แม้ปีนี้โควิด-19 จะสร้างระยะห่างทางสังคม ให้เด็กไทยเปิดเทอมช้าลงจากเดิมเป็นเวลาเดือนกว่า จากเดิมที่ต้องเปิดกลางพฤษภาคม 2563 เป็น 1 กรกฎาคม 2563 ที่มาพร้อมกับกำลังการซื้อที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือน จนใครหลายคนมองว่า ตลาดชุดแต่งกายและรองเท้านักเรียนจะได้รับผลกระทบไปด้วย
แต่ความเป็นจริงแล้ว ตลาดสินค้าสำหรับนักเรียนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
โดยเฉพาะตลาดรองเท้านักเรียน
ในปีนี้นันยางคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทรงตัว หรืออาจจะเติบโต 1% จากปีที่ผ่านมา
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นมาจากรองเท้านักเรียนเป็นสินค้ากึ่งจำเป็นที่นักเรียนต้องสวมใส่เพื่อไปโรงเรียน
ปี 2562 ตลาดรองเท้านักเรียนมูลค่า 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดรองเท้าผ้าใบ 60% รองเท้านักเรียนผู้หญิงที่เป็นรองเท้าพีวีซี 35% อื่นๆ เช่น รองเท้าหนัง 5%
รองเท้านักเรียนราคาเฉลี่ยต่อคู่ 99-400 บาท รองเท้าระดับราคา 300 บาท เป็นรองเท้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด และนักเรียนในประเทศไทย ซื้อรองเท้านักเรียนเฉลี่ย 1.3 คู่ต่อปี
ส่วนปีนี้คาดการณ์สัดส่วนและราคารองเท้านักเรียนยังคงเหมือนกับปี 2562
จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ตลาดรองเท้านักเรียนเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง มาอย่างยาวนาน ผ่านกลยุทธ์การแข่งขันที่แตกต่างตามช่วงเวลา อย่างเช่น 30 ปีที่ผ่านมา ตลาดรองเท้านักเรียนแข่งขันกันในเรื่องของแถม เช่น การแถมของเล่นและอื่นๆ ต่อมาเปลี่ยนการแข่งขันผ่านการสื่อสารด้วยอีโมชันนอล เช่น ใส่แล้วเรียนเก่ง เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี แม้ในปัจจุบันตลาดรองเท้านักเรียนจะมีผู้เล่นในตลาด 10-15 ราย แต่การแข่งขันในตลาดรองเท้านักเรียน ยังคงต้องแข่งขันด้านคุณภาพ และการขับเคลื่อนแบรนด์เข้าไปในใจผู้บริโภคเป็นหลัก
เพราะตลาดรองเท้านักเรียน 5,000 ล้านบาท เป็นตลาดที่มีโอกาสขายหลักๆ ได้เพียง 1 เดือนก่อนเปิดเทอม และเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง จะซื้อแบรนด์เดียวกันทั้งหมด เช่นเด็กนักเรียนชาย ถ้าซื้อรองเท้านักเรียนแบรนด์ A แล้ว จะซื้อรองเท้าพละแบรนด์ A เช่นกัน
และในช่วงตอนเปิดเทอม จะเป็นภาพแบรนด์รองเท้านักเรียนอัดงบโฆษณาและกิจการการตลาดเพื่อพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคมากที่สุด
ส่วนการแข่งขันของ Back to School ในปีนี้จะกลับมาในเดือนมิถุนายน และยาวต่อเนื่องจนถึง 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเปิดเรียนของโรงเรียนต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็น Back to School ที่ต่างออกไปจากเดิมที่เคยอยู่ในช่วงเวลาหลังสงกรานต์-15พฤษภาคม ของทุกปี
