16%

แนวทางการแก้ไขคือ (1) เน้นกลยุทธ์การตลาดสร้างความต่างให้กับสินค้า เช่น การปรับปรุงและออกแบบหีบห่อบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้สวยงามทันสมัย ใช้งานสะดวกมากขึ้น หรือมีบริการพิเศษ (2) เจาะตลาดกลุ่มใหม่ๆ ที่มีการแข่งขันน้อยกว่า และ (3) คิดสินค้าให้แตกต่าง และหา OEM มาช่วยผลิต โดยเริ่มจากการผลิตในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ให้กับตนเอง และช่วยให้ธุรกิจยั่งยืนได้ในระยะยาว

2. ยิงแอดแทบตาย… ยอดขายไม่ปัง!!!

ร้านค้าออนไลน์ถึง 23% มองว่าการโฆษณาทางออนไลน์ที่ลงทุนไปได้ผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เนื่องจากไม่ได้ยอดขายสินค้ากลับมา และไม่ได้สร้างการรับรู้ของร้านค้าให้มากขึ้น

แนวทางการแก้ไขปัญหา เริ่มแรกร้านค้าออนไลน์ควรวิเคราะห์และทำความรู้จักลูกค้าของตนเองอย่างลึกซึ้งรอบด้านก่อน เช่น เพศ อายุ อาชีพ สถานที่ รวมไปถึงความสนใจและรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของลูกค้า และแบ่งเวลาในการเสริมสร้างความรู้ด้านการโฆษณา

3. สต็อกจ๋า ปัญหาใหญ่

พบว่า 89% ของร้านค้าออนไลน์ มีการขายสินค้าผ่านทางออฟไลน์ด้วย และทั้งหมดของกลุ่มนี้ ขายสินค้าออนไลน์มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม โดย 37% มีปัญหาการบริหารสต็อก ทำให้สูญเสียโอกาสการขาย เสียพื้นที่โกดังเก็บของ เพิ่มต้นทุน และเงินทุนจม

แนวทางการแก้ไขปัญหา หากร้านค้าออนไลน์ต้องการที่จะบริหารสต็อกเอง ก็ควรมีระบบที่จัดการที่ชัดเจน มีการอัปเดตตลอดเวลา และควรเก็บข้อมูลสต็อกไว้ในที่เดียว

4.จะส่งของให้ลูกค้า ยังต้องลุ้น

ร้านค้าออนไลน์ถึง  84% เคยประสบปัญหาในการจัดส่งสินค้า อาทิ สินค้าเสียหาย ส่งสินค้าล่าช้า ส่งสินค้าผิดที่ ลูกค้าปฏิเสธการรับสินค้า หรือลูกค้าคืนสินค้าหลังจากได้รับสินค้าแล้ว ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบข้อมูลก่อนการส่ง การเตรียมสินค้าเพื่อจัดส่ง ระหว่างการขนส่ง ไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบ และรับสินค้า

แนวทางการแก้ไขปัญหา ร้านค้าออนไลน์สามารถลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำระบบ การแปะรหัส ควรตรวจสอบสินค้าก่อนการส่ง ทั้งนี้ควรพิจารณาเลือกบริษัทขนส่งที่มีบริการดี น่าเชื่อถือ ก็จะช่วยลดปัญหาความไม่พึงพอใจของลูกค้าได้

5. จะร่วมเทศกาลเซลล์ทั้งที เงินมีไหม?

ร้านค้าออนไลน์ถึง 61% ต้องการเงินทุนที่เพียงพอในการเข้าร่วมเทศกาลเซลล์ครั้งใหญ่ที่ทางแพลตฟอร์มจัดขึ้น ซึ่งถือเป็น ‘ช่วงเวลาทองคำ’ ที่ร้านค้าออนไลน์จะสามารถเพิ่มยอดขายได้มากถึง 20-100 เท่า โดยจะต้องนำเงินทุนไปใช้เพื่อสต็อกสินค้า การซื้อโฆษณา และค่าจ้างโอทีของพนักงานเฉพาะช่วงเทศกาลดังกล่าว

แนวทางแก้ไขปัญหา ร้านค้าออนไลน์ควรมีการวางแผนการเงินที่ดี และเตรียมเงินสำรองสำหรับร่วมเทศกาลเซลล์ครั้งสำคัญ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางธุรกิจ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาและอัตราดอกเบี้ยของเงินทุนสำรองนั้นๆ ด้วย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online