Cloud Kitchen อะไร ยังไง ? หรือนี่คือทางรอดของร้านอาหารยุค New Normal
Cloud Kitchen, Ghost Kitchen, Virtual Kitchen
ไม่ว่าคุณจะได้ยินคำไหน แต่ทั้ง 3 คำนั้นมีความหมายแบบเดียวกันนั่นคือสถานที่ที่หนึ่งที่มีห้องครัวของร้านอาหารหลายร้านรวมอยู่ด้วยกัน
โดยCloud Kitchenนั้นจะไม่มีโต๊ะให้ลูกค้านั่งกิน เมื่อทำเสร็จก็จะส่งให้ลูกค้าผ่าน Delivery
ซึ่งการเติบโตของ Delivery คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดCloud Kitchenมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถามว่าCloud Kitchenมีข้อดียังไง เหมือนหรือต่างกับครัวกลางอย่างไร
ถ้าอย่างนั้น Marketeer ขอไล่เรียงเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ที่ด้านล่างนี้
1
อธิบายให้ฟังก่อนว่าCloud Kitchenนั้นไม่ใช่ครัวกลาง
ครัวกลางคือสถานที่ที่จะส่งวัตุดิบไปยังร้านอาหารต่าง ๆ และร้านอาหารเอาวัตถุดิบนั้นไปปรุงต่อ เพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวกันของทุกสาขา
ส่วนCloud Kitchenเป็นเหมือนอีกสาขาของร้านอาหาร เพียงแต่ไม่มีโต๊ะให้ลูกค้านั่งกิน เมื่อทำเสร็จก็จะส่งผ่านทาง Delivery ให้กับลูกค้า
ซึ่งCloud Kitchenของบางแบรนด์ก็รับวัตถุดิบมาจากครัวกลางแล้วมาปรุงต่ออีกที
2
ข้อดีหลัก ๆ ที่ทำให้ร้านอาหารหันมาทำCloud Kitchenกัน ก็เพราะนี่คือโมเดลที่ทำให้ร้านขยายสาขาได้ในต้นทุนที่ลดลง
เพราะการลงทุนทำร้านอาหารแบบเดิมนั้นต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าพนักงาน ค่าดูแล และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มองไม่เห็นอีกมากมาย
แต่ต้นทุนในการขายผ่านCloud Kitchenมีแค่ครัว คนปรุงอาหาร 2-3 คน และวัตถุดิบในการทำอาหาร
แม้จะมีค่า GP ที่แพลตฟอร์ม Food Delivery ต่าง ๆ เรียกเก็บเพิ่มจากร้านอาหารเมื่อมีออเดอร์เข้ามา แต่เมื่อเทียบกันแล้วก็ยังเป็นต้นทุนที่ถูกกว่าการทำหน้าร้านอยู่ดี
โดย กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไปของ Sizzler เคยบอกกับ Marketeer ไว้ว่าการทำCloud Kitchenของ Sizzler นั้นใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการทำร้านปกติถึง 10 เท่า ทั้งยังสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นอีกด้วย
3
ในอีกมุมหนึ่งCloud Kitchenก็ยังเป็นเหมือนตัวทดลองสำหรับร้านอาหารที่อยากจะขยายสาขาได้ด้วยเช่นกัน
เป็นการทดลองตลาดว่าผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ มี Feedback กับร้านอาหารอย่างไร
หากมี Feedback ที่ดีอนาคตจะไปเปิดร้านที่มีโต๊ะมีที่ให้นั่งกินก็ยังไม่สาย
แต่หาก Feedback ไม่เป็นไปตามคาดก็จะได้ไม่ทำให้เสียเวลาหรือเสียเงินทุนในการทำร้านในบริเวณที่ไม่มีดีมานด์ของลูกค้า
4
จะทำCloud Kitchenไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เสมอไป เพราะเชนร้านอาหารใหญ่ ๆ ในไทยก็ใช้ครัวเดิมที่มีอยู่ปรุงอาหารของแบรนด์อื่นด้วยเช่นกัน
อย่างเช่น CRG เชนร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล ซึ่งมีแบรนด์ร้านอาหารที่ชื่อว่า อร่อยดี อยู่ในเครือ โดย CRG ก็ได้นำร้านอาหารอื่น ๆ อย่างเช่นร้าน Tokyo Bowl, ร้านเจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ, ร้านเจ๊เกียง หมูทอดข้าวเหนียวนุ่ม, ร้านผัดไทย มาปรุงในครัวของอร่อยดีเพื่อขายแบบ Delivery เท่านั้น
5
คนที่เป็นเจ้าของ Cloud Kitchen ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแบรนด์ร้านอาหารเสมอไป
อย่าง Line Man เองก็ทำCloud Kitchen เป็นของตัวเองขึ้นมา และให้ร้านอาหาร Street Food ชื่อดังเจ้าต่าง ๆ มาเช่าครัวเพื่อทำอาหารขาย
6
Cloud Kitchen ทำให้ร้านอาหารรายเล็กที่มีสายป่านไม่ยาว มีเงินทุนไม่มาก สามารถขยับขยายเพิ่มพื้นที่การขายไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้
และในอีกมุมหนึ่งก็ยังทำให้ลูกค้าอย่างเรา ๆ ได้กินของอร่อยจากร้านชื่อดังโดยที่ไม่ต้องไปยืนรอต่อคิวหรือขับรถไปไกล ๆ อีกด้วย
I
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



