อยากรวยแบบคุณตัน ภาสกรนที เจ้าของ อิชิตัน เปิดหมดใจ “เจ็บ” มาเยอะ แต่ไม่ยอม “จบ”
4 เมษายนปี 2563 นี้ ตัน ภาสกรนที จะอายุ ครบ 61 ปี วันนี้ภาระสำคัญของเขาในบริษัทอิชิตัน ยังไม่สิ้นสุด ไฟในการทำงานของเขาเลยยังไม่ยอมมอด
4 ปี ฝ่าวิกฤตชาเขียว “เจ็บแต่ไม่จบ”
ยอดรายได้และกำไรของอิชิตันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง วิกฤตหนักก็คือในช่วงปี 2561 ที่กำไรดิ่งลงเหลือเพียง 43 บาท จากปัญหาเรื่องภาษีน้ำตาล สงครามราคาของคู่แข่ง และปัญหาเศรษฐกิจทั่วไปที่ยังคงชะลอตัว
แต่พอไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เขาสามารถทำกำไรขึ้นไปถึง 323 ล้านบาท และมั่นใจว่าตัวเลขกำไรในปีที่ผ่านมาจะสูงกว่า 4 ปีที่ผ่านมาแน่นอน
เจ็บแต่ไม่จบ สิ่งที่ตันต้องกลับมาทบทวนใหม่ เช่น การปรับองค์กรให้กระชับขึ้น ให้ความสำคัญในเรื่องการวิจัยเพื่อการออกสินค้าใหม่ๆ ให้โดนใจตลาดมากที่สุด
ตันปั้นสินค้าตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะยังต้องการซุปตาร์ตัวใหม่มาสร้างรายได้ เขามั่นใจว่าการออกสินค้าใหม่ 10 ตัว ถ้าติดตลาดเพียง 1 ตัว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพียงแต่คราวนี้เป็นการออกสินค้าใหม่ที่ต้องระวังตัวมากขึ้น เช่น เข้าตลาดชาเขียวพรีเมียมด้วยแบรนด์ “ชิซึโอกะ” เพื่อรับเทรนด์สุขภาพ และเจาะเซกเมนต์ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
“การทำตลาดโดยอาศัยแคมเปญใหญ่ๆ เช่น ลุ้นโชคใต้ฝา รวยฟ้าผ่าแบบเดิมๆ ที่ทุ่มหว่านไปยังลูกค้าทุกกลุ่ม หรือเอาทุกโปรดักส์มารวมกัน ต้องเปลี่ยนไป มันใช้ไม่ได้แล้วในยุคนี้ แต่จะมาโฟกัสกับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น กลุ่มวัยรุ่นที่เขาชอบอะไรใหม่ๆ ตื่นเต้นๆ ก็แบบหนึ่ง กลุ่มพ่อค้าแม่ขายหรือชาวบ้านก็อีกแบบหนึ่ง”
พร้อมๆ กับจัดพอร์ตโฟลิโอใหม่ ตัวไหนไม่ได้กำไรก็ตัดทิ้งไปโดยไม่ต้องเสียเวลา “ยื้อ” เช่น หยุดขายเครื่องดื่มไบเล่ไปชั่วคราว และเลิกทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง T247
ต่อไปอิชิตันอาจจะไม่ได้ทำแค่ชาเขียวอย่างเดียวก็ได้ จากศักยภาพเครื่องจักรโรงงานที่สามารถผลิตสินค้าเครื่องดื่มได้ทุกประเภทยกเว้นแอลกอฮอล์
รวมทั้งผลักดันธุรกิจรับจ้างผลิตหรือ OEM มากขึ้น โดยคาดว่า OEM จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของธุรกิจที่มีการเติบโตที่ดีในแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ
ตลาดใหม่ๆ ใน CLMV เป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่ตันให้ความสนใจ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดในประเทศไทย เขาเดินทางไปดูตลาดและหาพันธมิตรในพื้นที่บ่อยครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา วันนี้ตลาดที่แอกทีฟมากที่สุดอยู่ที่อินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่สินค้าชาเขียว เพราะเจ้าตลาดที่นั่นแข็งแกร่งมาก แต่ฮีโร่โปรดักส์ที่ส่งไปขายคือ “ICHITAN Thai milk tea”
