เกม “ธนาคาร” สนุกขึ้นทุกที่เมื่อธนาคารพาตัวเองออกจากสาขาธนาคารผ่านสินค้าและบริการต่างๆ บนแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้ง

เพื่อสู้ศึกกับธุรกิจ Fin Tech จากผู้ให้บริการที่หลากหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทเลคอม กลุ่มอีมาร์เก็ตเพลส กลุ่มแอป e-Rider ที่คืบเข้ามาเสียบในช่องว่างบริการต่างๆ ที่ธนาคารไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ทั้งด้านความสะดวกและด้านผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ

จะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งของธนาคารได้พัฒนาความสามารถให้หลากหลายขึ้น ทั้งเรื่องการโอนเงิน เติมเงิน จ่ายบิลที่เป็นเบสิก ที่มาพร้อมกับบริการอื่นๆ ที่แอดวานซ์ขึ้น เช่น ถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มโดยไม่ใช้บัตร การขอสมัครบัตรเครดิตและบริการที่เกี่ยวข้อง

การให้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งยังทำให้ธนาคารสามารถ Engage กับลูกค้าธนาคารมากกว่าสาขาธนาคารด้วยเช่นกัน

เรื่องทั้งหมดที่เรากล่าวมาเป็นเพียงการปูพื้นฐานพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพาธนาคารออกจากสาขาธนาคารเท่านั้น เพราะธุรกรรมบางธุรกรรมลูกค้าธนาคารยังคงต้องเดินทางมาสาขาอยู่ดี เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร หรือกู้เงิน

ซึ่งปฐมบทในการที่ธนาคารพาตัวเองออกจากสาขาธนาคาร ได้ชัดเจนขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ได้ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มทดสอบการให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ผ่านช่องทางดิจิทัล หรือ eSaving

และใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนในรูปแบบใหม่ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า Facial Recognition หรือเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า และการยืนยันตัวตนในรูปแบบใหม่ จะต้องทำผ่านระบบแพลตฟอร์ม National Digital ID หรือ NDID โดยมีบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี เป็นตัวกลางในการเชื่อมระบบ เพื่อให้ธนาคารสามารถนำข้อมูลของผู้ยืนยันตัวตนผ่านระบบนี้มาใช้ร่วมกันข้ามธนาคารได้

โครงการนำร่องนี้เริ่มจาก 6 ธนาคารก่อน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ในวันนี้เราจึงได้เห็นธนาคารทั้ง 6 แห่งที่กล่าวมา เริ่มให้บริการ eSaving พร้อมการยืนยันตัวตนของลูกค้าใหม่ธนาคารที่ไม่เคยเปิดบัญชีกับธนาคารนั้นๆ มาก่อน ในรูปแบบ Facial Recognition เพื่อเข้าระบบ NDID และออกมาโปรโมตบัญชีเงินฝากในรูปแบบนี้ผ่านช่องทางต่างๆ กันบ้างแล้ว

เพราะอย่างน้อยเมื่อข้อมูลลูกค้าถูกเก็บไว้ใน NDID มากขึ้น การเปิดบัญชีธนาคารบนช่องทางดิจิทัลโดยเฉพาะผ่านแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งของธนาคารก็มีมากขึ้นตามมา

และเป็นการพาธนาคารพาผู้บริโภคให้เข้าถึงบริการและธุรกรรมต่างๆ ของธนาคารในพื้นที่ที่ไม่ใช่สาขาธนาคารมากขึ้นเช่นกัน

เรามาดูกันว่าแต่ละธนาคารเขามีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไรกัน

ไทยพาณิชย์ควงแขนเคาน์เตอร์เซอร์วิส ยืนยันตัวตนผ่านเซเว่นฯ

แม้รักนี้ไม่ได้เกิดที่เซเว่นฯ แต่ไทยพาณิชย์ได้เห็นช่องทางแบงกิ้งเอเยนต์ของเคาน์เตอร์เซอร์วิสในเซเว่นฯ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทั่วประเทศไทยจากสาขาของเซเว่นอีเลฟเว่นมีมากกว่า 10,000 แห่ง นอกเหนือจากการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางธนาคาร และตู้เอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์บางตู้

พลังของเคาน์เตอร์เซอร์วิสในเซเว่นอีเลฟเว่นยืนยันได้จากปีที่ผ่านมาหลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์แต่งตั้งให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ของธนาคารเพื่อเป็นตัวกลางฝากถอนเงินให้กับลูกค้าธนาคารพบว่ามียอดธุรกรรมจากลูกค้าไทยพาณิชย์ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสมากถึง 31,875 ล้านบาท แบ่งเป็นฝากจำนวน 31,776 ล้านบาท ถอนจำนวน 99.46 ล้านบาท เฉลี่ยปริมาณธุรกรรมฝากถอนต่อวันอยู่ที่ 185.3 ล้านบาท 

ในครั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำเทคโนโลยีสแกนใบหน้า (Facial Recognition) มาใช้สำหรับเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบไม่มีสมุด (ออนไลน์) ของไทยพาณิชย์ด้วยตนเอง เพื่อให้ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์มาก่อนไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาอีกต่อไป เพื่อเป็นประตูต่อยอดสู่บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น การเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน SCB EASY การสมัครบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตร Planet SCB การขอสินเชื่อต่างๆ และการลงทุน

ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนเปิดบัญชี eSaving ของธนาคารไทยพาณิชย์และเคาน์เตอร์เซอร์วิสในเซเว่นฯ ธนาคารไทยพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างลูกค้าใหม่จากช่องทางนี้ได้มากถึง 1 ล้านรายภายในสิ้นปี 2563 จากปัจจุบันที่ธนาคารมีลูกค้าทั้งสิ้น 16 ล้านราย และลูกค้า SCB EASY 10 ล้านราย

