บริษัทแอปเปิ้ล ทำไมยังคงเติบโคอย่างแข็งแกร่งแม้ในช่วงวิกฤต (วิเคราะห์)

บริษัท Apple Inc. เจ้าของแบรนด์โทรศัพท์มือถือ iPhone ชื่อดัง ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 (รอบบัญชีของบริษัทไตรมาส 1 จะเป็นช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม) ยังออกมาแข็งแกร่งในภาพรวม ยอดขายเติบโตขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาจจะดูว่าน้อยแต่ในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับ Pandemic แบบนี้ ยอดขายยังเติบโตได้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว

มาดูกันว่าสินค้าในหมวดต่าง ๆ มียอดขายเป็นอย่างไร อะไรเติบโต อะไรหดตัว

ไตรมาส 2, 2020 ไตรมาส 2, 2019 เปลี่ยนแปลง
iPhone (โทรศัพท์มือถือ) $23,962 ล้านเหรียญ $31,051 ล้านเหรียญ -7%
Mac (คอมพิวเตอร์) 5,351 5,513 -3%
iPad (แท็บเล็ต) 4,368 4,872 -10%
Wearables, Home & Accessories 6,284 5,129 +23%
Services 13,384 11,450 +17%
รวมยอดขาย 58,313 58,015 +1%

 

ยอดขายสินค้าอย่าง iPhone, iPad และ Mac ปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยลบมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ร้านค้าปลีกของบริษัทอย่าง Apple Store ต้องปิดทำการ รวมไปถึงร้านค้าปลีกที่นำสินค้าของ Apple ไปขายก็ต้องปิดทำการเช่นกันจากนโยบาย Social Distancing ทั่วโลก ถึงแม้สินค้าเหล่านี้จะสามารถสั่งซื้อจาก Apple Online Store ได้ก็ตาม แต่ก็จัดเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงและผู้บริโภคอาจจะต้องการทดสอบก่อนซื้อจริง หรือที่เรียกว่า High Involvement Product ดังนั้น เมื่อไม่สามารถทดสอบหรือทดลองก่อนซื้อจริงได้ก็ทำให้ผู้บริโภคเลื่อนการซื้อออกไปก่อน

ด้านกลุ่มที่มียอดขายเติบโต คือกลุ่มสินค้าประเภทสวมใส่ และอุปกรณ์เสริม โดยสินค้าหลักของบริษัทที่เติบโตสูงในกลุ่มนี้คือหูฟังไร้สาย Airpods ทั้งรุ่นโปรและรุ่นปกติ นโยบาย Social Distancing เป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้าอย่าง Airpods มีความต้องการมากขึ้น ผู้บริโภคต้องกักตัวอยู่กับบ้านทำให้ต้องการสิ่งบันเทิงมากขึ้น

สุดท้าย สินค้าด้านบริการ รายได้หลักในกลุ่มนี้จะมาจาก App Store (กินส่วนแบ่งจากผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน) ประกันสินค้าที่ชื่อว่า AppleCare และธุรกิจด้าน Cloud Computing เช่นเดียวกับเหตุผลที่ทำให้สินค้าในกลุ่มสวมใส่และอุปกรณ์เสริมเติบโตขึ้น นโยบาย Social Distancing ทำให้ความต้องการด้านบันเทิงสูงขึ้น ยอดการซื้อเกม เพลง และภาพยนตร์ สูงขึ้นในช่วงกักตัว

