กระทั่งของที่ดูเล่นๆ หากใส่ความตั้งใจและแผนธุรกิจดีๆ เข้าไป ความสำเร็จระดับที่ยักษ์ใหญ่ในวงการต้องหันมามองก็เกิดขึ้นได้ เหมือน Funko ที่กลายเป็นแบรนด์ดาวรุ่งในอุตสาหกรรมของเล่น ด้วยยอดขายที่ใกล้แตะ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) เข้าไปทุกที ท่ามกลางภาวะซบเซาของตลาดของเล่น และวิกฤตวงการค้าปลีก หลัง Toy R Us แบรนด์ค้าปลีกของเล่นชื่อดังล้มละลายเมื่อปี 2017

แม้ไตรมาสล่าสุดยอดขายจะลดลงมาเล็กน้อย แต่ Funko ก็ยังน่าสนใจ ในฐานะแบรนด์ที่มีโมเดลกว่า 8,000 แบบให้เลือก ทุกตัวเด่นสะดุดตาด้วยลักษณะตัวเล็ก-หัวโต นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งอยู่ที่ความเร็วในการผลิตเพื่อให้ทันกับกระแส ตรงตามที่ CEO กล่าวไว้ว่านี่คือ Zara แห่งวงการของเล่น

 

ถึงยอดขายลดลง แต่ก็ไม่หวั่นและมั่นใจจะกลับมาโตอีก

ไตรมาส 4 ปี 2019 Funko ทำยอดขายทั่วโลกได้ 214 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,634 ล้านบาท) ลดลง 8% จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปี 2018 ซึ่งคงทำให้ยอดขายทั้งปี 2019 ไม่ถึง 740 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 22,940 ล้านบาท) ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

Funko Starwars

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าร้ายแรง เพราะ 3 ไตรมาสแรกปี 2019 ยอดขายเพิ่มขึ้นตลอด โดยเมื่อไตรมาส 3 อยู่ที่ 233 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7,223 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 176 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5,456 ล้านบาท) ของไตรมาสเดียวกันเมื่อปี 2018

ขณะเดียวกันช่วงไม่กี่ปีมานี้ ยอดขายของ Funko ก็มีแต่เพิ่มขึ้น โดยจาก 426 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 13,206 ล้านบาท) ในปี 2016 เป็น 516 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 15,996 ล้านบาท) ในปี 2017 และ 686 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 21,266 ล้านบาท) ในปี 2018

Funko Avengers 3

ในเวลาไล่เลี่ยกัน Hasbro และ Mattel สองแบรนด์ใหญ่ในวงการของเล่นต่างมียอดขายลดลง  โดยปี 2018 Hasbro ทำยอดขายได้ 4,580 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 141,980 ล้านบาท) ลงจาก 5,209 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 161,479 ล้านบาท) ของปี 2017

ส่วน Mattel ทำยอดขายได้ 4,514 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 139,934 ล้านบาท) ในปี 2018 ลงจาก 4,881 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 151,311 ล้านบาท) ในปี 2017

Brain Mariotti FunkoBrain Mariotti

Brain Mariotti – CEO ของ Funko ยอมรับ ผิดหวังกับยอดขายไตรมาสสุดท้ายปี 2019 แต่มั่นใจว่าด้วยจุดแข็งเรื่องความเร็วในการผลิต การกระจายสินค้าผ่าน E-commerce สาขาในห้างค้าปลีกและร้านของเล่นทั่วโลก รวมถึงการโปรโมตผ่าน  Animation จะส่งให้ยอดขายปี 2020 กลับมาโตขึ้นเป็นเลขสองหลัก

จากโรงรถสู่แบรนด์ของเล่นไฟแรงที่เด่นเรื่องความเร็ว  

แม้อายุและยอดขายยังห่างจาก Hasbro และ Mattel แต่ Funko ก็เป็นแบรนด์ของเล่นที่มีเส้นทางความสำเร็จ เอกลักษณ์ และจุดแข็งที่น่าสนใจ

Funko ก่อตั้งเมื่อปี 1998 ในโรงรถของ Mike Becker นักออกแบบเสื้อยืดชาวอเมริกันที่นำเงินเก็บ 35,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) มาปั้นบริษัททำตุ๊กตาตัวเล็กหัวโต ต่อยอดจากความชอบในวัยเด็กเพื่อวางขายตามสวนสนุก ร้านขายของที่ระลึกและร้านของเล่น

