ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ 2563 เมื่อใครๆ ก็อยากได้ใจลูกค้า (วิเคราะห์)

ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ในครึ่งปีหลัง 2563 สนุกขึ้น เมื่อตลาดนี้มีคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาลงเล่นในตลาด ทั้งโรบินฮู้ดของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะเปิดตัวในเดือนกันยายน 2563 นี้ การเปิดตัวของ eatable แพลตฟอร์มเพื่อร้านอาหาร และฟู้ดเดลิเวอรี่ของธนาคารกสิกรไทย รวมถึงการรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ของ GET สู่ Gojek ซึ่งเป็นผู้ลงทุนใน GET เพื่อนำศักยภาพของ Gojek ด้านเทคโนโลยี และอื่น ๆ มาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทย ให้แข่งขันในสังเวียนฟู้ดเดลิเวอรี่ และอื่น ๆ อย่างแข็งแกร่งขึ้น และการควบรวมกิจการวงในของ LINE MAN

การต่อยอดสู้เพื่อชิงทราฟิกการสั่งซื้อของผู้บริโภคของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ 4.1 หมื่นล้านบาท จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย กลยุทธ์การแข่งขันในตลาดแต่ละแพลตฟอร์มจึงมีความแตกต่างกันไป แต่เพื่อจุดมุ่งเหมายเดียวกันคือ จำนวนการสั่งซื้อที่เติบโตในแพลตฟอร์ม ที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

เพราะในวันนี้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ยังไม่ได้กำไรเลยสักราย

 

 

Grab

2560       361.68 ล้านบาท ขาดทุน 985.33 ล้านบาท

2561       1,105.75 ล้านบาท ขาดทุน 711.56 ล้านบาท

2562       2,855.63 ล้านบาท ขาดทุน 1,650.11 ล้านบาท

 

GET (Gojek)

2562      133.16 ล้านบาท  ขาดทุน 1,137.30 ล้านบาท

 

Food Panda

2560       206.03 ล้านบาท ขาดทุน 39.57 ล้านบาท

2561       240.72 ล้านบาท ขาดทุน 138.80 ล้านบาท

2562       16.90 ล้านบาท ขาดทุน 1,264.50 ล้านบาท

 

LINE Man

2562       49.88 ล้านบาท ขาดทุน 157.25 ล้านบาท

ที่มา: กรมพัฒนาการค้า, Marketeer รวบรวม จาก บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด และบริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด

 

กลับมาในครึ่งปี 2563 เรามาดูกันว่า ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่ละแพลตฟอร์มเขามีมูฟเมนต์การตลาดอย่างไร

แกร็บฟู้ด ‘Free Your Hunger’ ลูกค้าใหม่คือเส้นทางการเติบโต

แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่อย่างแกร็บฟู้ด เปิดประเด็นการแข่งขันในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ครึ่งปีหลัง 2563 ด้วยการส่งแคมเปญ ‘Free Your Hunger’ เลิกกินตามใคร กดสั่งตามใจ

แคมเปญนี้ประกอบด้วย

– สั่งอาหารส่งฟรี 3 กิโลเมตร

– สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการจับมือกับร้านอาหารเปิด Signature Menu ของร้านรวมกันทั้งหมด 100 เมนู จาก 75 ร้านอาหาร เพื่อดึงลูกค้าที่ต้องการรับประทาน Signature Menu ของร้านเลือกที่จะสั่งอาหารจากแกร็บ

– เปิดหนังสั้นเพื่อสื่อสารถึงการเปิดโลกการรับประทานอาหารด้วยเมนูใหม่ ๆ ในช่องทางออนไลน์ โดยมีเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็นผู้กำกับ และมี BNK เป็นพรีเซนเตอร์ในแคมเปญนี้ เพื่อสร้าง Awareness ให้เกิดขึ้น

ซึ่งแคมเปญนี้ จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย มีความต้องการที่จะเข้าไปสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้เติบโตจากเดิม 2 เท่า

จันต์สุดามองว่าที่ผ่านมาการสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี่ มีลูกค้าอยู่กลุ่มหนึ่งที่นิยมพ่วงสั่งอาหารตามเพื่อน แทนการดาวน์โหลดแอป และสั่งอาหารด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าแกร็บสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้จะทำให้ยอดการใช้งานแอปแกร็บเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ที่ผ่านมา ลูกค้าหลักของแกร็บฟู้ดคือกลุ่มลูกค้าอายุ 20-39 ปี และแคมเปญนี้จันต์สุดาเชื่อว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ที่มีอายุ 20-39 ปี ที่ไม่เคยสั่งแกร็บฟู้ดด้วยตัวเองมาก่อนได้เช่นกัน

แต่ไม่ได้เน้นไปที่การเพิ่มเม็ดเงินในการสั่งแต่ละออเดอร์ ในปัจจุบันลูกค้าแกร็บฟู้ดมีการสั่งอาหารต่อ 1 ออเดอร์เฉลี่ย 100-200 บาท

