ทางการจีนเริ่มดำเนินมาตรการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” หลังได้รับบทเรียนแสนแพงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยฝ่ายปกครองของมณฑลหูหนานประกาศให้เงินจูงใจกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้เลิกเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าและกลุ่มสัตว์เมนู “เปิบพิสดาร” ทั้งหลาย เช่น งูเห่า ชะมด และค้างคาว แล้วเปลี่ยนมาเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจประเภทอื่น หรือพืชสมุนไพรแทน หลังมีข้อมูลมากมายที่ชี้ว่าอาจเป็นต้นทางของวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลก
ด้านฝ่ายปกครองในมณฑลเจียงซีที่อยู่ติดกันก็ดำเนินนโยบายเดียวกันเพื่อจุดประสงค์เดียวกันแม้ต้องใช้งบก้อนใหญ่เพราะมีเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแบบที่มีใบอนุญาตถูกต้องอยู่มากถึง 2,300 คน
ท่ามกลางการประเมินว่ามูลค่าตลาดซื้อขายสัตว์ป่าของหูหนานกับเจียงซี 2 พื้นที่หลักในจีนที่มีการทำธุรกิจนี้นั้นสูงถึง 1,600 ล้านหยวน (ราว 7,200 ล้านบาท) และสร้างรายได้ถึงปีละ 10,000 ล้านหยวน (ราว 450,000 ล้านบาท)
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นแม้เป็น “ไฟต์บังคับ” ที่ต้องทำจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สันนิษฐานกันว่ามาจากค้างคาว รวมไปถึงไวรัสที่เคยระบาดก่อนหน้านี้บางตัวที่มาจากสัตว์ป่าเช่นกัน โดยทั้งหมดถือเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์ป่าโรคใหม่ขึ้นมาอีก
ด้านกลุ่มสิทธิสัตว์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนเพื่อจูงใจประชาชนทั่วประเทศให้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นแทนการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า
จากนี้ไปนอกจากจับตาดูว่ารัฐบาลจีนจะขยายมาตรการนี้ไปทั่วประเทศหรือไม่แล้ว ยังต้องจับตาด้วยว่ารัฐบาลจีนจะสามารถปิดช่องโหว่กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าข้ออื่น ๆ ด้วยหรือไม่
เพราะปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสัตว์ยังสามารถทำได้ถ้าเป็นไปเพื่อสันทนาการ ใช้ทำยา และวิจัย ซึ่งส่วนหนึ่งของสัตว์ป่าที่เพาะเลี้ยงกันอยู่นี้กลายไปเป็นอาหารในเมนูเปิบพิสดารต่าง ๆ/afp, channelnewsasia
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