และการแข่งขันของปีนี้อาจจะสนุกมากขึ้น เพราะแบรนด์รองเท้าโดยเฉพาะรองเท้าผ้าใบ มีเกมการตลาดที่มีสีสัน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านการสร้างแบรนด์ นวัตกรรม และอื่นๆ
นันยาง แจกความต่างด้วยนวัตกรรมบน Pain Point นักเรียน
ตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียน 3,000 ล้านบาท หรือ 60% ตลาดรวมรองเท้านักเรียนทั้งหมด นันยางเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งตลาด 43% ในปีที่ผ่านมา จากกลยุทธ์การแข่งขันด้านคุณภาพสินค้า Product Line ที่ครอบคลุมตั้งแต่ประถมไปจนถึง ปวส. และคนทำงาน
พร้อมกับการหาช่องว่างการตลาด ผ่านการสื่อสารที่นำรองเท้านักเรียนที่เป็น Product Hero ในแต่ละปีมาเล่าเป็นเรื่องราวสะท้อนถึงอีโมชั่นของนักเรียนที่แตกต่างกันไป เพื่อสร้างภาพลักษณ์และพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จนเกิด Brand Loyalty ของผู้สวมใส่ และซื้อรองเท้าผ้าใบนันยางทุกครั้งเมื่อเปิดเทอม แทนแบรนด์รองเท้าคู่แข่ง
การทำตลาดสร้างโอกาสในการขายของนันยาง ที่เน้นเจาะตลาดตั้งแต่ประถมเพราะวันนี้นักเรียนซื้อรองเท้าเฉลี่ย 1.3 คู่ต่อปี และถ้านันยางสามารถสร้าง Brand Loyalty ตั้งแต่ประถม จะสามารถขายรองเท้าเฉลี่ยปีละ 1.3 คู่ ตลอด 12 ปี ไปจนถึงมัธยมปลาย
ในปีนี้ นันยางจึงวางรองเท้ารุ่น Have Fun ซึ่งเป็นรองเท้าเจาะกลุ่มเด็กประถม เป็น Product Hero
เนื่องจากนันยางได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนพบว่า นักเรียนชั้นประถมมี Pain Point ที่สำคัญคือ “ผูกเชือกรองเท้าไม่เป็น” และในระหว่างวันในรั้วโรงเรียน เด็กประถมทำเชือกรองเท้าหลุดเฉลี่ย 10 ครั้งต่อวัน
จาก Pain Point ที่กล่าวมา นันยางจึงออกนวัตกรรม เชือกยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเชือกรองเท้าที่ทำขึ้นมาล็อกกับรูรองเท้าโดยไม่ต้องร้อย และไม่ต้องผูกเชือก ซึ่งเชือกยืดหยุ่นนี้ จักรพลเชื่อว่าจะตอบโจทย์ Pain Point เชือกหลุดระหว่างวันและการผูกเชือกรองเท้าไม่เป็นอย่างดี
โดยในตอนแรก จักรพลต้องการนำเชือกยืดหยุ่นเป็นหนึ่งในสินค้าที่เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ เพราะได้วางราคาเชือกยืดหยุ่นไว้ที่คู่ละ 69 บาท
แต่เพราะสถานการณ์โควิด-19 จักรพลจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ยอมขาดทุนจากการสร้างรายได้ในการจำหน่ายเชือกยืดหยุ่น เป็นการสร้างแบรนด์เลิฟ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายรองเท้า Have Fun ในจำนวนมากขึ้นแทน ด้วยการแจกฟรีเชือกยืดหยุ่นในรองเท้า Have Fun ทุกคู่ที่จำหน่ายไปจนกว่าโควิด-19 จะหมดไปจากประเทศไทย
โดยเชือกยืดหยุ่นนันยางทยอยวางจำหน่ายตามร้านรองเท้า 4 พันแห่งในไทย รวมถึงร้านออนไลน์
ทั้งนี้ นันยางเชื่อมั่นว่าเพราะการขาดทุนจากเชือกยืดหยุ่นจะสร้างการเติบโตของรองเท้านักเรียนรุ่น Have Fun 20-30% และการเติบโตภาพรวม 5%
ส่วนปีที่ผ่านมา นันยางมีการเติบโต 10% เป็นการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