จากยอดขายของกลุ่มสินค้าทั้งหมด กลุ่มที่มีการเติบโตที่ดีและทางบริษัทก็เน้นมากให้ยอดขายในกลุ่มนี้เติบโตขึ้น คือสินค้าในกลุ่ม “Services” นั่นเอง ปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทเน้นในกลุ่มนี้มากเนื่องมาจากกำไรขั้นต้นหรือที่เรียกกันว่า Gross Margin อยู่ในระดับที่สูงมาก เราคิดว่าสินค้าอย่าง iPhone iPad หรือ หูฟังอย่าง Airpods ค่อนข้างที่จะราคาสูง กำไรก็น่าจะสูงตาม ซึ่งก็ไม่ผิด สินค้าประเภทที่กล่าวมามีกำไรขั้นต้นในระดับค่อนข้างสูงถึง 30.3% ด้วยความที่เป็นตราสินค้า Apple เป็นสินค้าที่เน้นไปในด้านอารมณ์มากกว่าเหตุผลจึงทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาสินค้าได้สูงกว่าคู่แข่ง แต่สินค้าเหล่านี้ก็มีระดับของกำไรขั้นต้นที่เทียบไม่ได้เลยกับสินค้าด้านบริการของบริษัท โดยสินค้าในกลุ่มบริการมีกำไรขั้นต้นสูงถึง 65.4% เลยทีเดียว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Apple ยังสามารถมียอดขายที่เติบโตได้ในภาพรวมถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาจากการทำการตลาดที่ฟังเสียงของผู้บริโภคมากขึ้น รวมไปถึงการตั้งราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้คือการวางตลาดโน้ตบุ๊กระดับ High-end รุ่นใหม่อย่าง MacBook Pro 16 นิ้ว ที่มีการปรับปรุงตามคำเรียกร้องของผู้บริโภค และมีการตั้งราคาที่ต่ำลง

มาที่การบริหารเงินสดที่มีอยู่จำนวนมากกันบ้าง ทางบริษัทได้มีการซื้อหุ้นคืนในไตรมาสนี้เพิ่มมาอีก 18,500 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 600,000 ล้านบาท ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทสามารถเติบโตขึ้นได้ถึงแม้ว่ายอดขายจะไม่ค่อยโตขึ้นก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานอกจากซื้อหุ้นคืนแล้ว บริษัทก็ได้มีการจ่ายปันผลออกมา 3,400 ล้านเหรียญหรือราว 110,000 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ทั้งส่วนของผู้ถือหุ้นที่ลดลงทำให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นดีขึ้น (Return on Equity) และยังได้เงินปันผลอีก

สินค้า Apple ถึงแม้จะมีราคาที่ค่อนข้างสูงแต่ก็มาพร้อมกับคุณภาพในระดับสูงเช่นกัน ในเมื่อเราต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของสินค้าของ Apple แล้ว มันจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจขึ้นไหมถ้าเราจะมีส่วนในความเป็น “เจ้าของ” บริษัทนี้ด้วย หุ้น Apple เป็นหนึ่งในหุ้นขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงหนัก ๆ อย่างวิกฤตตลาดหุ้นจีนปี 2015 การปรับตัวลดลงอย่างแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2018 จากการเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยที่มากเกินไปของ Fed และล่าสุด การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับ Pandemic ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 3,400,000 คน แต่หุ้นของ Apple ก็ยังคงแข็งแกร่ง

ผลตอบแทนของหุ้น Apple ถ้าลงทุนตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว จะให้ผลตอบแทน +99.76% ถ้าเป็นช่วง 1 ปีที่ผ่านมา +46.68% และสุดท้าย ถ้าลงทุนตั้งแต่เข้าปี 2020 ก็ยังเป็นบวกอยู่ +1.33%

การลงทุนหุ้นรายตัวโดยเฉพาะหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถทำได้อย่างสะดวกและไม่ต้องลงทุนสูงอย่างที่คิด อย่างบริการซื้อขายหุ้นต่างประเทศของ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) บริษัทต้นสังกัดของผู้เขียนก็ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ การกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีและเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย สหรัฐฯ​ เป็นประเทศผู้นำทั้งในด้านเศรษฐกิจ นวัตกรรม และการเมืองของโลก ตลาดของสินค้าและบริการของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ คือทั้งโลก ทำให้การเติบโตของยอดขายและกำไรมีวัฏจักรที่ยาวนาน ธุรกิจบางอย่างก็ไม่สามารถหาได้ในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่ม New Economy อย่างเฮลท์แคร์ เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยี

นักลงทุนระดับตำนานอย่าง Peter Lynch ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ให้ลงทุนในบริษัทที่มีสินค้าที่ดี และเป็นสินค้าที่เราและคนรอบตัวเราก็ใช้”

บริษัทแอปเปิ้ล คือตัวอย่างที่ชัดเจนของคำพูดนี้ครับ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

Roadside Investor

โดย เพิ่มศักดิ์ จักร์มงคลชัย

รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online