การตลาดหลังโควิด ชีวิต พฤติกรรมผู้บริโภค และผู้ประกอบการ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ? (วิเคราะห์)
จากที่เคยออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ก็สั่งกลับมารับประทานที่บ้าน
จากที่เคยเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ ตอนนี้ก็นั่งทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home
แล้วพฤติกรรมเหล่านี้จะกลายเป็น New Normal หรือไม่ แล้วแบรนด์จะต้องทำอย่างไร
สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมหาศาล ซึ่งความเป็นจริงแล้วทั่วโลก และประเทศไทยไม่ได้ผ่านวิกฤตครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้เป็นการระบาดของโรคที่เจอกันทั่วโลก สิ่งที่พบคือ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรุนแรงในระยะสั้น
และในหลายๆ พฤติกรรมจะกลายเป็น New Normal
นีลเส็นแบ่งการเกิดโควิด-19 ออกเป็น 6 ระยะ
ระยะ 1 รับรู้ข่าวสารว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น มีการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพดูแลตัวเอง
ต่อมาระยะ 2 เริ่มเข้าไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลว่าเป็นโรคหรือไม่
ระยะ 3 เริ่มมีการกักตุนสินค้า
สำหรับระยะ 4 เริ่มกักตัวอยู่บ้าน ทำงานจากบ้านมากขึ้น
ระยะ 5 การล็อกดาวน์
ระยะ 6 Living a new normal
โดยประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 3 เข้าระยะที่ 4 ผู้บริโภคเริ่มกักตุนสินค้า และ WFH เพราะฉะนั้นพฤติกรรมการซื้อสินค้า และการเสพสื่อในแต่ละระยะจะแตกต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรทำคือ ต้องมองไปข้างหน้าด้วยว่าในระยะต่อไปเป็นสเตจของตัวเองหรือไม่
สมวลียังระบุอีกว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมจีดีพีของทั่วโลกติดลบกันเพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยเองที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าจีดีพีของไทยจะ -5.3%
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโควิด-19 เป็นสาเหตุหลัก แต่สิ่งที่ห้ามลืมเลยคือปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง หนี้ภาคครัวเรือน ช่องว่างของรายได้คนรวยรวยจัด คนจนก็ไม่มีเลย ก็เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอยู่แล้วก่อนที่โควิด-19 จะเกิดตามมา
ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส เพราะในแง่พฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นยังมีสินค้าที่จำเป็นต้องซื้อ และยังมีอัตราการเจริญเติบโตยังดีอยู่ สะท้อนจากดัชนีค้าปลีกเดือนก.พ. ที่เติบโต 2-3%
โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคช่วงนี้และจะกลายเป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่จะกลายเป็น New Normal ได้คือ
“การช้อปปิ้ง” ลูกค้าเข้าร้านขายยา และเลือกช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้นเยอะมาก
“การรับประทานอาหาร” คนหันไปใช้บริการเดลิเวอรี่ ซื้อกลับบ้าน และทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่บ้านในบางประเทศได้กลายเป็น New Normal
แต่สำหรับประเทศไทยนั้นคนไทยมีวัฒนธรรมการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน พอหลังวิกฤตจบผู้บริโภคก็จะน่าจะกลับไปรับประทานอาหารนอกบ้านตามเดิม
“การทำงานที่บ้าน” และออกกำลังกายในบ้านมากขึ้น
เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการต้องมองว่าสิ่งเหล่านี้คือโอกาสอย่างไร เพราะไลฟ์สไตล์คนเริ่มเปลี่ยน
สิ่งที่ตามมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ เรื่องการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ผู้บริโภคให้ความใส่ใจกับเรื่องของคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้การทำแบรนด์ในอนาคตสามารถทำราคาไปพร้อมกับคุณภาพได้ด้วย
สมวลี กล่าวอีกว่า ตอนนี้คือโอกาสของแบรนด์ไทย เพราะในช่วงนี้ “โลคอลแบรนด์” เติบโตได้ดี ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีส่วนจากความกังวลของการซื้อสินค้าที่ต้องมีการจัดส่งจากที่อื่น
และสิ่งที่โลคอลแบรนด์ทำได้ดีคือ การปรับตัว และออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับความต้องการของผู้คนได้ดี
นอกจากนี้ เทรนด์ที่จะเห็นต่อไปคือเรื่องของ Auto shopping subscription เป็นบิสซิเนสโมเดลที่น่าสนใจคือ การ subscribe ไปเลยว่า ซื้อสินค้าชนิดใดก็ตามให้มาส่งสินค้าที่บ้านในทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือนตามที่เรากำหนด สิ่งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นรายได้ที่ต่อเนื่องมากขึ้น
Untag relationship การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น Virtual reality สร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคโดยไม่ต้องสัมผัส
การตลาดหลังโควิด ?
ในด้านของพฤติกรรมการเสพสื่อนั้น สมวลีระบุว่า ตอนนี้คือช่วงเวลาที่ผู้คนเสพสื่อเยอะมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรใช้โอกาสทำแบรนด์ ทำการตลาดอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ทั้งในหน้าจอทีวี โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน
ในจีน Social มีเดียกลายเป็น mainstream
จากเทรนด์ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วผู้ประกอบการต้องทำอย่างไร สมวลีทิ้งท้ายไว้ให้ 4 ข้อ
1. จาก Offline ต้องไป Online
2. การขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุม
3. โลจิสติกส์ต้องดี
4. โซเชียลมีเดีย เป็นโอกาสที่ต้องหันมาใช้โซเชียลมีเดียให้เกิด impact ที่สุด
สาเหตุที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพราะวันนี้คือจุดตั้งต้นของผู้บริโภคที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่ New Normal Behavior ทั้งการบริโภคสินค้าและการเสพสื่อ มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจกับวิธีคิดของคนที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ
เพราะถ้าเราไปจับผู้บริโภคในวันที่เขาเข้าสู่ New Normal แล้ว สิ่งที่เราจะขาดคือความเข้าใจถึงรากเหง้าว่าทำไมผู้บริโภคถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น และทำให้ไม่สามารถออกแบบประสบการณ์ที่เหมาะกับผู้บริโภคในวันนั้นได้
เพราะต้องอย่าลืมว่าโควิด-19 เกิดขึ้นยาวนานพอสมควร มันส่งผลให้พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นอย่างถาวร เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปรอปลายทางแล้วทำความเข้าใจ
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