แกรมมี่กับอาร์เอส สองค่าย แต่ชะตากรรมเดียวกัน วิเคราะห์กลยุทธ์ของเฮียฮ้อและอากู๋ จากนี้จะอยู่อย่างไร ?
เมื่อธุรกิจค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย แกรมมี่กับอาร์เอส ถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ววันนี้รายได้หลักของ 2 ค่ายนี้จะมาจากทางไหน ?
ปีที่แล้วแกรมมี่เพิ่งเห็นกำไรครั้งแรกในรอบ 7 ปี และมาไตรมาส 3 ปี 2562 นี้กำไรยังเพิ่มต่อเนื่อง
มาดูกันว่าแกรมมี่วางแผนแก้เกมฝ่าวิกฤตครั้งนี้มาได้อย่างไร
เมื่อออนไลน์ “มา” แกรมมี่ก็เอาเพลงเข้า “ไป” อยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Joox, LINE TV, Netflix, Spotify, และ AIS Play เพื่อให้แฟนเพลงสามารถเลือกฟังเพลงออนไลน์แบบทันทีจากเพลย์ลิสต์
พร้อมๆ กับให้ความสำคัญในธุรกิจ Showbiz และที่มาแรงคือธุรกิจอีเวนต์ และสปอนเซอร์
วันนี้รายได้หลักของแกรมมี่ยังคงมาจากธุรกิจเพลงเป็นหลักประมาณ 54%
ในขณะเดียวกันก็ใช้กลยุทธ์ รวมกันเราอยู่รอด
รายได้หลักรองจากธุรกิจเพลง คือธุรกิจขายของออนไลน์ ‘โอ ช้อปปิ้ง (O Shopping) ที่แกรมมี่ไปร่วมทุนกับเกาหลี เน้นการขายผลิตภัณฑ์ความงามกับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น
ไปร่วมกับตระกูล “ปราสาททองโอสถ” เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพและสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ เข้ามาร่วมลงทุนช่อง ONE 31
ไปดึงตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เข้ามาเพิ่มทุนในช่อง GMM 25 ด้วยเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท ถือหุ้น 50%
เป็นการแก้ปัญหาการขาดทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง ที่ทำให้ตัวเลขขาดทุนของแกรมมี่เด้งไปแตะหลักพันล้านเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558
เม็ดเงินที่ได้มาส่วนหนึ่งถูกนำไปลงทุนพัฒนาคอนเทนต์ในช่องทำให้ช่องวัน 31 ติด Top5 เป็น ครั้งแรกเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา กลายเป็นช่องที่อยู่ในสายตาของลูกค้ามากขึ้น เป็นความหวังในเรื่องรายได้การโฆษณาตามที่คาดการณ์ไว้
ล่าสุดยังได้จับมือกับกลุ่มโมโนผลิตคอนเทนต์ร่วมกัน โดยแกรมมี่จะได้เข้าถึงผู้ชมผ่านช่องทางที่แกรมมี่ยังไม่มี เช่น สตรีมมิ่ง, ทีวีบรอดแบนด์ และ IPTV เป็นต้น ในขณะเดียวกันตัวศิลปิน ดาราของแกรมมี่จะทำให้โมโน ขยายกลุ่มคนดูได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
คงต้องรอเวลาว่า “อากู๋” จะทำให้แกรมมี่กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งได้หรือไม่
ส่วน ค่ายอาร์เอส ต้องบอกว่าอดีตเคยเป็นค่ายเพลงใหญ่ คู่แข่งสำคัญของแกรมมี่ วันนี้ “เพลง” ที่เคยเป็นขุมทรัพย์ได้เลือนหายไป ภาพของธุรกิจใหม่ “สุขภาพความงามและพาณิชย์” (Multi-platform Commerce หรือ MPC) ขึ้นมาแทนที่
เรื่องราวของอาร์เอสน่าจะดราม่ามากๆ แต่ปีที่ผ่านมากลับทำรายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 37 ปี โดยรายได้อยู่ที่ 3,955 ล้านบาท กำไรสุทธิ 516 ล้านบาท
เป็นรายได้จากธุรกิจใหม่ 2,126 ล้านบาท คิดเป็น 55.6% ในขณะที่รายได้จากเพลงเหลือเพียง 355 ล้านบาท ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำไป
ศิลปิน นักร้อง ของอาร์เอสที่เคยมีถึง 2-300 คนในยุครุ่งเรือง วันนี้เหลือศิลปินที่ทำธุรกิจร่วมกันประมาณ 20-30 คน ในขณะที่ธุรกิจ MPC มีมากกว่า 500 คน
พร้อมๆ กับการรีแบรนด์องค์กรครั้งใหญ่ ทั้งโลโก้ สโลแกน และโครงสร้างการทำงานที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพื่อสะท้อนตัวตนใหม่ให้ชัดเจนขึ้น
เป็นตำนานบทใหม่ของบริษัท อาร์เอส ที่ทำให้ “เฮียฮ้อ” บอกว่าวัย 50 กว่าของตน กำลังสนุกกับงานชิ้นใหม่ และกลายเป็นคนหนุ่มอายุ 19 ปี อีกครั้ง
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