ธนินท์ เจียรวนนท์ เผยสูตรบริหารคนรุ่นเก่าให้คิดแบบคนรุ่นใหม่คือหัวใจความสำเร็จ (สัมภาษณ์พิเศษ)
“เด็กรุ่นใหม่เหมือนลูกวัวไม่กลัวเสือ เวลามาคุยด้วยไม่มีกลัว กล้าพูด ทำให้ผมได้รู้อะไรใหม่ ๆ ไปด้วย”
 
นี่คือหนึ่งในประโยคที่เจ้าของอาณาจักรซีพีอย่าง “ธนินท์ เจียรวนนท์” เคยกล่าวไว้กับ Marketeer ในการสัมภาษณ์พิเศษครั้งก่อนหน้า
 
สะท้อนว่าแม้จะเป็นคนรุ่นเก่าที่เก๋าขนาดไหน แต่ยังมีทัศนคติที่เปิดใจรับฟังแนวคิดของคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ

อ่าน :  ธนินท์ เจียรวนนท์ การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 

ถ้าเราสังเกตซีพีเป็นองค์กรที่ชอบสร้างคน เน้นการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ซีพีมีสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่คอยบ่มเพาะคนในองค์กร  

ที่น่าสนใจคือโครงการผู้นำรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า เถ้าแก่น้อย ที่ซีพีจะออกไปเสาะหาคนรุ่นใหม่ตามสถาบันการศึกษา แล้วนำมาเข้าโครงการประชันไอเดียสร้างจากเถ้าแก่น้อย ขยับมาเป็นเถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่กลาง และเถ้าแก่ใหญ่ 

แล้วเพราะเหตุใดซีพีจึงต้องปั้นคน รดน้ำจากเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แทนที่จะทาบทามคนเก่ง ๆ จากองค์กรอื่นมา เพราะก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ยักษ์ใหญ่อย่างซีพีทำไม่ได้ 

สีหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มเมื่อกลุ่มนักข่าวร่วมกันถามถึงประเด็นคนรุ่นใหม่ และการเป็นผู้นำองค์กรที่ Marketeer ได้ร่วมสัมภาษณ์ในครั้งนี้น่าคิดตามอย่างมาก 

ทำสิ่งใหม่ต้องคิดแบบคนรุ่นใหม่ 

เจ้าสัวธนินท์เล่าว่า ยุคนี้คือยุค 4.0 มันไม่เหมือนแบบเก่าแล้ว ในเมื่อเราทำของใหม่ ทำในสิ่งที่ไม่เหมือนใคร ต้องอย่ามองข้ามเด็กรุ่นใหม่ เราไปเอาคนเก่ามาจะเกิดสิ่งใหม่ก็จริง แต่เป็นสิ่งใหม่ของเขาในเรื่องนี้ 

สู้เราเลือกเด็กรุ่นใหม่ไปเลย เพราะเด็กรุ่นใหม่เป็นเหมือนลูกวัวไม่กลัวเสือ กล้าลองถูก ลองผิด วันนี้ผิดไม่เป็นไร ผิดแล้วแก้ไขก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย  

คนรุ่นใหม่ไม่ต้องไปล้างสมองเขาด้วย รุ่นเก่าที่เขาสำเร็จแบบเก่า ถ้าจะให้เขาเปลี่ยนแบบใหม่นี่ยากมาก บางคนตั้งใจจะเปลี่ยนแต่เขาเปลี่ยนไม่เป็น ขี้เกียจเปลี่ยนด้วย  

เพราะเขาสำเร็จอยู่แล้ว สำเร็จของเขาคือยุคนี้เวลานี้ แต่ผมกำลังทำยุคใหม่ เวลานี้โลกกำลังเปลี่ยน ผมเลยต้องเอาคนใหม่มาทำเรื่องใหม่ ” 

แม้เราจะให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าคนรุ่นเก่าไม่สำคัญ คนรุ่นเก่าสำคัญมาก เพราะคนรุ่นเก่าจะเป็นเหมือนซัปพอร์ตเตอร์คอยสนับสนุนให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้ลองผิดลองถูก  

เจ้าสัวธนินท์ยังบอกว่า สิ่งที่สำคัญคือ ต้องชี้แนะ แต่ไม่ชี้นำ

ในที่นี้คือ แนะในเวลาที่บางครั้งเด็กรุ่นใหม่อาจจะเดินไม่ถูกทาง แต่จะไม่ชี้นำเพราะจะเป็นการนำไปในแบบเก่า ๆ  

และคนของซีพีต้องเป็นและคิดแบบเถ้าแก่คือ ต้องทำเป็นหมดทุกอย่างทั้งบริหารคนเป็น สร้างคนเป็น จัดซื้อเป็น ขายเป็น ดูแลบัญชีการเงินเป็น 

เด็กรุ่นใหม่มีตัวตน และไม่ใช่หุ่นยนต์ 

เจ้าสัวธนินท์เล่าต่อให้เราได้นั่งคิดตามแบบเพลิน ๆ ว่า เด็กยุคใหม่นั้นเก่งกว่ายุคของตัวเองเสียอีก

และเด็กยุคนี้ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ แต่เชื่อฟังเพื่อนฝูง สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการคือ การมีตัวตนเพราะฉะนั้นเราต้องให้โอกาสเขาอย่างเต็มที่ 

จริง ๆ แล้วคนเก่งต้องการ ‘อำนาจ’ เป็นที่หนึ่ง มีอำนาจเพื่อที่จะได้แสดงความสามารถ สิ่งที่ต้องการที่สองคือ ‘เกียรติ’ และสิ่งที่ต้องการที่สามคือเงินเดือน’

