พฤติกรรมคน Gen Y ในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและอาคารชุด โดย ศ. วิทวัส รุ่งเรืองผล
ตอนที่แล้วผมเขียนบทความเกี่ยวกับพฤติกรรมการหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้ออาคารชุดของคนรุ่นใหม่ โดยอ้างอิงข้อมูลงานวิจัย”พฤติกรรมการเลือกซื้อคอนโดมิเนียมของกลุ่มลูกค้า GENERATION Y และการรับรู้คุณค่าของคอนโดมิเนียมหลังจากการเข้าอยู่อาศัย” ของคุณพิชชา ฉัตรชัยพลรัตน์ นักศึกษาปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งในงานวิจัยยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตัดสินใจซื้ออาคารชุด ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และคนที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้ออาคารชุด เลยขอนำมาเขียนต่ออีกตอนครับ
มุมมองของ GEN Y ที่มีต่ออาคารชุด
ภาพที่เจนวาย มองอาคารชุดจะเชื่อมโยงกัน ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต โดยการเดินทางเป็นประเด็นหลักที่ทำให้อยากใช้ชีวิตในอาคารชุด โดยคนรุ่นนี้มองเห็นความจำเป็นในการมีรถยนต์น้อยกว่าคนรุ่นก่อน โดยเลือกใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางเพื่อต้องการควบคุมเวลา ตามด้วยสะดวกสบายในด้านอื่นประกอบด้วย ความปลอดภัย การบำรุงรักษาและทำความสะอาด การอยู่ใกล้แหล่งอาหาร และแหล่งจับจ่ายใช้สอย
เนื่องจากคน Gen Y จำนวนมากมีประสบการณ์ในการอยู่หอพักมาก่อนในช่วงเรียนปริญญาตรี หรือในช่วงระยะแรกของการทำงาน ในการตัดสินใจซื้ออาคารชุดจึงเปรียบเทียบกับหอพัก โดยมีมุมมองว่าอาคารชุดจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และภาพลักษณ์ของตนให้ดูดีกว่าการอยู่ในหอพัก รวมถึงมุมมองด้านการลงทุนที่มีค่านิยมในการเป็นเจ้าของอาคารชุดในฐานะสินทรัพย์ ที่จะเพิ่มมูลค่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับการจ่ายค่าเช่าหอพักที่จ่ายแล้วหมดไป อีกทั้งการที่ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์เมื่ออยู่ในอาคารชุด ทำให้ไม่ต้องมีภาระในการผ่อนรถยนต์ และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารถ ทำให้มีความสามารถในการผ่อนอาคารชุดได้สูงขึ้น
จึงสรุปได้ว่าอาคารชุดในมุมมองของ Gen Y เป็นสินค้าที่ทดแทนหอพัก จึงไม่ค่อยมองเปรียบเทียบอาคารชุดกับบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ และในการตัดสินใจเลือกอาคารชุดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดูดีกว่าหอพัก จึงเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยให้เหตุผลว่า “ถ้าซื้ออาคารชุดที่ไม่มีสระว่ายน้ำ ฟิตเนส มีแต่ห้องเหมือนหอพัก ความรู้สึกก็ไม่ต่างจากอยู่หอพัก แล้วจะซื้อไปทำไม” แสดงให้เห็นว่า สำหรับ Gen Y การออกแบบอาคารชุดให้มีสุนทรียะในการอยู่อาศัย โดยมีดีไชน์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แตกต่างจากหอพัก เป็นสิ่งที่ลูกค้า Gen Y คาดหวัง
การซื้ออาคารชุด ของ Gen Y เพื่อตอบสนองต่อการมีเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเองให้มากขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าอาคารชุดที่ซื้อจะเป็นที่อยู่อาศัยถาวร จะเห็นได้ว่ามุมมองของ Gen Y ที่มีต่ออาคารชุดยังมีบางส่วนที่คล้ายกับมุมมองของการอยู่หอพัก คือการใช้ประโยชน์เพื่อความสะดวกในช่วงหนึ่งของชีวิต ก่อนจะขยับขยายไปหาที่อยู่อาศัยอื่นในอนาคต
จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้เมื่ออาคารชุดที่ซื้อไม่สามารถตอบสนองความสะดวกของตัวเองได้เมื่อมีการย้ายที่ทำงาน หรือมีระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำการขายหรือปล่อยเช่าห้องในอาคารชุดแล้วทำการซื้ออาคารชุดในโครงการใหม่ ที่ตอบสนองความสะดวกและคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ในมุมมองของผม ตลาดอาคารชุดที่เน้นกลุ่ม Gen Y น่าจะมีศักยภาพในการเติบโตตามจำนวนคน Gen Y ในแต่ละปีที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ จากภาวะเศรษฐกิจในปี 2563-64 ที่คาดว่าจะแย่ การลดจำนวนพนักงานของบริษัทต่าง ๆ และการชะลอการรับพนักงานใหม่ น่าจะมีผลเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ตลาดอาคารชุดสำหรับ Gen Y มีปริมาณความต้องการลดลง
ปัจจัยที่ Gen Y ใช้ในการตัดสินใจเลือกอาคารชุด
ในการตัดสินใจเลือกซื้ออาคารชุดของ Gen Y จะตัดสินใจจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ทำเล ทำเลเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจซื้ออาคารชุด คำว่าทำเลดี หมายถึงทำเลที่สร้างความสะดวกให้กับการใช้ชีวิต ซึ่งแยกออกมาได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
กลุ่ม 1 ไม่ใช้รถยนต์เป็นหลักและที่ทำงานอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า กลุ่มนี้ใช้ รถไฟฟ้าเป็นพาหนะหลักที่ใช้ในการเดินทาง การเลือกอาคารชุดจะเลือกจากรัศมีของสถานีที่ตั้งอยู่บนรถไฟฟ้าเส้นเดียวกันกับที่ทำงาน โดยระยะในการเดินจากอาคารชุดไปยังสถานีรถไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 200 เมตร หรืออาจไกลกว่านั้นได้ถ้าทางเดินจากอาคารชุดไปสถานีรถไฟฟ้ามีความสะดวกและปลอดภัย เช่นคุณภาพของทางเท้า ที่เดินได้สะดวกและมีที่บังแดดฝน หากมีข้อจำกัดของงบประมาณแล้วต้องเลือกอาคารชุดที่ไกลออกไปจากสถานี จะใช้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างช่วยในการเดินทาง โดยใช้ค่าใช้จ่ายในการนั่งมอเตอร์ไซค์เป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจ
กลุ่ม 2 กลุ่มที่ไม่ได้ใช้รถยนต์และที่ทำงานไม่ได้ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า พวกนี้จะเลือกอาคารชุดจากความสะดวกและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงาน โดยใช้การเดิน การนั่งรถประจำทาง หรือวินมอเตอร์ไซค์มาทำงาน อาคารชุดที่ใกล้กับป้ายรถเมล์ในเส้นทางที่จะเดินทางมาทำงานได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถ ค่าใช้จ่ายในการนั่งวินมอเตอร์ไซค์ที่ไม่สูงเกินไป หรือระยะทางที่สามารถเดินมาทำงานได้ในเวลาไม่เกิน 20 นาที จึงเป็นนิยามของคำว่าทำเลที่น่าสนใจ
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของตัวเองเป็นหลักในการเดินทาง กลุ่มดังกล่าวพิจารณาจากความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน ด้วยการขับรถ การเลือกทำเลจะเลือกจากการติดขัดของการจราจร เส้นทางลัด และทิศทางของการจราจรจากอาคารชุดไปยังที่ทำงาน โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางคือไม่เกิน 30 นาที และถ้าได้ต่ำกว่า 15 นาทีในช่วงที่การจราจรไม่ติดขัดจะถือว่าน่าพอใจ ระยะทางจากอาคารชุดไปยังสถานีรถไฟฟ้าไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ใช้ในการตัดสินใจ แต่เป็นปัจจัยเสริมโดยเชื่อว่าถ้าได้ทำเลใกล้รถไฟฟ้า จะทำให้โอกาสในการให้เช่าในอนาคตมีมากขึ้น แต่ในการตัดสินใจ ยังให้น้ำหนักกับความสะดวกและระยะเวลาในการขับรถไปทำงานมากกว่าความใกล้สถานีรถไฟฟ้า
2. ราคา คน Gen Y ส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินเก็บ การซื้ออาคารชุดมักเป็นการขอกู้ 100% จากสถาบันการเงิน ราคาที่ใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการผ่อน โดยคนกลุ่มนี้จะหาข้อมูลเบื้องต้นจากการเข้าเว็บไซต์แล้วทดลองคำนวณราคาอาคารชุดที่สามารถซื้อได้จากฐานรายได้ อาคารชุดที่มีราคาเกินความสามารถในการผ่อนจะถูกตัดออกไปก่อน สำหรับ Gen Y ที่มีผู้สนับสนุนในการซื้อ เช่น พ่อแม่ให้การสนับสนุน ราคาที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อจะมาจากงบประมาณที่ผู้สนับสนุนกำหนดให้ รวมถึงนำจำนวนเงินที่ผู้สนับสนุนแจ้งว่าจะช่วยในการผ่อนมาใช้เป็นฐานในการคำนวณราคาซื้อด้วย
พฤติกรรมคน Gen Y ไม่ค่อยสนใจอาคารชุดมือสอง ด้วยมองว่าราคาไม่ได้ต่ำกว่าอาคารชุดใหม่มากนัก ในการซื้ออยากได้ของใหม่มากกว่ามือสองจึงไม่ค่อยนำราคาอาคารชุดมือสองมาเปรียบเทียบ