การที่แกร็บให้ความสำคัญกับลูกค้าใหม่ Marketeer มองว่าคือหนึ่งในกลยุทธ์ที่แกร็บต้องการสร้าง Ecosystem ซึ่งประกอบด้วยลูกค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์

เพราะถ้ามีลูกค้าสั่งอาหารจำนวนมาก ร้านอาหาร และไรเดอร์จะมีรายได้มากขึ้นตามมา

และถ้ามีไรเดอร์และร้านอาหารให้บริการจำนวนมาก ลูกค้าก็จะเข้ามาในแพลตฟอร์มเพื่อสั่งอาหารมากขึ้น

ปัจจุบันแกร็บมีร้านอาหารในระบบ 80,000 ร้าน และไรเดอร์ที่ให้บริการที่ลงทะเบียนอยู่ในระบบของแกร็บทุกบิสซิเนสยูนิต 100,000 กว่าคน และยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันร่วมทั้งสิ้น 14 ล้านดาวน์โหลด

นอกจากด้านลูกค้าใหม่ จันต์สุดายังคาดหวังว่าในแคมเปญนี้จะช่วยให้แกร็บฟู้ดเพิ่มการเติบโตด้านยอดการสั่งซื้อให้กับร้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน

ทั้งนี้ ภายใต้การบริการของแกร็บฟู้ดในปัจจุบันให้บริการ 35 เมือง ใน 33 จังหวัด

 

LINE MAN Wongnai ต่อยอดธุรกิจ O2O บนเส้นทางอาหาร

ไม่นานมานี้ LINE MAN ควบรวมกิจการ Wongnai เป็นบริษัท LINE MAN Wongnai เพื่อต่อยอดธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ สู่แพลตฟอร์ม O2O Online to Offline สำหรับธุรกิจอาหารแบบครบวงจร ทั้งในมุมของผู้บริโภคและร้านอาหาร

ในมุมของผู้บริโภคการควบรวม Wongnai ทำให้ LINE MAN เสริมจุดเด่นในเรื่องคอนเทนต์แนะนำร้านอาหารที่เป็นจุดขายของ Wongnai ที่ผ่านมามีร้านอาหารที่อยู่ในระบบ Wongnai มากกว่า 400,000 ร้าน ผู้ใช้ LINE MAN สามารถอ่านข้อมูลร้านอาหารที่มีอยู่และสั่งอาหารที่ต้องการได้ทั้งการสั่งอาหารออนไลน์เพื่อรับประทานหรือรับเองที่ร้าน การจองโต๊ะในร้านอาหาร และบริการฟู้ดเดลิเวอรี่  ไม่ว่าจะเป็นการเลือกร้านที่ตรงกับความต้องการที่สุด สั่งเดลิเวอรี่ไปส่งถึงบ้าน สั่งอาหารแล้วไปรับเองที่ร้าน หรือจองโต๊ะล่วงหน้า

โดยบิซิเนสโมเดลค่าส่งของ LINE MAN ประกอบด้วย 2 โมเดลด้วยกันได้แก่

1.คิดค่าส่งตามระยะทางจริง สำหรับร้านอาหารที่ไม่ได้เข้าร่วม LINE MAN GP

2. ค่าส่งฟรี 0-3 กิโลเมตรแรก สำหรับร้านที่เข้าร่วม LINE MAN GP และคิดค่าส่งเพิ่มขึ้นตามระยะทางที่ส่ง 

ตั้งแต่ 3 กิโลเมตรขึ้นไป ถึง 6 กิโลเมตร ราคาค่าส่ง 10 บาท

ส่วนตั้งแต่ 6 กิโลเมตรขึ้นไป ถึง 8 กิโลเมตร ราคาค่าส่ง 20 บาท

และตั้งแต่ 8 กิโลเมตรขึ้นไปจะคิดค่าส่งตามระยะทางจริง

ในมุมของร้านอาหารเป็นการบริการสื่อประชาสัมพันธ์ การนำเสนอช่องทางการขายใหม่ ๆ และการให้บริการซอฟต์แวร์จัดการร้านอาหารที่เชื่อมโยงข้อมูลไปที่ระบบหลังบ้านของ LINE MAN Wongnai

การที่ LINE MAN ควบรวม Wongnai Marketeer มองว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเสริมความแกร่งในการแข่งขันฟู้ดเดลิเวอรี่ให้มีความน่าสนใจขึ้น

เนื่องจาก Pain Point ของผู้บริโภคบางคนเมื่อสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี่ในร้านที่ไม่คุ้นเคย ปัญหาส่วนใหญ่คือไม่มั่นใจว่าอาหารที่สั่งมาจะรสชาติและหน้าตาเป็นอย่างไร และต้องออกไปหาข้อมูลข้างนอกเพื่อกลับมาสั่งอีกครั้ง ซึ่งโอกาสในการเปลี่ยนใจไปสั่งอาหารจากแอปคู่แข่งที่มีค่าส่งถูกกว่าจะมีมากขึ้นตามมา

