ตลาดธุรกิจรองเท้า ปี 2563 แข่งเดือด วิเคราะห์กลยุทธ์ กีโต้ และ แกมโบล ใครจะคว้าใจลูกค้าไปครอง

ตลาดรองเท้าลำลอง มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งด้านของดีไซน์ คุณภาพ และราคา เพื่อดึงเม็ดเงินการซื้อรองเท้าของคนไทยที่ยังต่ำให้เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากแกมโบลพบว่าคนไทยซื้อรองเท้าเฉลี่ย 0.7 คู่ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่ารองเท้านักเรียน ที่นันยางให้ข้อมูลว่า นักเรียนไทยซื้อรองเท้านักเรียนใหม่ 1.3 คู่ต่อปี

และเมื่อเทียบกับอัตราการซื้อรองเท้าลำลองกับค่าเฉลี่ยในต่างประเทศยังพบว่าในต่างประเทศมีพฤติกรรมการซื้อรองเท้าลำลองมากถึง 4-7 คู่ต่อปีด้วยกัน

ในตลาดรองเท้าลำลองระดับแมสที่มีราคา 100 บาท ขึ้นไป ถือเป็นตลาดรองเท้าเซกเมนต์หนึ่งที่มีการแข่งขันกันสูง จากคู่แข่ง 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ กีโต้ แกมโบล และ แอ๊ดด้า

ถ้าดูเพียงเฉพาะแบรนด์ อาจรู้สึกว่าสงครามการแข่งขันในธุรกิจรองเท้ากลุ่มนี้มีถึง 3 แบรนด์หลักด้วยกัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแข่งขันในธุรกิจรองเท้าเซกเมนต์นี้ แข่งขันกันเพียง 2 ตระกูลเท่านั้น

เพราะแอ๊ดด้าเป็นของตระกูล พฤกษาพรพงศ์ ส่วน กีโต้และแกมโบล เป็นของตระกูล กิจกำจาย ที่ใช้กลยุทธ์สร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการขยายแบรนด์ เพราะไม่ว่าจะซื้อแบรนด์ไหนก็เป็นของ กิจกำจาย

ทำให้เวลาจะซื้อรองเท้าลำลอง เราเคยสงสัยว่าทำไมกีโต้และแกมโบลถึงมีความคล้ายคลึงกันมาก

เพราะความจริงแล้ว กีโต้และแกมโบล เป็นรองเท้าที่มาจากครอบครัวเดียวกัน

เราจึงอยากขอเล่าให้อ่านสักนิดถึงเรื่องของกีโต้และแกมโบล

กีโต้ และแกมโบล เป็นแบรนด์รองเท้าของ 5 ตระกูลกิจกำจาย ที่อดีตเคยเป็นพนักงานขายรองเท้าย่านสำเพ็ง ก่อนที่จะออกมาเปิดธุรกิจขายรองเท้าของตัวเองในปี 2512 เริ่มจากการรับมาและขายไป รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับรองเท้าบาจา

แต่การซื้อมาและขายไปทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของรองเท้า และการเติบโตด้านผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจครอบครัวกิจกำจายจึงสร้างโรงงานผลิตรองเท้าเป็นของตัวเองในปี 2532 ในชื่อบริษัท บิ๊กสตาร์ เพื่อผลิตรองเท้าของตัวเองขึ้นมา และทำตลาดในชื่อแบรนด์กิเลน ก่อนที่จะเปิดรับผลิตรองเท้าในรูปแบบ OEM ให้กับผู้ว่าจ้างในเวลาต่อมา

โดยบริษัท บิ๊กสตาร์ จดทะเบียนบริษัทในนาม

อภิวิชญ์ กิจกำจาย

สมพงษ์ กิจกำจาย

สุรชัย กิจกำจาย

เนรมิตร กิจกำจาย

และในปี 2535 ครอบครัวกิจกำจาย เปิดธุรกิจโรงเท้าแบรนด์กีโต้ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในชื่อบริษัท บริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตรองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ และรองเท้าแฟชั่นสู่ตลาด

และมีรองเท้ากีโต้ คีย์บอร์ด เป็นรุ่นที่สร้างชื่อเสียงที่ให้ทำคนไทยรู้จักแบรนด์กีโต้อย่างแพร่หลาย

ในปัจจุบันรองเท้าแบรนด์กีโต้มีทั้งรองเท้าแตะ รองเท้ารัดส้น รองเท้าผ้าใบ รองเท้ากีฬา ของทุกเพศทุกวัย รวมถึงรองเท้านักเรียนสำหรับเด็ก และรองเท้าที่จับมือร่วมกับบุรีรัมย์ยูไนเต็ด QDPA และ B. Duck ในราคาเริ่มต้นเกือบ 200 บาท

