ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย 2563 เติบโตอย่างก้าวกระโดดช่วงโควิดระบาด (วิเคราะห์)

ในวันที่ใคร ๆ กักตัวอยู่บ้าน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มาพร้อมกับห้างร้านที่ปิด ผลักดันให้คนไทยช้อปออนไลน์มากขึ้น

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด คาดการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือช้อปออนไลน์ในกลุ่ม C2C หรือ Customer to Customer ไม่รวมบริการจองที่พักโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ดิจิทัลคอนเทนต์ และบริการอื่น ๆ ที่จับต้องไม่ได้

พบว่าในปี 2563 ธุรกิจช้อปออนไลน์มีมูลค่าที่ 220,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4-5% ของค้าปลีกทั้งประเทศ

ช้อปปิ้งออนไลน์ในปี 2563 มีการเติบโต 35% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท สัดส่วน 3% ของค้าปลีกทั้งประเทศ

 

แม้คนไทยจะช้อปปิ้งออนไลน์สูงขึ้น แต่ยังถือว่ามีสัดส่วนจากมูลค่าค้าปลีกที่ไม่มากนักเมื่อเทียบประเทศอื่น

โดยในปี 2562

จีน สัดส่วน 25% จากมูลค่าค้าปลีก

สหราชอาณาจักร สัดส่วน 22% จากมูลค่าค้าปลีก

เกาหลีใต้ สัดส่วน 22% จากมูลค่าค้าปลีก

สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 11% จากมูลค่าค้าปลีก

ญี่ปุ่น สัดส่วน 9% จากมูลค่าค้าปลีก

อินเดีย สัดส่วน 3% จากมูลค่าค้าปลีก

และไทย สัดส่วน 3% จากมูลค่าค้าปลีกเช่นกัน

 

เมื่อมองมาที่สัดส่วนยอดจำหน่ายผ่านช้อปออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ พบว่า

พฤติกรรมคนไทย มีสัดส่วนซื้อสินค้าจากช่องทาง eMarketplace มากขึ้น

จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่าในปี 2561 ช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์มีสัดส่วนคือ

Social Media 40%

eMarketplace 35%

Brand.com 25%

 

ส่วนในปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนยอดจำหน่ายดังนี้

Social Media 38%

eMarketplace 47%

Brand.com 15%

 

การเติบโตของสัดส่วนยอดจำหน่ายผ่าน eMarketplace ในปีที่ผ่านมา มาจากการเพิ่มขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ อย่างเช่น NocNoc ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ไพรซ์ซ่ามองว่าเป็นหนึ่งใน eMarketplace

นอกจากนี้ eMarketplace ที่มีการปรับตัวเป็น Social Media มากขึ้น เช่นการมีฟีเจอร์แชต จากการมองเห็นพฤติกรรมคนไทยชอบคุยกับคนขายก่อนซื้อ รวมถึงการเพิ่ม Live Commerce เข้ามาเป็นจุดขายดึงความสนใจนักช้อปตอบสนองไลฟ์สไตล์คนไทย

และ Marketeer มองว่าการเติบโตของสัดส่วน eMarketplace ยังมาจากการยอมขาดทุน จัดกิจกรรมดับเบิ้ลเดย์อย่างต่อเนื่อง พร้อมแคมเปญและเกมในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดให้นักช้อปเข้ามาในแพลตฟอร์มเป็นประจำ

ส่วนโซเชียลมีเดีย แม้จะมีสัดส่วนที่ลดน้อยลง แต่ยังมีการเติบโตด้านมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะการขายสินค้าในรูปแบบ Live Commerce

แต่ช่องทางที่มีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือ Brand.com เนื่องจากเป็นช่องทางที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งการลงทุนเทคโนโลยี การจัดการ และการตลาด ทำให้การขายสินค้าในช่องทาง Brand.com ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น เพราะมองว่าเป็นช่องทางที่เป็นเจ้าของเอง และสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง

ส่วนแบรนด์สินค้าที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในช่องทางออนไลน์นิยมใช้บริการผ่าน  eMarketplace มากกว่า จากความง่ายในการเปิดการขายและไม่ต้องลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มเอง แต่ความท้าทายของช่องทาง eMarketplace คือ มีคู่แข่งจำนวนมาก

 

ธนาวัฒน์บอกกับเราว่าแม้ในปีที่ผ่านมา eMarketplace จะมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ แต่ตลาดในประเทศไทยยังคงมีเพียงผู้เล่นหลักเพียง 2 รายเท่านั้น ได้แก่ ลาซาด้าและช้อปปี้

ในปีที่ผ่านการสำรวจของไพรซ์ซ่าพบว่า ช้อปปี้มี 54% และ ลาซาด้า 46% แม้ลาซาด้าจะบุกตลาด eMarketplace ในประเทศไทยก่อนก็ตาม

 

สำหรับ Social Commerce ในปีที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนมาจาก

Facebook      42%

Line     34%

IG         19%

Twitter 5%

 

สินค้ายอดฮิตของ ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

สำหรับในปี 2563 จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไพรซ์ซ่าให้ข้อมูลเปรียบเทียบสินค้ายอดนิยมที่ผู้บริโภคค้นหา เปรียบเทียบราคาผ่านไพรซ์ซ่าในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในไทย กับช่วงมีนาคม-เมษายน 2563 ช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า มีกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตด้านการค้นหากลุ่มสินค้าที่มียอดลดลงในการค้นหาอย่างเห็นได้ชัด ที่เป็นดาวรุ่งและร่วงดังนี้

 

รุ่ง

สุขภาพและความงาม เติบโต 34%

อุปโภคบริโภคในครัวเรือน เติบโต 34%

หนังสือ เติบโต 27%

เครื่องใช้ไฟฟ้า เติบโต 22%

คอมพิวเตอร์ เติบโต 4%

เฟอร์​นิเจอร์ เติบโต 2%

 

ร่วง

รถ ยานพาหนะ ลดลง 44%

เสื้อผ้าและแฟชั่น ลดลง 41%

กีฬา สัตว์เลี้ยง เอาต์ดอร์ และของสะสม ลดลง 28%

โทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสาร ลดลง 27%

 

สำหรับกลุ่มสินค้าสุขภาพความงามซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโต 5 อันดับแรกที่ผู้บริโภคค้นหาสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันตัวจากโควิด ทั้งหมด ได้แก่

หน้ากาก

แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เช่น ศิริบัญชา เสือดาว และเป็นคำค้นหาที่มีการเติบโตมากที่สุด

เครื่องวัดอุณหภูมิ

เจลล้างมือ

สมุนไพรฟ้าทะลายโจร

 

 

หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า 5 อันดับแรกในการค้นหาได้แก่

เครื่องกรองอากาศ

เครื่องดูดฝุ่น เช่น เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย Xiaomi Deerma และเป็นหมวดคำค้นหาที่มีการเติบโตสูงสุด

เครื่องซักผ้า

ตู้เย็น

หม้อและกระทะไฟฟ้า เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน

 

 

หมวด อุปโภคบริโภค 5 คำค้นหายอดนิยมได้แก่

น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เดทตอล

ทิชชู่เปียก

กุนเชียง

ข้าว

สุรา

 

ส่วนการค้นหาที่ลดลงอย่างเช่นหมวดแฟชั่น นาฬิกาข้อมือ กระเป๋า รองเท้าผ้าใบ เสื้อผู้หญิง และรองเท้ากีฬา มีการค้นหาที่ลดน้อยมากที่สุด

 

ทั้งนี้ การมาของโควิด-19 ทำให้ Customer Journey เปลี่ยนไปสู่ออนไลน์มากขึ้น แต่หลังการปลดล็อกของห้างสรรพสินค้าจะทำให้คนกลับมาเดินห้าง และได้เห็นพฤติกรรมการซื้อสินค้าในรูปแบบออมนิชาแนลมากขึ้น และซื้อสินค้าในช่องทางที่ถูกที่สุดหรือสะดวกที่สุดแทน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online