คนหรือสิ่งของอายุหลักร้อย สามารถเรียกความสนใจได้เสมอ เพราะมันมาพร้อมเรื่องราว การข้ามผ่านยุคสมัยและความคงทนส่วนถ้าในทางธุรกิจ บริษัทหรือแบรนด์ที่อยู่มานานนับศตวรรษ เป็นการตอกย้ำถึงการยืนระยะได้อย่างยาวนาน และความสามารถในการฝ่าฟันอุปสรรค โดย Tesco เป็นหนึ่งในแบรนด์ค้าปลีกไม่มากที่อยู่มาจนครบ 100 ปี

ล่าสุด Tesco เรียกความสนใจได้อีกครั้ง โดยเฉพาะกับชาวไทย หลังมีข่าวว่าเตรียมขายธุรกิจในไทย รวมถึงมาเลเซีย ให้ 1 ใน 3 ค่ายค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ด้วย Deal ที่อาจเฉียด 300,000 ล้านบาท

 

การสร้างตัวของทหารผ่านศึก สู่แบรนด์ค้าปลีกระดับโลก

Tesco ตั้งต้นมาจากการเปิดแผงขายของเหลือใช้จากกองทัพของ Jack Cohen ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอังกฤษ ในตลาดย่าน East End ทางตะวันออกของกรุงลอนดอนเมื่อปี 1919 หลังธุรกิจเริ่มไปได้สวย Jack Cohen จึงขยับขยายสู่ร้านค้าในอีก 10 ปีถัดมา

Jack Cohen Tesco Jack Cohen ผู้ก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Tesco  

ส่วนชื่อร้าน Tesco เป็นการนำตัวอักษร 3 ตัวแรก (TES) ของ T.E. Stockwell บริษัทขายชาที่ Jack Cohen ซื้อกิจการมา รวมกับตัวอักษรสองตัวแรก (CO) จากนามสกุล Jack Cohen เอง

Tesco tea

ถัดมาระหว่างปี 1930–1939 Tesco ก็มีความก้าวหน้าทางธุรกิจด้วยการขยายสาขา มีโกดังขนาดใหญ่ที่ช่วยให้ซื้อสินค้าได้คราวละมากๆ จนสามารถลดราคาให้ถูกกว่าคู่แข่ง พอถึงปี 1947 Tesco ก็กลายเป็นบริษัทใหญ่ของอังกฤษ ยืนยันได้จากทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์

Tesco IPO

เวลาต่อมา Tesco ก็ไม่หยุดแค่การขายสด เริ่มด้วยการเปิดสาขาแบบ Supermarket ที่มีขนาดใหญ่ในปี 1958, เพิ่มของใช้ในบ้านและเสื้อผ้าเข้ามาในปี 1960, ขยายสาขาในอังกฤษได้อีกนับร้อยผ่านสาขาของบริษัทเองและการซื้อกิจการของคู่แข่งขนาดเล็กกว่า ในปี 1963 และเปิดปั๊มน้ำมันในปี 1973

Tesco Gas

ปี 1979 พนักงาน Tesco ได้รับข่าวเศร้าจากการเสียชีวิตของ Jack Cohen ผู้ก่อตั้งและ CEO คนแรก แต่แบรนด์ค้าปลีกที่ ณ เวลาดังกล่าวดำเนินธุรกิจมาเกินครึ่งศตวรรษ ยังคงก้าวหน้าตามลำดับ

ปี 1985 ผลิตอาหารภายใต้แบรนด์ชื่อเดียวกับบริษัทเพื่อจับตลาดคนใส่ใจสุขภาพ พอถึงยุค 90 ก็รุกตลาดต่างประเทศ ขยายสาขาเข้าไปไอร์แลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเชค อินเดีย มาเลเซีย และไทย