สำหรับตลาดชาเขียวเขามั่นใจว่าหลังจากที่ตลาดรวมตกไปหลายปี คาดว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนวิกฤตไวรัสอู่ฮั่นที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเขาอย่างไรบ้าง ตันบอกว่า
“ไวรัสผมเชื่อว่ามาไม่นาน แต่ตอนนี้คนตื่นตระหนกตกใจกันมากกว่า เราเคยผ่านมาแล้วตั้งหลายโรค ไข้หวัดนก ซาร์ส ผมว่าเป็นภัยปกติ เพียงแต่สมัยนี้มีออนไลน์ คนรู้ข่าวเร็วขึ้น กระจายมากขึ้นเลยดูน่ากลัว ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขกันไป การท่องเที่ยวอาจจะหนักหน่อย แต่สำหรับผมปกติไม่ได้มองว่าร้ายแรงอะไรมากมาย
ในขณะที่ตลาดส่งออกของเขาอยู่ในย่านอาเซียนเป็นหลักขายเป็นเงินบาท เรื่องค่าเงินก็ไม่กระทบเช่นกัน และถึงแม้ภาพตลาดรวมของชาเขียวจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่เป็นอีกปีที่เขาบอกว่าต้องสู้ กันต่อไป
การรับผิดชอบต่อบริษัทอิชิตัน ทำรายได้ กำไร และราคาหุ้นคือ บทบาทหลัก วันนี้หลายคนคงเห็นเขาไปทำรายการ “เลิกหรือรอด กับ ตัน อิชิตัน” ทาง Facebook: ตัน ภาสกรนที และ youtube ichitan ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11 โมง
เพราะอะไร หรือตันจะกลับคืนสู่สมรภูมิธุรกิจอาหารอีกครั้ง
อย่าลืมว่า“ก่อนเป็นเจ้าพ่อชาเขียว” เขาคือผู้ก่อตั้งร้านอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่นชื่อโออิชิ ในปี 2542 ถัดมาในปี 2547 ชาเขียวซึ่งเป็นแค่เครื่องดื่มในร้านได้ถูกต่อยอดกลายเป็นแบรนด์ดังมาจนถึงปัจจุบัน
พอขายหุ้นโออิชิให้ไทยเบฟ และกลับมาทำอิชิตัน เขายังมีบริษัท “กินกับตัน” ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารอีกหลายแบรนด์ เช่น Melt Me ราเมนแชมเปี้ยนส์ ตันตัน อิซากายะ บุฟเฟ่ต์ โทคิยะ และซูชิ โอตารุ
ประสบการณ์ในเรื่องการทำธุรกิจร้านอาหารของเขาจึงมีไม่น้อย เจ็บมาก็เยอะ เพราะทุกวันนี้ร้านพวกนั้นปิดตัวลงไปหมดแล้ว เหลือเพียงร้านช็อกโกแลต Melt Me ของภรรยา และร้าน ZaabEli (แซบอีลี่) ส้มตำไฮโซของ วริษา ภาสกรนที ลูกสาวของเขาเท่านั้น
“ปิดเพราะผมยังมีโอกาสเลือกที่จะโตกับธุรกิจเครื่องดื่มมากกว่า อาหารเป็นธุรกิจที่ใช้คนเยอะ เชื่อว่าต่อไปหาคนทำงานยาก เด็กจบใหม่ไม่อยากเป็นลูกจ้าง อยากเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่า เพราะฉะนั้นงานที่ใช้คนเยอะๆ ผมไม่เอา แล้วทุกวันนี้ตลาดด้านอาหารมีการแข่งขันกันรุนแรงมาก ทั้งแบรนด์โลคอล และอินเตอร์แบรนด์ ในขณะที่ความชอบในเรื่องอาหารของคนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำยาก ผมไม่สนใจลงตลาดนี้แน่นอน”
ถ้าไม่สนใจทำธุรกิจอาหาร มาฟังกันว่าตันหวังอะไรกับรายการนี้
“เลิกหรือรอด” กับ ตัน อิชิตัน โค้ชคนนี้เจ็บมาเยอะ
ที่มาของรายการเริ่มจาก วันหนึ่งเขานึกอยากรับประทานข้าวขาหมู เจ้าเก่าแก่ย่านเซนต์หลุยส์ ชื่อร้าน ตี๋ขาหมู หรือ ร้านขาหมูตี 4 ซึ่งเป็นร้านที่ผูกพันมาตั้งแต่สมัยรุ่นอาม่า จนในปัจจุบันตกทอดมายัง “ตี๋” ซึ่งเป็นลูกชายได้มารับช่วงต่อ