ซึ่งบริษัทกีโต้ (ประเทศไทย) จดทะเบียนในนาม อภิวิชญ์-สมพงษ์-สุรชัย และเนรมิตร กิจกำจาย เช่นกัน

โดยปัจจุบันกีโต้ทำตลาดทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านภายใต้แบรนด์กีโต้และอื่น ๆ มีรายได้ในปี 2561 ที่ 1,011.02 ล้านบาท กำไร 52.26 ล้านบาท

รายได้กีโต้

2559     939.33 ล้านบาท            กำไร 42.58 ล้านบาท                              

2560     1,011.42 ล้านบาท          กำไร 43.72 ล้านบาท

2561     1,011.02 ล้านบาท          กำไร 52.26 ล้านบาท

หลังจากที่กีโต้ออกสู่ตลาดสิบปีกว่า ครอบครัวกิจกำจายถือกำเนิดแบรนด์แกมโบลขึ้นมาในชื่อของบริษัทบิ๊กสตาร์ ทำตลาดรองเท้าในรูปแบบเดียวกัน ในราคากลุ่มเดียวกัน บนเทคโนโลยีการผลิตที่คล้าย ๆ กัน เพื่อแข่งขันกับกีโต้

การที่กิจกำจายเปิดแบรนด์แกมโบลขึ้นมาแข่งขัน Marketeer มองว่าส่วนหนึ่งมาจากต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและรายได้ในธุรกิจรองเท้าจากคู่แข่ง เพราะถ้าลูกค้าไม่ชอบแบรนด์กีโต้ ก็มีโอกาสที่จะมาซื้อรองเท้าแบรนด์แกมโบลได้เช่นกัน

แต่ด้วยความเป็นสองแบรนด์ที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ทำให้เทคโนโลยีในการผลิตมีความคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันที่ดีไซน์เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดที่เป็นความท้าทายในธุรกิจ เพราะแกมโบลมีรองเท้าลำลองทั้งรองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้ารัดส้น สำหรับผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ในราคาเริ่มต้นเกือบ 200 บาท เหมือนกันกับกีโต้

แบรนด์แกมโบลวางตัวเองเป็นรองเท้าลำลองสำหรับวัยรุ่น เจาะตลาดกลุ่ม 18-30 ปี เป็นหลัก ผ่าน 4 Category ได้แก่รุ่น EZY เน้นความเรียบง่าย รุ่น ZAPP เน้นสีสดใส รุ่น ZAH เน้นลวดลายกราฟิก และ ZEEK รองเท้าดีไซน์ที่เน้นลุย พร้อมวางตลาดเฉลี่ย 5-10 รุ่น ต่อเดือน หรือ 100 รุ่นต่อปี

ในปี 2561 แกมโบลมีรายได้ 1,186.05 ล้านบาท กำไร 50.70 ล้านบาท จากการทำตลาดในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และการทำรองเท้า OEM ภายใต้แบรนด์แกมโบลและอื่น ๆ เช่นกัน

รายได้แกมโบล

2559    1,184.34 ล้านบาท          กำไร 43.87 ล้านบาท

2560    1,227.02 ล้านบาท          กำไร 48.25 ล้านบาท

2561    1,186.05 ล้านบาท          กำไร 50.70 ล้านบาท

 

แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามองไปที่ผลประกอบการของผู้ประกอบการใน ตลาดธุรกิจรองเท้า รายได้ของกีโต้และแกมโบลรวมกันมีรายได้ที่สูงกว่าแอ๊ดด้าเพียงบริษัทเดียวไม่มากนัก แต่ถ้ามองที่ผลกำไร ถือว่ากีโต้และแกมโบลมีกำไรที่ชนะขาดลอย

ในปี 2561 กีโต้และแกมโบลมีรายได้รวมกัน 2,197.07 ล้านบาท กำไร 102.96 ล้านบาท

แอ๊ดด้า รายได้ 1,947.60 ล้านบาท  กำไร 43.29 ล้านบาท

ซึ่ง Marketeer มองว่าส่วนหนึ่งเพราะกีโต้และแกมโบลมีการซื้อวัตถุดิบร่วมกันทำให้มีอำนาจในการต่อรองที่มากขึ้น และการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ ทั้งการผลิตและบุคลากรร่วมกันในบางส่วน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

 

แอ๊ดด้า รายได้ไม่ธรรมดา

2559    1,716.99 ล้านบาท          กำไร 31.55 ล้านบาท                                

2560    1,863.23 ล้านบาท          กำไร 46.64 ล้านบาท

2561    1,947.60 ล้านบาท         กำไร 43.29 ล้านบาท

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ รายได้จากบริษัท แอ๊ดด้า ฟุตแวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online