ข้อมูล NDID ธนาคารพาณิชย์อื่น สมัครออมทรัพย์มีแต่ได้ออนไลน์ กรุงศรี ให้ Starbucks 200 บาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เป็นหนึ่งในธนาคารนำร่อง NDID และใช้วิธีการตลาดขอข้อมูลจากการยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์ม NDID ของธนาคารพาณิชย์อื่น ที่ได้ลงทุนขยายช่องทางจุดรับยืนยันตัวตนเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ใน NDID แทนการขยายจุดรับยืนยันตัวตนเอง

ซึ่งการนำข้อมูลจากการลงทุนของคู่แข่ง ทำให้ธนาคารกรุงศรีสามารถทำตลาดขยายลูกค้าได้อย่างรวดเร็วไม่ยาก เพราะเมื่อลูกค้าที่ต้องการสมัครออมทรัพย์มีแต่ได้ออนไลน์ก็สามารถเดินทางไปที่เซเว่นอีเลฟเว่น หรือจุดบริการต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เป็นผู้ลงทุนไว้ เพื่อให้ธนาคารเก็บดาต้าเบสการยืนยันตัวตนไว้ระบบ NDID ก่อนที่จะเปิดแอป กรุงศรีโมบายแอป เพื่อสมัครออมทรัพย์มีแต่ได้ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที และสามารถทำธุรกรรมผ่านโมบายของธนาคารได้เหมือนกับบัญชีเงินฝากอื่นๆ

โดยกรุงศรีใช้วิธีการดึงลูกค้าเข้ามาสมัครออมทรัพย์มีแต่ได้ออนไลน์ผ่านแนวทาง 2 รูปแบบคือ ดอกเบี้ยเงินฝาก 1.3% ต่อปี และแจก Starbucks e-Coupon มูลค่า 200 บาท ให้กับลูกค้าที่สมัครในระยะเวลาที่กำหนด

กสิกรไทย สิ้นปีต้องยืนยันตัวตนได้ทุกอำเภอ

แม้ตอนนี้ธนาคารกสิกรไทยยังไม่ได้บอกชัดเจนเกี่ยวกับเรื่อง NDID แต่เป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยในธุรกิจเงินฝากดิจิทัลคือการเพิ่มบัญชีเงินฝากดิจิทัล 2.6 ล้านบัญชีในสิ้นปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.8 แสนบัญชี และผลักดันลูกค้า K PLUS ให้มีฐานลูกค้ารวมกว่า 14.6 ล้านราย

สิ่งที่ทำให้ธนาคารกสิกรไทยมั่นใจเช่นนั้นมาจากการธนาคารได้เร่งขยายจุดให้บริการยืนยันตัวตน หรือ K CHECK ID ให้ครอบคลุมมากขึ้น

K CHECK ID เป็นบริการที่ให้ลูกค้าเสียบบัตรประชาชน และเพื่อตรวจสอบข้อมูลจากบัตรประชาชน เทียบกับการสแกนใบหน้าจากภาพถ่ายบนแอปพลิเคชัน K PLUS ผ่านเทคโนโลยี Facial Recognition และ Liveness Detection เพื่อตรวจสอบบุคคลในบัตรประชาชนกับผู้เปิดบัญชีเงินฝากดิจิทัลผ่านแอป K PLUS เป็นบุคคลเดียวกัน

โดยในปัจจุบันลูกค้าที่จะสมัครบัญชีดิจิทัลกสิกรไทยสามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่  เคาน์เตอร์สาขาธนาคารกสิกรไทย, ตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย, เคแบงก์ เซอร์วิส

และในอนาคตจะมีการขยายไปยังเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่เซเว่น อีเลฟเว่น, บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์, มินิบิ๊กซี, แฟมิลี่มาร์ท และที่ทำการไปรษณีย์ไทย และจำนวนร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องอีดีซี (EDC) ทำให้ธนาคารมีจุดให้บริการยืนยันตัวตนมากที่สุดรวมกว่า 100,000 จุดทั่วประเทศ

ทั้งนี้แม้ eSaving เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธนาคารพาตัวเองออกมาจากสาขาธนาคารมากขึ้น แต่ในอนาคตเชื่อว่าการมาทำธุรกรรมในสาขาของคนไทยอาจจะเหลือเพียงคนเพียงหยิบมือ เพราะสามารถทำธุรกรรมกับธนาคารในทุกๆ ที่ที่ไม่ใช่สาขาธนาคารได้

และแน่นอนว่าสาขาจะต้องปิดตัวลงอีกจำนวนมาก พร้อมกับการปรับบริการในสาขาสู่เรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การทำธุรกรรม

จนถึงวันนั้นคุณอาจจะนึกไม่ออกว่า มา ธนาคาร ครั้งสุดท้ายเมื่อไร

 

Marketeer FYI

TMB ME ธนาคารดิจิทัลที่ยังต้องไปสาขาธนาคาร

TMB ME ถือเป็นธนาคารดิจิทัลแรกของไทยที่ให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเท่านั้น

แต่บริการ TMB ME ที่ผ่านมายังไม่ถือเป็นธนาคารที่เป็น Pure Digital Banking 100% เพราะผู้เปิดบัญชี ME ยังจำเป็นต้องเดินทางไปยืนยันตัวตนที่สาขาก่อนเพื่อยืนยันว่าเจ้าของบัญชีกับบัตรประชาชนคือคนคนเดียวกัน 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน