โรงรับจำนำ แหล่งเงินด่วนของคนไทยถึงเวลาปรับตัวสู้ Disruption (วิเคราะห์)

โรงรับจำนำ หรือที่คนสมัยก่อนขนานนามว่าเป็น ‘ธนาคารคนยาก’ เพราะเป็นแหล่งเงินกู้ทางเลือกของผู้ทื่ไม่มีเครดิต (Credit) แต่มีทรัพย์สินจึงใช้เป็นเครื่องค้ำประกันแทน  

ว่ากันว่า ผู้ตั้งโรงรับจำนำแห่งแรกเป็นชาวจีนชื่อ “ฮง” เปิดขึ้นในปี 2404 หรือสมัยรัชกาลที่ 4 ย่านประตูผี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของ ‘โรงรับจำนำสำราญราษฎร์’  …แต่มีอีกหลักฐานระบุว่า โรงรับจำนำอาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพบว่ามีพระราชกำหนดที่ออกสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปี 2284 ที่ห้ามไม่ให้จำนำสิ่งของในเวลากลางคืน เพราะจะเกิดการลักขโมยได้ง่าย

มาถึงวันนี้ โรงรับจำนำก็ยังอยู่เป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากกับคนไทยบางกลุ่ม และเพื่อให้ธุรกิจโรงรับจำนำยังไปต่อได้ท่ามกลางการแข่งขันในยุคปัจจุบัน ที่ทางเลือกเงินกู้มีมากขึ้น แถมยังทำได้ง่ายเพียงแค่กดมือถือ โรงรับจำนำหลายแห่งพากันปรับตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โรงรับจำนำ Easy Money โรงรับจำนำเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย ที่ประกาศเดินหน้าปรับตัวเพื่อเป็น ‘สถาบันสินเชื่อทางเลือก’ คู่คนไทย

Pain Point จากสินเชื่อธนาคาร สู่โรงรับจำนำรายใหญ่

โรงรับจำนำ  Easy Money  ของบริษัท ตั้งธนสิน จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดย คุณสิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านสินเชื่อเพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อประกอบอาชีพ โดยเขาเห็นถึง Pain Point ของผู้ขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ยุคนั้น ที่ว่ากว่าจะได้เงินต้องใช้เวลาพิจารณานาน ขั้นตอนยุ่งยาก เอกสารมากมาย แถมบางรายลงท้ายด้วยการถูกปฏิเสธ

ขณะที่จุดเด่นของโรงรับจำนำคือ รวดเร็ว ขั้นตอนน้อย ได้เงินง่าย และได้เงินชัวร์ (กรณีที่ของจำนำไม่มีปัญหา) เพราะเป็นการนำทรัพย์สินมาแปลงเป็นเงินสด ที่ผ่านมา โรงรับจำนำจึงถือเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกอันดับต้นในยามที่ประชาชนต้องการสินเชื่อเร่งด่วน

โรงรับจำนำ  Easy Money สาขาแรกเปิดตัวที่เมืองรังสิต  จ. ปทุมธานี  เมื่อปี 2548 จากนั้นก็ขยายตัวมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีทั้งหมด  50 สาขาใน 28 จังหวัดครบทุกภาค แต่ยังไม่มีในกรุงเทพฯ นอกจากนี้  Easy Money ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าหลุดจำนำภายใต้ชื่อ Easy Money Shop อีก 2 แห่ง ที่เซ็นทรัลพระราม 3 และที่นครราชสีมา

สำหรับเหตุผลที่ Easy Money ไม่มีโรงรับจำนำในกรุงเทพฯ คุณสิทธิวิชญ์กล่าวว่า อาจเป็นเพราะกระทรวงมหาดไทย (ผู้ออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงรับจำนำ) มองว่ากรุงเทพฯ มีโรงรับจำนำอยู่มากแล้ว

คุณสิทธิวิชญ์ระบุว่า ปัจจุบันโรงรับจำนำทั่วประเทศน่าจะมีราว  800 แห่ง แบ่งเป็น

  1. ‘สถานธนานุเคราะห์’ หรือโรงรับจำนำของรัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 39 แห่ง เฉพาะในกรุงเทพฯ มีมากถึง 29 แห่ง
  2. ‘สถานธนานุบาล’ แบ่งเป็น โรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร 21 แห่ง และโรงรับจำนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีกเกือบ 240 แห่ง
  3. โรงรับจำนำเอกชน กระจายอยู่ทั่วประเทศราว 500 แห่ง

