จากสถานการณ์ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบเยียวยาลูกจ้างและนายจ้าง โดยเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับนายจ้าง และผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39
จากปัจจุบันที่นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายฝ่ายละ 5 ของค่าจ้าง ลดเหลือฝ่ายละร้อยละ 4 ของค่าจ้าง
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 จากปัจจุบันที่จ่าย 432 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 336 บาทต่อเดือน… เรียกว่าลดลงไปถึง 96 บาทหรือประหยัดไปกว่า 22%
ทั้งนี้ มาตรการลดอัตราเงินสมทบเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตนและนายจ้าง มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่งวดเดือนมีนาคมถึงเดือนเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการส่งเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนและนายจ้าง รวมเป็นเงินร่วม 17,000 ล้านบาท
ตามประกาศของคณะกรรมการฯ ยังย้ำด้วยว่า การปรับลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมาตรการเยียวยาดังกล่าวจะต้องออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงานโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างยกร่างประกาศกระทรวงแรงงานเพื่อเสนอกระทรวงแรงงานและมติคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการออกประกาศ … ระหว่างนี้ให้ผู้ประกันตนชำระเงินสมทบในอัตราเดิมไปก่อน จนกว่าประกาศกระทรวงจะมีผลบังคับใช้
สิทธิประกันสังคมกับโรคติดเชื้อ Covid-19
สปส. ย้ำว่า หากผู้ประกันตนที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ สามารถเข้าไปรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่เลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และหากแพทย์สงสัยว่าจะเข้าข่ายติดเชื้อ Covid-19 แพทย์จะส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องแล็บ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ
อย่างไรก็ตาม หากเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน หรือโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งตามระบบประกันสังคม ซึ่งจะสามารถเบิกจ่ายเป็นกรณีฉุกเฉินได้ภายใน 72 ชั่วโมง และหากต้องถูกกักกันเพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อให้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ หากไม่มีอาการใดๆ หรืออาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ Covid-19 แต่ต้องการตรวจเอง ทาง สปส. ไม่แนะนำให้ไปขอตรวจเอง เพราะนอกจากจะไม่เข้าข่ายความคุ้มครอง ยังเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อในโรงพยาบาล
สำหรับผู้ประกันตนที่เจ็บป่วย และต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ. ประกันสังคม จะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างที่นำส่งรายเดือน ไม่เกิน 365 วันใน 1 ปี
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