Mike Mario FunkoMike Becker (ซ้าย) กับ Brain Mariotti (ขวา) 

อีก 2 ปีให้หลัง Funko ก็ไปได้สวยมีสินค้าวางขายอยู่ตามสวนสนุกหลายแห่งในสหรัฐฯ แต่นั่นกลับกลายเป็นทุกขลาภ ของ Mike Becker

เพราะต่อมาเขาต้องเดินทางไปหลายแห่งเพื่อพบปะกับคอของเล่น และเจรจาขอลิขสิทธิ์ตัวละครจากค่ายหนัง ค่ายการ์ตูน จนคิดอยากขายบริษัทให้นักลงทุนหรือนักธุรกิจที่ชอบของเล่นเหมือนกัน

Mike Becker พบทางออกจากสถานการณ์ดังกล่าว ในปี 2005 หลังขายบริษัทพร้อมสิทธิในการบริหารให้ Brain Mariotti อดีตผู้จัดการร้านอาหาร ที่อยากลงทุนทำธุรกิจและชื่นชอบของเล่นซึ่งอยู่บ้านในละแวกเดียวกับ Mike Becker

Funko ภายใต้การบริหารของ Brain Mariotti ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ หลังคว้าลิขสิทธิ์ผลิตโมเดลตัวเล็กหัวโตจากทั้ง Disney, Marvel และ Warner 

Funko 6

ข้ามมาถึง 2017 Funko ทำยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 516 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 15,996 ล้านบาท) และทำ IPO ในปลายปีนั้น

แม้วันรุ่งขึ้นหลัง IPO หุ้น Funko ร่วงอย่างแรง เพราะนักลงทุนกังวลว่าบริษัทของเล่นน้องใหม่แห่งนี้จะอยู่ไม่นาน แต่จากนั้นยอดขายก็ยังไปได้สวยจนดึงหุ้นปรับขึ้น

ปัจจุบัน Funko มีพนักงานอยู่ราว 800 คน ฐานการผลิตหลักอยู่ที่เวียดนาม มีสินค้าวางจำหน่ายอยู่มากกว่า 25,000 จุดตามห้างค้าปลีกและร้านของเล่นทั่วโลก รวมถึง E-Commerce

IPO Funko

ส่วนโมเดลตัวเล็กหัวโตเป็นที่จดจำของคอของเล่น และสะดุดตาคนทั่วไป มีลูกค้าหลักเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ซื้อสินค้าหลักของ Funko ทั้งเพื่อเติมเต็มความสุขวัยเด็กและเก็บเป็นของสะสม

Funko ยังมีจุดแข็งอยู่ตรงที่โมเดลแต่ละตัวใช้เวลาตั้งแต่เจรจาลิขสิทธิ์ไปจนถึงวางจำหน่ายเพียง 3 เดือน มีมากมายกว่า 8,000 แบบ

ตั้งแต่ตัวละครในภาพยนตร์ดังอย่าง Star Wars, The Avengers ไปถึงคนดังในแวดวงต่างๆ ทั้งกีฬาและบันเทิง หรือแม้กระทั่งโมเดลคนในเหตุการณ์จากข่าวดัง เช่น นักดับเพลิงที่เสี่ยงชีวิตดับไฟป่าในออสเตรเลีย

Fucko Aussie Firefihgter

ผู้บริหารของหนึ่งใน VC ที่เข้ามาลงทุนใน Funko กล่าวว่า Funko เด่นตรงที่การเล่นกับสถานการณ์ กระแสหรือประเด็นดัง ต่างจากแบรนด์ของเล่นอื่นๆ

ส่วน CEO ของ Funko เองเชื่อว่าบริษัทในความดูแลคงไม่ถึงทางตันง่ายๆ เพราะไม่ว่าใครต่างก็มีตัวละครในดวงใจ เป็นแฟนของบางสิ่งบางอย่างและต้องการมีโมเดลตัวเล็กหัวโตสุดน่ารักเอาไว้ชื่นชมหรือสะสม/cnn, cnbc, forbes, vox, funko, hasbro, mattel, ladible, techcrunch, wikipedia

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online