Easy Money ถือเป็นโรงรับจำนำที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย และอาจเรียกได้ว่าเป็นโรงรับจำนำเอกชนที่มีเงินหมุนเวียนในกิจการสูงที่สุดแห่งหนึ่งของไทย โดยมีกระแสเงินหมุนเวียนเฉลี่ยเดือนละ 2,000-3,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี

ผลประกอบการปี  2561 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่  2,744,346,295.8 บาท เติบโตจากปี 2560 กว่า 13% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่  33,245,518.9 บาท  เติบโตจากปี  2560 ถึงกว่า 40% แหล่งรายได้หลักของธุรกิจมาจากดอกเบี้ย ขณะที่รายได้รองคือ การขายสินทรัพย์หลุดจำนำ 

ภาพจำด้านลบ …ความท้าทายใหญ่ในธุรกิจโรงจำนำ

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงรับจำนำ Easy Money ยังคงเติบโตได้ดี ปัจจุบันมีฐานลูกค้าหลายแสนราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและธุรกิจ SME ขนาดเล็กประมาณ 25% จากเดิม 23% โดยเหตุผลที่ SME เพิ่มขึ้นเป็นเพราะโรงรับจำนำช่วยเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นสภาพคล่องให้กับกิจการได้ทันกับความต้องการหรือความจำเป็นของธุรกิจได้เป็นอย่างดี ส่วนที่เหลืออีก 75% เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและคนทั่วไป

ถึงที่ผ่านมาธุรกิจจะเติบโตเป็นอย่างดี แต่คุณสิทธิวิชญ์มองว่า มีอุปสรรคสำคัญที่ท้าทายธุรกิจโรงรับจำนำ และต้องก้าวข้ามไปให้ได้เพื่อจะได้เติบโตต่อไปในอนาคต

ความท้าทายนั้นคือ ภาพจำในอดีตของโรงรับจำนำตั้งแต่ม่านไม้ไผ่หรือกระจกทึบปิดบังประตูเข้าออก ทำให้คนภายนอกไม่อาจมองเห็นคนข้างในได้ชัดเจน บวกกับสภาพภายในตึกที่สีค่อนข้างมืดทึบ และลูกกรงเหล็ก ทำให้บรรยากาศดูไม่ค่อยเป็นมิตร ยิ่งมาได้ยินกรณีผู้จำนำถูกกดราคา ถูกสับเปลี่ยนทอง ของจำนำถูกทำให้เสียหาย นี่ยังไม่นับรวมภาพหมึกสีน้ำเงินติดอยู่ที่หัวแม่มือที่เป็นหลักฐานการเข้าโรงจำนำ ฯลฯ

ทั้งหลายเหล่านี้ คุณสิทธิวิชญ์มองว่าล้วนทำให้ภาพลักษณ์การเข้าโรงจำนำกลายเป็นเรื่องน่าอาย ต้องปกปิด และหลายคนเลือกที่จะเลี่ยงไปใช้บริการสินเชื่อจากแหล่งอื่น รวมถึงยอมเป็นหนี้บัตรเครดิต ยอมกู้นอกระบบ ทั้งที่ดอกเบี้ยของโรงรับจำนำถูกกว่าตั้งเยอะ

เพื่อลบภาพจำแย่ๆ เหล่านี้ คุณสิทธิวิชญ์จึงพยายามยกระดับโรงรับจำนำ Easy Money โดยชูแนวคิดในการเป็น ‘สถาบันสินเชื่อทางเลือกของคนไทย’ ด้วยการเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มบรรยากาศและบริการที่เป็นมิตร ควบคู่ไปกับการตอกย้ำจุดแข็งของโรงรับจำนำในเรื่องของ ‘การได้เงินง่าย ได้เงินเร็ว ได้เงินชัวร์’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การปรับตัวใน 3 (+1) เรื่องของ Easy Money