แต่พอสั่งมาแล้วรสชาติไม่เหมือนเดิม ทำให้เขาต้องไปดูด้วยตาตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับร้านข้าวขาหมูในตำนาน ที่สั่งสมประสบการณ์กว่า 50 ปีกับสูตรลับของครอบครัว ที่ทำให้ได้ขาหมูเปื่อยนุ่ม หนังมันเงาวับ และน้ำพะโล้ขาหมูเข้มข้น อร่อยจนลืมไม่ลง ถึงขนาดต้องลงทุนตื่นตี 3 มารอเข้าคิวก่อนร้านเปิด
ความคิดที่จะเข้าไปเป็นเป็นโค้ชทางธุรกิจให้กับร้านอาหารชื่อดังในตำนานด้วยภารกิจพลิกฟื้นร้านค้าใกล้เจ๊งให้กลับมาชีวิตอีกครั้ง เลยเกิดขึ้น ทำอย่างไรให้เจ้าของร้านฮึดกลับมาสู้ ทวงตำนานความอร่อยกลับมาอีกครั้ง
ยอมรับกันว่าตันเป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่มีความโดดเด่นในการพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น อาจจะเป็นเพราะเขาเป็นนักธุรกิจที่มีต้นทุนทางสังคมติดตัวน้อยที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย เรื่องราวในชีวิตของเขาที่จบการศึกษาแค่ระดับมัธยม สู้ชีวิตมาสารพัดอาชีพ แต่ชีวิตสามารถพลิกผันขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจที่มียอดขายหลายพันล้าน ทำให้หลายคนเกิดความยอมรับ
ธรรมชาติของเขาที่พูดจาตรงๆ บุคลิกที่ง่ายๆ เรื่องราวดราม่าของครอบครัว ตี๋ขาหมู บวกกับฐานแฟนคลับที่ตามติดเฟซบุ๊กของเขาอยู่แล้วถึง 12 ล้านคน กลายเป็นเสน่ห์ของรายการ จนทำให้ในเวลาเพียง 4 วันมีคนตามรายการนี้ถึง 3.6 ล้านวิว/37K Share
ใครๆ ก็ อยากรวยแบบคุณตัน
ตันเป็นนักธุรกิจรายหนึ่งของเมืองไทยที่มีฐานแฟนคลับเป็นของตัวเอง และคนรู้จักตัวเขาก่อนรู้จักสินค้าด้วยซ้ำไป
ตี๋ขาหมู มีทั้งหมด 4 ตอน ตอนที่ 2 จะออนแอร์ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (9 ก.พ.) เมื่อครบ 4 ตอน เขาก็ไม่แน่ใจว่าร้านนี้จะกลับมามีชื่อเสียงเหมือนในอดีตจะเลิกหรือรอด แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนกลับมาฮึดสู้ เห็นปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไปทีละจุด
ถึงไม่ดีเท่าเดิม แต่อย่างน้อยก็ต้องดีกว่าเดิมที่เป็นอยู่ในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนจะไปต่อได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับครอบครัวเขาเองว่าจะทุ่มเทแค่ไหน
“ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำรายการนี้ไปอีกกี่ร้าน จะเหนื่อยก่อนหรือเปล่าไม่รู้ ต้นทุนการผลิตไม่ได้เยอะหรอกครับ ใช้ทีมงานเรา เครื่องไม้เครื่องมือเราที่มีอยู่ แต่ใช้ต้นทุนทางเวลาผมไปมาก อย่างร้านนี้ผมต้องเดินทางไปประมาณ 6 ครั้งต่อครั้งใช้เวลาทั้งวัน”
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าถึงจะทำแค่ร้านเดียว แต่ประโยชน์ไม่ได้เกิดกับครอบครัวเดียว แต่ทำให้ร้านอื่นๆ ที่ดูอยู่เจอปัญหาที่ใกล้เคียงกันได้เรียนรู้ ได้ข้อคิดและมีกำลังใจในการแก้ปัญหาไปด้วย
แค่ช็อตตี๋ขาหมู กลับมาทำร้านให้สะอาดขึ้นก่อนเป็นสิ่งแรก ก็เชื่อว่าหลายร้านที่ดูอยู่คงหันมาจับไม้กวาดเช็ดถูเป็นการใหญ่