ถ้าคนไหนเอาเงินมาตั้งต้นก่อน คนนั้นไม่เก่ง เพราะเขายังไม่มั่นใจตัวเขาเอง ถ้าคนที่เขาเก่งจริง เขามั่นใจทำผลงาน เขาไม่เกี่ยง เขาจะคิดว่ามีโอกาสให้ได้แสดงความสามารถมั้ย ไม่ใช่ไปฟังคนอื่นเป็นหุ่นยนต์

เมื่อเมล็ดพันธุ์จากไป ต้องโทษตัวเอง 

และแม้ว่าการลงทุนกับคนรุ่นใหม่จะมีความเสี่ยง ที่คนรุ่นใหม่ชอบแสวงหาความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดเวลา ในวันที่เรารดน้ำให้เขาอย่างเต็มที่ แต่เขายังออกไปหาแหล่งบ่มเพาะที่อื่น

เจ้าสัวบอกว่า  

เราจะต้องไม่โทษเขา แต่เราต้องโทษตัวเอง โทษว่าทำไมคนเก่ง ๆ ไม่อยู่กับบริษัท ในเมื่อเราให้โอกาสเขา สร้างเขาขนาดนี้ ทำไมเขายังไม่เอา นั่นแสดงว่ามีที่ที่ให้เขาดีกว่าเรา” 

และหากมีที่อื่นที่ให้โอกาสดีกว่าที่นี่ สิ่งที่เราทำคือ เราต้องไม่อิจฉาเขา แต่เราต้องดีใจกับเขา เราเสียที่เราสร้างเขา และเสียความรู้สึกที่ว่าเขารู้สึกไม่ดีกับเราต่างหาก

คนสำคัญที่สุด-รุ่นใหม่ต้องเก่งกว่า 

นั่งฟังเจ้าสัวธนินท์เล่ามาถึงตอนนี้บอกได้เลยว่าซีพีให้ความสำคัญในเรื่อง “คน” เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน 

“ หุ่นยนต์ รถยนต์ไร้คนขับใครเป็นคนสร้าง ก็คนครับ ไม่ใช่เกิดได้เอง แล้วคนใช้ก็คือคน ไม่มีอะไรที่สำเร็จที่ไม่เกี่ยวกับคน เพราะฉะนั้นคนสำคัญที่สุด 

เจ้าสัวธนินท์บอกอีกว่า ที่นี่ไม่ใช่โรงงานผลิตคนที่ตีมูลค่าได้ แต่คนที่ถูกผลิตจากที่นี่มีมูลค่าสูงกว่าที่จะประเมินได้ เพราะคนเก่งที่เราสร้างขึ้นมาอาจทำให้เราได้เงินแสนล้าน หมื่นล้านก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม ยังเน้นย้ำว่า คนรุ่นใหม่ต้องไม่เดินตามรอยตนเอง แต่ต้องทำให้เหนือกว่า เปลี่ยนเส้นทางแล้วแซงหน้าไปให้ได้ หากเดินตามหลังตนเองก็จะกลายเป็นแบบเก่า

ผู้นำเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนดีด้วย 

จากคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ค่อย ๆ ก้าวมาเป็นผู้นำในวันหน้า แล้วผู้นำในแบบฉบับของเจ้าสัวธนินท์คืออะไร 

เจ้าสัวธนินท์ไล่เรียงให้ฟังว่าเรื่องแรกคือ ผู้นำ “เก่ง” อย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็น “คนดี” ก่อน คนดีเรื่องแรกของเจ้าสัวคือ ต้องรักพ่อแม่ รักพี่น้อง

“ถ้าคนไหนไม่รักพ่อแม่ ไม่รักพี่น้อง แล้วบอกว่ารักสังคม จะไปช่วยสังคมนี่พูดเล่นทั้งนั้นเลยครับ

เพราะพ่อแม่คุณยังไม่ดูแลเขาอย่างดี คนอย่างนี้ไม่มีวันเจริญ ทำบุญดีที่สุดคืออะไรรู้มั้ย คือทำให้พ่อแม่รู้สึกดีใจ มีความสุข ไปทะเลาะกับพ่อแม่ นี่บาปมาก”

คนดีต่อมาคือ ต้องรู้จักเสียสละ รู้จักเสียเปรียบ รู้จักให้ รู้จักอภัย แล้วต้องทุ่มเท พยายามผ่านอุปสรรคทุกอย่าง 

คนเราจะเก่งได้ต้องไม่ขาดพวกนี้ ถ้าขาดพวกนี้คือไม่เก่ง เรียนหนังสือเก่งไม่พอ รู้และต้องทำให้สำเร็จ ถึงจะเรียกว่ารู้จริง

ธนินท์ เจียรวนนท์ ยังฉายภาพให้ฟังว่า คนที่จะเป็นผู้นำต้องไม่เอาเปรียบ ต้องเป็นคนให้ก่อน แล้วได้รับทีหลัง ต้องรู้จักเสียเปรียบ ถ้าเห็นแก่ตัวแล้วจะไปยิ่งใหญ่ได้อย่างไร

ทั้งหมดทั้งมวลคือแก่นแท้ของความเป็นผู้นำ

ที่ไม่ต้องมองหาที่ไหนไกล แต่คือคนที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้ให้เราฟังที่ชื่อ

“ธนินท์ เจียรวนนท์”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online