1. ใช้เทคโนโลยีและดีไซน์ใหม่

โรงรับจำนำ Easy Money พลิกโฉมโรงรับจำนำใหม่ โดยใช้วิธีติดกระจก ตกแต่งให้ดูทันสมัย โอ่โถงโล่งสบาย สีสันสดใส  เปลี่ยนจากลูกกรงเหล็กเป็นเคาน์เตอร์กระจก เพื่อให้ลูกค้าสามารถเห็นตาชั่งและการจัดเก็บทรัพย์ของตัวเองได้อย่างชัดเจน  นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ให้บริการ  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออกตั๋ว คิดและคำนวณดอกเบี้ย ใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ด และ Finger Scan เพื่อยืนยันตัวตนและความเป็นเจ้าของทรัพย์ แทนการปั๊มหัวแม่มือ

2. ใช้ความเป็นมืออาชีพ

เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็ว อีกกุญแจในการให้บริการ คือความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ในการแยกแยะและประเมินทรัพย์สินได้อย่างแม่นยำ ซึ่งคุณสิทธิวิชญ์บอกว่าทักษะของ Easy  Money ทำให้ลูกค้าที่นำทองมาจำนำจะได้รับเงินภายใน 3 นาที ขณะที่ทรัพย์สินประเภทอื่นจะใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 20-30 นาที

เกณฑ์ทั่วไปในการประเมินราคาทรัพย์สินหรือของที่เอาไปจำนำจะได้เงินมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ 1) สภาพคล่องทรัพย์สินในการขายทรัพย์นั้น ถ้าซื้อง่ายขายคล่องก็จะได้ราคาประเมินดี 2) ราคาตลาดของทรัพย์นั้น เช่น ราคาทอง ณ วันนั้น หรือราคากระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นนี้ในตลาดซื้อขายกันที่เท่าไร ฯลฯ และ 3) สภาพความสมบูรณ์ของทรัพย์ที่นำมาจำนำ  เช่น ไม่มีตำหนิ มีใบรับประกัน ฯลฯ

คุณสิทธิวิชญ์เล่าว่า ด้วยความชำนาญของเจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์สินของที่นี่ ทำให้ Easy Money มีความสามารถในการรับจำนำของได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ทอง เพชร นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนม ถุงกอล์ฟแบรนด์เนม รองเท้าแบรนด์เนม ไปจนถึงของสะสมอย่างตุ๊กตาบลายธ์ ตุ๊กตาเฟอร์บี้  กีตาร์รุ่นลิมิเต็ด หรือพระเครื่องเกจิดัง ฯลฯ

3. ใช้มาตรฐานบริการเดียวกับธนาคาร 

เพื่อให้ผู้ใช้บริการยอมรับและเชื่อถือ คุณสิทธิวิชญ์มองว่า มาตรฐานในการเก็บรักษาทรัพย์จำนำต้องดีเทียบเท่าสถาบันการเงินชั้นนำ โดยที่ Easy Money เครื่องประดับทองและเพชรทุกชิ้นจะถูกเก็บในซองพลาสติกอย่างหนารีดร้อนทั้ง 4 ด้าน เพื่อไม่ให้ทรัพย์กระทบกันจนเกิดเป็นรอย และทรัพย์จำนำจะถูกเก็บอย่างเป็นระบบใน ‘ห้องมั่นคง’

คุณสิทธิวิชญ์เล่าว่า ด้วยมาตรฐานการเก็บรักษาทรัพย์ที่เทียบเท่าหรือดีกว่าทำให้มีลูกค้าบางรายเลือกที่จะนำทรัพย์มาฝากที่โรงรับจำนำ Easy Money แทนฝากกับธนาคาร โดยยอมเสียดอกเบี้ยเป็นค่าฝากทรัพย์

นอกจากนี้ โรงรับจำนำ Easy Money ยังเน้นบริการด้วยความสุภาพและสร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วยบริการเสริมอื่นๆ เช่น บริการเตือนเพื่อไม่ให้ลูกค้าเผลอปล่อยทรัพย์หลุดจำนำ และห้องรับรองมิดชิด (ห้อง VIP) สำหรับลูกค้าที่จำนำหลายชิ้น พร้อมด้วยเครื่องนับเงินเสร็จสรรพ เป็นต้น

4. ใช้ Wording  ใหม่

นอกจากความพยายามในการปรับปรุงรูปโฉม ระบบ และบริการของโรงรับจำนำ อีกกลยุทธ์ที่คุณสิทธิวิชญ์พยายามใช้เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์เชิงลบของการจำนำและผู้ใช้บริการโรงรับจำนำ คือวาทกรรมที่ว่า….

