วิดีโอสตรีมมิ่ง ทางที่ต้องไปของ Big Screen เพราะวันนี้คู่แข่งมากเหลือเกิน (วิเคราะห์)

ดูรายการผ่านทีวีไม่ทัน ดูย้อนหลังออนไลน์ได้ที่ YouTube, LINE TV หรือแม้แต่แอปพลิเคชันส่วนตัวของช่อง

ค่ายหนังอย่าง GDH ต่อยอดธุรกิจจากหนังในโรงภาพยนตร์สู่ซีรีส์ใน LINE Original

ค่ายเพลงและผู้ผลิตคอนเทนต์อย่าง GMM Grammy ทดลองผลิตซีรีส์ลง Netflix Original โดยมีเรื่อง เคว้ง เป็นเรื่องแรก

การกระโดดเข้ามาของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งน้องใหม่อย่าง Disney+ ที่ได้ถอนคอนเทนต์ของตัวเองออกจาก Netflix มาทำสตรีมมิ่งของตัวเองออกสู้ จากการมองเห็นโอกาสที่สวยงามในตลาดนี้

ไม่รวมถึง YouTube ที่อาศัยความนิยมในการชมคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์ม เปิดบริการสมาชิกรายเดือน YouTube Premium ดู YouTube โดยไม่มีโฆษณา

ทั้งหมดนี้มาจากการเติบโตของพฤติกรรมการดูวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์ ทั้งสิ้น

ส่วนในประเทศไทย จากการสำรวจพฤติกรรมการรับชมรายการสื่อภาพเคลื่อนไหว 2019 โดยสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 8,588 คน ทั่วประเทศ พบว่า

คนไทยที่ชมรายการทีวีตามตารางออกอากาศเพียงอย่างเดียวมีสัดส่วนเพียง 49.9%

ชมรายการทีวีตามตารางออกอากาศควบคู่ไปกับชมรายการทีวีย้อนหลัง หรือวิดีโอออนดีมานด์ 35.0%

ชมรายการทีวีย้อนหลังหรือวิดีโอออนดีมานด์เท่านั้น 15.1%

ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าการชมรายการย้อนหลังและวิดีโอออนดีมานด์ได้กลายเป็นหนึ่งในพฤติกรรมหลักของคนจากสัดส่วนผู้ชมผ่านสื่อนี้รวมกันมากถึง 50.1% เลยทีเดียว

แม้คนรุ่นเก่ายังคงดูทีวีตามช่องทีวีอยู่ แต่สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมากับ Digital First ที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ได้คิดว่าการดูทีวีต้องไปดูทีวีที่จอทีวีเท่านั้น แต่ดูจากที่ไหนก็ได้ในช่วงเวลาที่สะดวก

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ช่องทีวีเริ่มปรับตัวเองจากช่องทีวีมาลงออนไลน์ ผ่าน YouTube, LINE TV และรวมถึงกระโดดลงมาทำแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ของตัวเอง อย่างเช่น แอป one31 ของช่องวัน, แอป WorkpointTV ของช่องเวิร์คพอยท์, แอป Mello ของช่อง 3 และแอป BUGABOO.TV ของช่อง 7 เป็นต้น

การที่ช่องทีวีขยายไปยังช่องทางดิจิทัลนอกเหนือจากการพาตัวเองไปอยู่ใน Journey ของผู้ชมแล้ว ยังมาจากเหตุผลอื่นๆ เช่น

1. ต่อยอดรายได้จากคอนเทนต์

อุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่อทีวีมีมูลค่าที่ลดลงในทุกๆ ปี บนการแข่งขันที่สูงขึ้น

อ้างอิงจากข้อมูลของ MI พบว่าอุตสาหกรรมโฆษณาทีวีในปีที่ผ่านมามูลค่า 45,500 ล้านบาท ลดจากปี 2018 ที่มีมูลค่าที่ 47,785 ล้านบาท

ส่วนปีนี้คาดการณ์โฆษณาทีวีมีมูลค่าที่ 42,300 ล้านบาท

การลดลงของมูลค่าโฆษณาทางทีวีอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงจากทุกๆ ช่องในการดึงเม็ดเงินโฆษณากลับมายังช่องมากที่สุด

การแข่งขันที่สูงบนมูลค่าตลาดที่ลดลงทำให้ช่องต้องปรับตัวด้วยการหารายได้ใหม่ๆ จากช่องทางดิจิทัล ผ่านการขายโฆษณาในรูปแบบผู้สนับสนุนคอนเทนต์ การแบ่งเปอร์เซ็นต์กับแพลตฟอร์มดิจิทัลเมื่อเกิดรายได้จากการขายโฆษณาผ่านแพลตฟอร์ม

และการนำผู้ชมจากทุกแพลตฟอร์มมาเสนอขายโฆษณากับแบรนด์ที่สนใจในรูปแบบแพ็กเกจโซลูชั่น ที่มีมากกว่าทีวีบนจอหลักเพื่อพลังในการเสนอขายโฆษณาที่มากขึ้น

 

2. เรียนรู้ผู้บริโภคจากดาต้าเบส

จะเห็นว่าหลายช่องได้ทำแอปช่องของตัวเองเพื่อดึงผู้ชมเข้ามาชมรายการผ่านแอปของตัวเอง แทนการพึ่งแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง YouTube และ LINE TV เพียงอย่างเดียว

การที่ช่องมีแอปเป็นของตัวเองนอกเหนือจากรายได้โฆษณาที่ไม่ต้องแบ่งให้พับบลิคแพลตฟอร์มแล้ว ยังทำให้ช่องได้รู้จักผู้ชมหลักของช่องมากขึ้นผ่านการเก็บดาต้าเบสผ่านแอป และนำดาต้าเบสเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นคอนเทนต์ กิจกรรมการตลาด และอื่นๆ ที่จะยกระดับของช่องกับผู้ฟังและลูกค้าที่เข้ามาลงโฆษณาได้มากขึ้น

ซึ่งต่างจากการนำคอนเทนต์ไปลงตามพับบลิคแพลตฟอร์มที่ช่องไม่สามารถรู้จักผู้ชมผ่านดาต้าเบสที่ลึกของผู้ที่เข้ามาชมได้

 

ทั้งนี้การมาของวิดีโอสตรีมมิ่งในไทย นอกจากการที่จะสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับช่องแล้ว ยังมาพร้อมกับการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับและต่อสู้กับผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอื่นๆ ที่จะเข้ามาแย่งชิงเวลาของผู้ชมไปจากช่องมากขึ้น

จากข้อมูลของมายด์แชร์พบว่าในปีนี้จะมีคนไทยมากถึง 4.2 ล้านคนที่ดู วิดีโอสตรีมมิ่ง คิดเป็นสัดส่วน 6.0% ของประชากรไทยทั้งหมด โดย 69% เป็นการชมผ่านมือถือ 20% ชมผ่านเว็บไซต์ และอีก 11% ผ่านสมาร์ททีวี และใช้เวลาดูเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 2.5 วัน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่มากเลยทีเดียว

และถ้าในอนาคต 5G มาอย่างสมบูรณ์แบบ การชมผ่านวิดีโอสตรีมมิ่งจะขยับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเน็ตที่เร็วกว่าย่อมหมายถึงการชมคอนเทนต์ที่มีความละเอียดสูงได้มากกว่า และเต็มอรรถรสกว่า

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน