เพราะโจ๊กกองปราบ หรือหมูทอดประมวญที่คุณสั่ง Delivery
อาจปรุงมาจากครัวของร้านอาหารในเครือเซ็นทรัลก็เป็นได้
จากจุดเริ่มต้นในการซื้อแบรนด์อาหารต่างประเทศเข้ามาบริหาร ไม่ว่าจะเป็น KFC, Auntie Anne’s, Mister Donut, Pepper Lunch, Chabuton, Cold Stone, Ootoya, Yoshinoya, Katsuya, Tenya
จนพัฒนามาทำแบรนด์ร้านอาหารเป็นของตัวเองอย่าง ไทยเทอเรส, อร่อยดี, สุกี้เฮ้าส์, ซอฟท์แอร์, เกาลูน
และตอนนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง Movement สำคัญของ Central Restaurant Group (CRG) กับแผนในการทำ Cloud Kitchen
การเริ่มลุกขึ้นมาทำ Cloud Kitchen ของ CRG มีที่มาที่ไปอย่างไร
ด้านล่างนี้คือคำตอบ
1
เล่าเป็น Background คร่าวๆ ให้เข้าใจกันก่อน ว่าในช่วงที่ผ่านมาอาหาร Street Food ในไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.7 แสนล้านบาท/ปี
โดยมีอัตราเฉลี่ยเติบโต 5%/ปี
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Street Food เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการมาของ Food Delivery ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Grab, Line หรือ GET ที่ทำให้ผู้คนเข้าถึง Street Food ได้สะดวกขึ้น
2
การเติบโตของ Street Food ในทุกปี จึงทำให้เครือร้านอาหารใหญ่ทั้งหลายต่างออกมาเปิดแบรนด์ใหม่ที่อยู่ในรูปแบบของ Street Food
เพื่อเข้ามาแย่งชิงโอกาสในตลาดนี้โดยเฉพาะ
3
หนึ่งในนั้นคือ CRG กับการส่งแบรนด์ที่ใช้ชื่อว่า ‘อร่อยดี’ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยตามสั่ง มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 69 บาท
โดยปัจจุบันร้านอร่อยดีมีทั้งหมด 12 สาขา สามารถสร้างยอดขายได้ 8 แสน-1.2 ล้านบาท/สาขา/เดือน
และภายในสิ้นปีนี้จะขยายให้ครบเป็น 15 สาขา
ส่วนปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 35 สาขา
บนทำเลที่เน้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย อย่างปั๊มน้ำมัน หรือ hypermarket
และเตรียมขยายเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ในต้นปีหน้ากับเป้าหมายระยะยาวคือ 300 สาขา ภายในเวลา 5 ปี และรายได้ซึ่งหวังไว้ที่ 2,000 ล้านบาท
โดยราคาแฟรนไชส์ร้านอร่อยดีอยู่ที่ราว ๆ 1.2-1.5 ล้านบาท
4
อร่อยดีเป็นร้านอาหารที่อยู่ในรูปแบบ hybrid
คือเหมาะกับทั้งนั่งกินที่ร้าน และแบบสั่ง Delivery กลับบ้าน
เมนูในอร่อยดีจะถูกคิดมาเผื่อการส่งแบบ Delivery ที่จะทำให้รสชาติของอาหารไม่ต่างจากตอนนั่งกินที่ร้านมากนัก
5
หากวัดกันด้วยรูปแบบของธุรกิจ คู่แข่งของอร่อยดีก็คือร้าน Street Food ในบริเวณรอบข้างที่พร้อมแย่งชิงพื้นที่ในกระเพาะอาหารของลูกค้า
5
แต่อร่อยดีกลับคิดต่าง เพราะแทนที่จะคิดว่าเป็นคู่แข่ง
เขากลับเปลี่ยนร้าน Street Food รอบข้างให้กลายเป็นคู่ค้า
ด้วยการเปิดครัวให้ Street Food เจ้าอื่นเข้ามาใช้พื้นที่ของร้านอร่อยดีในการปรุงอาหารได้
6
ที่มาที่ไปในการเปิดครัวให้ร้านอาหารเจ้าอื่นเข้ามาใช้นี้มาจาก pain point ของร้านอาหารเล็กๆ ที่อยากขยายธุรกิจ แต่ไม่มีเงินทุนและการจัดการที่แข็งแรงพอ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากร้านแกงไตปลาในหาดใหญ่ต้องการขยายสาขาเข้าไปในกรุงเทพฯ ถ้าไปด้วยตัวเองเพียงลำพัง ก็อาจตามมาด้วยต้นทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าพนักงาน หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่างๆ
แต่หากร้านแกงไตปลาร้านนั้นเข้ามาอยู่กับร้านอร่อยดีของ CRG ซึ่งมีสาขากระจายอยู่มากมาย
ร้านแกงไตปลาร้านนั้นก็จะได้โอกาสในการขยายตามไปด้วย จากที่เคยขายอยู่แค่ในหาดใหญ่ ก็มีโอกาสขยายมาสู่กรุงเทพฯ ได้
ส่วน CRG ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นค่าเช่าพื้นที่, คอมมิชชั่นจากการขาย และอีกหลายดีลแตกต่างกันไปแล้วแต่จะตกลงกัน
ซึ่งผลตอบแทนเหล่านี้ก็ล้วนเกิดจากสิ่งที่ CRG มีอยู่แล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หรือสถานที่ก็ตาม
โดยตอนนี้มี Street Food 2 เจ้าที่เข้ามาอยู่กับร้านอร่อยดี นั่นคือร้านโจ๊กกองปราบและร้านหมูทอดประมวญ
และกำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาพูดคุยกับ Street Food อีก 5-10 เจ้า เพื่อนำเมนูต่างๆ เข้ามาขายทั้งแบบนั่งและแบบ Delivery
7
จากโมเดลของร้านอร่อยดี CRG จึงมีแผนที่จะทำ Cloud Kitchen เป็นพื้นที่ที่มีร้านอาหารหลากหลายแบรนด์อยู่ในครัวเดียวกัน
โดยการทำ Cloud Kitchen ใช้เงินในการลงทุน 2-3 ล้านบาท
ซึ่งรายได้ของ Cloud Kitchen มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบให้เช่าพื้นที่, แบบที่ทางร้านให้สูตรมาแล้วให้คนของ CRG ปรุงให้
และอีกมากมายแล้วแต่ตกลงกัน
8
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นกลยุทธ์ที่ CRG หวังจับโอกาสตลาด Street Food และ Food Delivery ที่เติบโตขึ้นทุกวัน
โดย ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง CRG คาดว่าในปี 2019 CRG จะมียอดขายที่มาจาก Delivery 6-7% (ไม่นับรวม KFC)
คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 300%
และคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า CRG จะมียอดขายที่มาจากช่องทางออนไลน์ 20%
9
ไม่เพียงแต่ร้านอร่อยดีเท่านั้น เพราะอนาคต CRG ก็เตรียมปรับร้านอาหารที่มีอยู่ในมือให้มีความ Hybrid มากขึ้น
คือต้องรองรับลูกค้าที่นั่งกินในร้านได้, รองรับลูกค้าที่สั่งกลับบ้านได้แบบไม่ต้องมานั่งรอหน้าร้าน
และที่สำคัญรองรับกับ Mega Trend อย่าง Food Delivery ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกวัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