“ผู้ใช้บริการโรงรับจำนำ คือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการเก็บออมและมักซื้อของสะสมมีค่าตามรสนิยม แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้เงินด่วนก็รู้จักบริหารสภาพคล่องอย่างชาญฉลาด และรู้จักพึ่งพาตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นเงินสด (หรือเปลี่ยนเป็นทุนสำหรับกลุ่ม SME) แล้วเมื่อได้รายได้มาก็กลับมาไถ่ถอน โดยเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าแหล่งสินเชื่อหลายๆ แห่ง”

ซึ่งฟังดูก็ไม่ใช่การเยินยอลูกค้าที่เกินไปนัก เพราะเมื่อดูจากอัตราผู้จำนำที่ปล่อยให้ทรัพย์หลุดซึ่งมีเพียง 5% ของผู้จำนำทั้งหมด ก็สะท้อนวินัยการใช้เงินของผู้ใช้บริการจำนำได้ ไม่มากก็น้อย

ทรัพย์สินยอดฮิตที่ถูกจำนำ

สำหรับสินค้ายอดฮิตที่ถูกจำนำที่โรงรับจำนำ Easy Money มากที่สุด 5 อย่าง ได้แก่

1) ทองคำและเครื่องประดับทอง มีสัดส่วนสูงถึง 70-80%

2) เพชรและเครื่องประดับเพชร

3) นาฬิกาตั้งแต่แบรนด์ยอดนิยมอย่าง G-Shock ไปถึงแบรนด์หรู

4) สินค้าแบรนด์เนม ถือเป็นของจำนำที่มาแรงมากในช่วงหลัง เนื่องจากคนรุ่นใหม่นิยมสะสมของแบรนด์เนมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีคนนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าซื้อง่ายขายคล่อง

5) สินค้าไอที รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่

ส่วนสินค้าที่ไม่รับจำนำ ได้แก่ ทรัพย์สินที่กฎหมายระบุให้ต้องมีทะเบียน เช่น ปืน, รถ ฯลฯ

เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยโรงรับจำนำ

ข้อมูลจากสำนักงานสถานธนานุเคราะห์ ระบุว่า

เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาทคิด อัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อเดือน

เงินต้น 5,001 บาท  แต่ไม่เกิน  10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน

เงินต้น 10,001 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.00% ต่อเดือน

และเงินต้น 20,001 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน

ข้อมูลจากเว็บไซต์สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ระบุว่า

เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.25 % ต่อเดือน

เงินต้น 5,001 – 15,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.00 % ต่อเดือน

เงินต้นเกิน 15,000 บาท การคิดดอกเบี้ยแบ่งเป็น เงินต้น 2,000 บาทแรก 2 % ส่วนที่เกิน 2,000 บาท 1.25 % ต่อเดือน

ข้อมูลจาก โรงรับจำนำ Easy Money ระบุว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำเอกชนเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 โดยกำหนดว่า

เงินต้น 2,000 บาทแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน ส่วนที่เกินจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน

พูดง่ายๆ ก็คือเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 1.25% ต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และเงินกู้นอกระบบ แน่นอน!!