3. ระยะเวลาในการเข้าอยู่อาศัย พฤติกรรมคน Gen Y ให้น้ำหนักกับอาคารชุดที่สร้างเสร็จแล้วหรือใกล้เสร็จ มากกว่าการจองอาคารชุดที่เพิ่งเริ่มเปิดขายและใช้เวลานานกว่าจะได้เข้าอยู่อาศัย เนื่องจากคนกลุ่มนี้ มีบางส่วนที่อยู่หอพักหรือเช่าอาคารชุดอยู่ ซึ่งไม่สามารถผ่อนอาคารชุดพร้อมกับจ่ายค่าเช่าพร้อม ๆ กันได้ ระยะเวลาที่อาคารชุดแล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่จึงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
4. สภาพแวดล้อมของโครงการและรอบโครงการ สภาพแวดล้อมที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักในการตัดสินใจซื้อ เน้นที่ความสะดวก ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว โดยนิยามของสภาพแวดล้อมที่สร้างความสะดวกสำหรับ Gen Y ร้านสะดวกซื้อเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย โดยให้ความสำคัญกับร้านสะดวกซื้อมากกว่าตลาดหรือร้านอาหาร หากสภาพแวดล้อมละแวกโครงการมีตลาดสดหรือแหล่งชุมชน ก็ต้องดูว่าสะอาดและเป็นระเบียบ
ในด้านความปลอดภัย นอกจากระบบรักษาความปลอดภัยในอาคารแล้ว ความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมรอบโครงการ เช่น อยู่ริมถนน ไม่เข้าซอยเปลี่ยว มีแสงไฟส่องสว่าง และแหล่งชุมชนละแวกโครงการ ที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยหากต้องเดินทางกลับที่พักในช่วงเวลาดึก ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ นอกจากนี้ ความเป็นส่วนตัว และความสงบในการอยู่อาศัยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ เพราะเมื่อเหนื่อยล้าจากการทำงานเมื่อเข้าถึงที่พักต้องมีความสงบและความเป็นส่วนตัว หากพื้นที่โดยรอบมีเสียงดังหรือคนพลุกพล่านเกินไป อาจเป็นปัจจัยลบ รวมถึงเพื่อนบ้านผู้อยู่อาศัยในโครงการ คน Gen Y เคยอยู่หอพักมาก่อน จึงไม่ค่อยชอบสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ใกล้หอพัก หรือใกล้มหาวิทยาลัย เพราะมองว่ามีโอกาสที่จะมีนักศึกษามาเช่าอาคารชุดในโครงการ ซึ่งอาจส่งเสียงดังรบกวนความสงบ
5. พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง คน Gen Y ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลามาใช้สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางบ่อยนัก จึงไม่ค่อยให้ความสนใจกับคุณภาพของอุปกรณ์ออกกำลังกาย หรือขนาดของสระว่ายน้ำ แต่มองสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ในเรื่องภาพลักษณ์ และสุนทรียะที่ดูแล้วสบายตา สบายใจ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ขึ้น มากกว่าการใช้ประโยชน์จริง สิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมส่วนกลางที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของ Gen Y เช่น โคเวิร์กกิ้งสเปซ กิจกรรมโยคะ หรือมวยไทย มีผลต่อความรู้สึกในเชิงจิตวิทยา ที่มีผลอยู่บ้างต่อการตัดสินใจซื้อ
ถึงแม้ว่าคน Gen Y จะไม่ค่อยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ แต่ก็มีผลเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจซื้อ โดยคนกลุ่มนี้มองว่าหากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย โถงล็อบบี้ หรือสวน ก็ไม่ต่างจากการอยู่หอพักที่เคยอยู่ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกถึงไม่ค่อยได้ใช้แต่เมื่อต้องการใช้ก็ควรจะมีให้ใช้
ถ้าจะให้สรุปปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจซื้ออาคารชุดของ Gen Y ก็อาจพอสรุปได้ง่าย ๆ ว่า ความสะดวก ภาพลักษณ์ การยกระดับคุณภาพชีวิต ในราคาที่ผ่อนไหว คือสิ่งที่คน Gen Y ใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้ออาคารชุด ส่วนแบรนด์ของผู้ประกอบการอยู่ในกลุ่มภาพลักษณ์อยู่แล้วครับ หวังว่าจะได้มุมมองที่เข้าใจ Customer insight ของคน Gen Y มากขึ้นนะครับ
I
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