ในช่วงที่ชีวิตพลิกมาทำธุรกิจร้านอาหาร และชาเขียว จนสามารถสร้างรายได้เป็นพันล้าน ตันเคยถ่ายทอดประสบการณ์ให้กำลังใจคนโดยเขียนหนังสือ ชื่อ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน และเดินสายไปเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับคนในองค์กรต่างๆ มาแล้วมากมาย ครั้งนี้บนเป้าหมายเดียวกัน แต่เปลี่ยนวิธีผ่านออนไลน์ ที่ทำให้คนเข้าถึงได้มากกว่าเดิมมากมาย
“ตอนนี้ผมยังสนุกอยู่ผมก็ทำ แต่ถ้าไม่สนุกผมก็เลิก ไม่ได้ผูกพันกับใคร เพราะผมบอกทีมงานเด็ดขาดแล้วว่าไม่มีการขายโฆษณา ไม่มีไทร์อินใดๆ ทั้งสิ้น”
ส่วนเรื่องต่อไปหลังจากนี้ เป็นของร้านอะไร ที่ไหน ตันบอกว่ายังไม่ได้คิด อาจจะหยุดหรือทำต่อก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ และจัดการแก้ไขปัญหาได้จากเรื่องแรกนี้ไปเรื่อยๆ
อสังหาริมทรัพย์ แค่ รอวัน “ปัง”
ยุคหนึ่งตันเกือบเคยได้รับฉายา “เจ้าพ่ออสังหา” จากการตั้งบริษัทใหม่ ตัน แอสเซ็ท จำกัด เมื่อปี 2549 โดยเอาเงินกำไรที่ได้จากการขายหุ้นโออิชิกว่า 3 พันล้านบาทไปลงทุนซื้อที่ดินเก็บในหลายๆ ที่ หลายแปลงเป็นทำเลทองใจกลางเมือง ที่พอได้ราคาดี ก็ถูกขายออกไป
2 แปลงยักษ์ที่เห็นๆ คือในอารีน่า 10 ทองหล่อ พื้นที่ 14 ไร่ที่ขายไปได้เงินมากว่า 6 พันล้านบาท และที่ดินย่านเพลินจิตอีกประมาณ 9 ไร่ ขายในราคาประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อตารางวา มูลค่าร่วม 3,320 ล้าน เป็นประวัติศาสตร์การซื้อขายที่ดินแพงที่สุดในขณะนั้น
ที่ดินแปลงนี้ตันตั้งใจจะพัฒนาเอง และเคยโชว์พิมพ์เขียวโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ให้ผู้เขียนดู แต่ในที่สุดกลับเปลี่ยนใจขายแค่ที่ดินออกไป (คือโครงการโนเบิลในปัจจุบัน)
นอกจากนั้น เขายังมีโครงการอื่นๆ อีก เช่น โรงแรมที่เชียงใหม่ รีสอร์ตหรูสไตล์โมร็อกโก วิลล่า มาร็อค ที่ประจวบคีรีขันธ์ โครงการตลาดนัดในที่ดิน 76 ไร่ ที่ลพบุรี ตลาดนัดนินจาอมตะ ย่านชลบุรีอีก 80 ไร่
รวมทั้งโครงการ T-ONE อาคารสำนักงานเกรด A ปากซอยสุขุมวิท 40 ที่มีพื้นที่เช่ากว่า 22,500 ตารางเมตร
แต่ตันบอกว่า วันนี้เขาไม่ได้โฟกัสธุรกิจอสังหาฯ เลย
“เรามีแค่โรงแรมเล็กๆ ที่ให้เชนบริหารไป ตึกนี้ ( T-ONE) ก็บริหารโดย JLW ส่วนที่ลพบุรี-ชลบุรี ก็เป็นตลาดนัดเล็กๆ ไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต แต่เป็นการเอาที่ดินที่ยังทำราคาไม่ได้ในวันนี้มาทำประโยชน์ เป็นการเลี้ยงที่ดินเพื่อรอความเจริญรอบข้าง รอวันที่มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นมาเท่านั้น”
คำว่า “เท่านั้น” ของตันมันอาจจะมากมายในความคิดของหลายคน แต่เอาเป็นว่า วันนี้เขาตั้งใจจะโฟกัสธุรกิจชาเขียวอย่างเดียว ส่วนเวลาที่เหลือก็จะ (สร้างแบรนด์) สร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงฮึดในการต่อสู้ชีวิตให้แก่เจ้าของธุรกิจรายเล็กๆ ต่อไป
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