หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเร่งด่วน เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 เรื่อง “การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า” ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (SME) วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สรุปหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขอรับเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า ออกมาแล้ว

กรณีที่ผู้ยื่นเรื่องมีชื่อเป็นเจ้าของมิเตอร์

ประชาชนผู้เป็นเจ้าของมิเตอร์สามารถเริ่มลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินคืนตามมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจาก Covid-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. เป็นต้นไป โดยผู้ยื่นเรื่องสามารถเดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำหรับผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนยิ่งขึ้น ทั้ง 2 การไฟฟ้าได้เตรียมวางระบบการลงทะเบียนออนไลน์และผ่านแอปพลิเคชันไว้ให้ด้วย โดยน่าจะเริ่มวางระบบได้หลังจากทั้ง 2 การไฟฟ้าหารือจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

สิ่งที่ต้องมี 1) หมายเลขบัตรประชาชน พร้อมชื่อ-สกุล ของเจ้าของมิเตอร์ และ 2) เลขที่สัญญาการใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในบิลค่าไฟฟ้า ซึ่งหากข้อมูลการลงทะเบียนถูกต้องและตรงกันกับข้อมูลที่การไฟฟ้ามีอยู่ เจ้าของมิเตอร์จะได้รับเงินคืนตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

กรณีที่ผู้ยื่นเรื่องไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของมิเตอร์

สำหรับผู้ที่เป็นทายาทเจ้าของมิเตอร์ ผู้ซื้อบ้านมือสอง หรือกลุ่มนิติบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ ทั้ง 2 การไฟฟ้าขอเวลา 2 สัปดาห์ (จากวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา) ในการจัดเตรียมระบบ เพื่อรองรับการยื่นเอกสารเพิ่มเติมในการยืนยันความเป็นเจ้าของมิเตอร์ตัวจริง ส่วนกรณีผู้ซื้อบ้านมือสองแต่เจ้าของมิเตอร์ยังเป็นชื่อเจ้าของบ้านคนเดิม ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของมิเตอร์จะรับเงินเองหรือจะให้เจ้าของบ้านคนใหม่

ทั้งนี้  กพพ. ย้ำว่าจะจ่ายไปไม่มีกำหนดวันปิดระบบ และจะหยุดเมื่อจ่ายเงินคืนครบจำนวนทั้งหมด 21.5 ล้านราย ครอบคลุมวงเงิน 30,000 ล้านบาท เนื่องจากสิทธิในเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเป็นของเจ้าของมิเตอร์ทุกคน!! เพียงแต่ต้องมีการลงทะเบียน

จะได้เงินคืนเท่าไรและรูปแบบไหน?

สำหรับเงินที่จะได้รับคืนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่เจ้าของมิเตอร์ได้วางไว้กับการไฟฟ้าฯ โดยอัตราค่าธรรมเนียมเงินประกันตามขนาดมิเตอร์ เป็นดังนี้

  • มิเตอร์ขนาด 5(15) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 300 บาท
  • มิเตอร์ขนาด 15(45) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 2,000 บาท
  • มิเตอร์ขนาด 30(100) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 4,000 บาท
  • มิเตอร์ขนาด 15(45) เฟส 3 เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 6,000 บาท

จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก Call Center ของ กฟน. และ กฟภ. เบื้องต้น ทั้ง 2 การไฟฟ้า ระบุตรงกันว่า กฟน.และ กฟภ. กำลังหารือกันในเรื่องขั้นตอนและวิธีการคืนเงิน โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะคืนเงินในรูปแบบเงินสด (โอนเข้าบัญชี) หรือเป็นวงเงินสำหรับหักลดค่าใช้ไฟฟ้าในรอบบิลถัดๆ ไป ซึ่งน่าจะได้คำตอบก่อนวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดลงทะเบียน

ไม่มีเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะส่งผลอย่างไร

เนื่องจากระบบของทั้ง 2 การไฟฟ้าเป็นแบบให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ไฟฟ้าก่อนแล้วจึงมีการเรียกเก็บเงินในภายหลัง (Post-paid) การเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจึงถือเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้า กรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้าจนถูกตัดไฟ  หรือถูกถอดมิเตอร์ ทั้ง 2 การไฟฟ้าจะนำเงินส่วนนี้ไปหักลดเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐในการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้า

ดังนั้น หลังจากการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าหมดแล้ว ทั้ง 2 การไฟฟ้าก็จะไม่มีหลักประกันตรงนี้ ซึ่งคงจะต้องมีการหารือกันอีกครั้งว่าจะใช้มาตรการใดเพื่อป้องกันความเสี่ยงตรงนี้ให้กับรัฐในอนาคต

ที่มา:  รูปขั้นตอนการลงทะเบียน และเนื้อหาบางส่วนมาจาก เฟซบุ๊ก ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (โฆษกรัฐบาล)



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online