ของหลุดจำนำ… ช้อปปิ้งทางเลือกของคนฉลาดซื้อ

ตามกฎหมายระบุว่า  เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเกินระยะเวลา 4 เดือน กับอีก 30 วัน จะถือว่าทรัพย์ที่นำมาจำนำนั้นกลายเป็นทรัพย์หลุด ตกเป็นสิทธิ์ของโรงรับจำนำ ซึ่งถ้าเจ้าของทรัพย์อยากได้คืนจะต้องทำการประมูลหรือซื้อคืนจากโรงรับจำนำ

หมายความว่า  ตราบใดที่ผู้จำนำยังคงจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่นำไปจำนำก็ยังจะเป็นของตนจนกว่าจะขาดส่งดอกเบี้ยเกินกว่า  4 เดือนกับอีก  30 วัน

สำหรับโรงรับจำนำ Easy Money ค่าเฉลี่ยของผู้ที่ปล่อยทรัพย์หลุดจำนำในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 5% ของจำนวนผู้จำนำทั้งหมด ซึ่งเทียบเท่ากับ 5% ของจำนวนทรัพย์ที่ถูกจำนำ ยกเว้นปีที่เศรษฐกิจไม่ดี อัตราส่วนของทรัพย์หลุดจะเพิ่มขึ้น

สำหรับทรัพย์ที่หลุดจำนำจะถูกขายผ่านสาขาทั้ง 50 สาขา บางชิ้นอาจถูกนำไปขายในร้าน Easy Money Shop ซึ่งมีสาขาอยู่ที่เซ็นทรัลพระราม 3 และที่นครราชสีมา นอกจากนี้ ผู้สนใจสินค้าหลุดจำนำของ Easy Money ยังสามารถเข้าไปดูสินค้าได้ที่เว็บไซต์และ Facebook ของร้าน โดยคุณสิทธิวิชญ์ย้ำว่า จุดเด่นของสินค้าหลุดจำนำของ Easy Money คือของทุกชิ้นมีใบรับประกัน ขณะที่เครื่องประดับเพชรจะรับประกันจำนำคืนถึง 80%

พฤติกรรมจำนำกับดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ

จากประสบการณ์ในธุรกิจโรงรับจำนำมากว่า 15 ปี คุณสิทธิวิชญ์ได้ให้ข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจโดยส่องผ่านพฤติการณ์โรงรับจำนำ  โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวหรือเศรษฐกิจทรงตัว การเข้าโรงจำนำก็เพิ่มขึ้นได้เนื่องจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและ SME (ใจสู้) ที่เห็นโอกาสในการขยายกิจการ จะมีต้องการเงินทุนระยะสั้น (เร่งด่วน) เพื่อมาหมุนเวียนในธุรกิจ และไปซื้อสินค้ามาสต๊อกเพิ่มให้ท้นกับการบริโภคที่ฟื้นตัว
  2. ผู้จำนำส่วนใหญ่มักไม่ปล่อยให้ทรัพย์หลุด ยกเว้นปีที่เศรษฐกิจฝืดเคืองมากๆ คนได้รับโบนัสน้อยลง คนมีรายได้ลดลง และมีคนตกงานเพิ่มขึ้น ปีนั้นทรัพย์จะหลุดเยอะ (นั่นแปลว่าไม่มีแม้กระทั่งเงินส่งดอกเบี้ย)
  3. ในปีที่เศรษฐกิจดี  การไถ่ถอนทรัพย์จำนำจะสูง (ทรัพย์หลุดจะน้อย) โดยช่วงเวลาที่คนนิยมมาไถ่ถอนกันมากๆ คือช่วงปลายปีที่โบนัสออก และช่วงก่อนปิดสงกรานต์ เนื่องจากคนต้องการใส่ทองกลับบ้าน
  4. ช่วงที่มีคนเข้ามาจำนำเยอะกว่าช่วงเวลาปกติ คือช่วงก่อนเปิดเทอม โดยจะมีอัตราผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 40-50%
  5. ช่วงที่ราคาทองตก ธุรกิจโรงรับจำนำมักจะแย่

 

สุดท้ายนี้ คุณสิทธิวิชญ์สรุปว่า จากดัชนีโรงรับจำนำ เศรษฐกิจปี 2562 ที่ผ่านมาถือว่าทรงตัวใกล้เคียงกับปี  2561 อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจโรงรับจำนำปีที่ผ่านมาเติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า  10% ขณะที่ Easy Money โตถึงกว่า 20%

สำหรับเศรษฐกิจปี 2563 ผู้บริหาร Easy Money มองว่าน่าจะทรงตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่สำหรับ Easy Money ตั้งเป้าจะขยายสาขาเพิ่มอีก 10 สาขาภายในปีนี้ และเป้าการเติบโตไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online