Tesco More

ปี 2003 จับมือกับ O2 ค่ายโทรคมนาคมอังกฤษ รุกวงการโทรคมนาคมทั้งในอังกฤษและยุโรปอีกหลายประเทศ ท่ามกลางความนิยมของโทรศัพท์มือถือ แต่นับจากปี 2010 สาขาในหลายประเทศยอดขายตกจนต้องถอนตัว เริ่มจากฝรั่งเศสตามด้วยสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นในปี 2013 จนถึงเกาหลีใต้กับตุรกีในปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ

Tesco-Extra-store

ผลกระทบของข่าวการถอนตัวจากหลายประเทศ และการถูกปรับเป็นเงินก้อนโตในข้อหาตกแต่งบัญชีเกินจริง ฉุดมูลค่าแบรนด์ Tesco ร่วงในปีต่อๆ มา จาก 12,499 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 374,970 ล้านบาท) ในปี 2016

สู่ 10,843 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 325,290 ล้านบาท) ในปี 2017 และ 9,926 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 297,780 ล้านบาท) ในปี 2018

Dave Lewis–CEO คนที่ 7 นับจากก่อตั้งบริษัท และคนแรกที่ไม่ได้เติบโตมาในองค์กร พา Tesco ฝ่าวิกฤตในเวลานั้น ด้วยแผนปรับลดค่าใช้จ่ายและเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก จนได้ฉายาว่า Drastic Dave

Dave Lewis Tesco Dave Lewis

พอถึงปี 2019 ยอดขายของ Tesco ขยับขึ้นมาเป็น 73,941 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) เช่นเดียวกับมูลค่าแบรนด์ที่กลับขึ้นเป็น 11,296 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 338,880 ล้านบาท)

แต่ปลายปี 2019 Dave Lewis ก็ประกาศว่าจะลาออก และให้ Ken Murphy จาก Boots เข้ามาเป็น CEO คนใหม่ ตั้งแต่ราวเมษายนปีเป็นต้นไป

Murphy Tesco Ken Murphy

จับตา Deal ขายธุรกิจในเอเชียของ Tesco

ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผู้บริหาร Tesco กลายเป็นข่าวดังอีกครั้ง หลังประกาศว่าจะขายกิจการในไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีสาขารวมกันกว่า 2,000 แห่ง และพนักงานกว่า 60,000 คน ทั้งที่ยังทำกำไรได้ไม่ใช่น้อย

และสามารถเติบโตได้อีก โดยมีข่าวว่า ทั้ง CP, Central และ BJC ต่างให้ความสนใจใน Deal นี้ที่อาจมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 300,000 ล้านบาท

CP ดูจะเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งเพราะเคยจับมือกับ Tesco นำ Tesco มาเข้ามาเปิดตลาดในไทย เมื่อปี 1994 แต่วิกฤตเศรษฐกิจในไทยและเอเชียในอีก 4 ปีถัดมา บีบให้ต้องขายคืนหุ้นทั้งหมดให้ Tesco ไป

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความแข็งแกร่งของ CP ในตลาดค้าปลีก สะดวกซื้อและความพร้อมด้านต่างๆ ในปัจจุบัน CP จึงอยากได้ คว้าธุรกิจในไทยของ Tesco ภายใต้ชื่อ Tesco Lotus กลับมาอยู่ในมือ พร้อมในมาเลเซียพ่วงมาด้วย

Tesco Lotus

อีกประเด็นที่ทำให้ Deal นี้ถูกจับตามองคือการผูกขาดตลาดค้าปลีก โดยเฉพาะในไทยที่ยังต้องพิจารณาว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

ส่วนในกรณีที่ Deal นี้ฝ่าด่านกฎหมายผูกขาดกิจการค้าปลีกไปได้ คาดว่า Tesco จะนำเงินก้อนโตที่ได้ไปใช้ปรับโครงสร้างธุรกิจ หลังผู้บริโภคในอังกฤษและสหราชอาณาจักรหันไป ‘ช้อปออนไลน์’ มากขึ้น เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และผลกระทบจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit)/referenceforbusiness, bbc, theguardian, tesco, branddirectory



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online