เพราะที่ผ่านมาอุปสรรคของการเติบโตของไลน์แมนมาจากค่าส่งอาหารที่สูง แม้ราคาอาหารจะเป็นราคาปกติของร้านก็ตาม

นอกจากนี้ การควบรวมกิจการยังเป็นการแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลลูกค้าซึ่งกันและกันโดย Wongnai มีฐานลูกค้าที่เข้ามาอ่านรีวิวแนะนำร้านอาหาร 10 ล้านรายต่อเดือน ส่วน LINE MAN มีฐานลูกค้าผู้ใช้ LINE มากกว่า 45 ล้านราย ซึ่งฐานลูกค้าและดาต้าเบสในการใช้งานสามารถนำมาวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อนำเสนอบริการที่เข้าถึงลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดการสั่งอาหารให้มากขึ้นตามมา

ในปัจจุบัน LINE MAN ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ 14 จังหวัด คิดค่าบริการส่งอาหารตามระยะทางระหว่างร้านอาหารกับผู้สั่ง แม้การคิดค่าส่งตามระยะทางจะเป็นจุดที่ทำให้ลูกค้าหลายคนมองว่าค่าส่งแพง แต่ก็เป็นจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าที่อยู่ไกลจากร้านอาหารมาก ๆ สามารถสั่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ง่ายขึ้น

 

GET เมื่อเกมนี้ขอเล่นบนชื่อของ Gojek

เมื่อธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยมีการแข่งขันกันสูง และ Gojek แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ออนดีมานด์ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียผู้ลงทุนใน GET ประเทศไทย เข้ามารีแบรนด์แอปฟู้ดเดลิเวอรี่และเดลิเวอรี่ออนดีมานด์ GET เป็น Gojek

การรีแบรนด์ในครั้งนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นำพลังของ Gojek ทั้งด้านเทคโนโลยี พาร์ตเนอร์ร้านอาหารกว่า 500,000 ร้าน และไรเดอร์ในระบบ 2 ล้านคน ใน 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันกับฐานลูกค้า GET เพื่อให้บริการกับลูกค้า Gojek ทั้งหมดภายใต้บริการเดียวกัน พร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน

ที่ผ่านมาฐานลูกค้า GET ประกอบด้วยไรเดอร์ 50,000 คน และร้านอาหาร 30,000 ร้าน ที่กว่า 80% เป็นร้านอาหารโลคอลเข้าด้วยกัน ให้บริการใน 18 เขตใน 5 จังหวัด

การที่ Gojek ขอรีแบรนดิ้ง GET แม้ในวันนี้อาจจะทำให้คนไทยสงสัยถึงการรีแบรนดิ้ง และอาจจะทำให้จดจำแบรนด์ได้น้อยลง

เพราะที่ผ่านมา Brand Awareness ของ GET ทำไว้ค่อนข้างดี และเป็นรู้จักในวงกว้าง ส่วน Gojek เป็นชื่อแบรนด์ที่ใหม่สำหรับคนไทย และการรีแบรนด์อาจจะทำให้คนไทยบางคนคิดว่า GET ปิดตัวให้บริการ และมี Gojek ซึ่งเป็นฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่เข้ามาทำตลาดแทน

แต่ในมุมของผู้บริหาร Marketeer เชื่อว่าการรีแบรนดิ้งจาก GET เป็น Gojek สามารถสร้างการเติบโตด้านการให้บริการลูกค้าได้มากกว่า เพราะอย่างน้อยลูกค้าต่างประเทศที่มี Gojek ให้บริการ สามารถเปิดแอปพลิเคชัน Gojek ที่มีอยู่เพื่อให้บริการสั่งอาหารในไทยได้ทันที โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใหม่

เท่ากับว่า Gojek จะสามารถสร้างการเติบโตของฐานลูกค้าในประเทศอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการสร้างฐานลูกค้านี้ นอกจากจะเป็นการสร้างฐานลูกค้าในบริการฟู้ดเดลิเวอรี่แล้ว ยังรวมถึงบริการอื่น ๆ  เช่น บริการส่งคนและพัสดุออนดีมานด์ เป็นต้น  

GET ก่อตั้งขึ้นด้วยพันธกิจเดียวกับ Gojek ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับชีวิตของผู้ใช้บริการ โดย GET ได้เชื่อมผู้ใช้บริการในกรุงเทพฯ เข้ากับพาร์ตเนอร์คนขับมากกว่า 50,000 คน และร้านอาหารอีกกว่า 30,000 แห่ง ที่กว่า 80% เป็นกลุ่มวิสาหกิจรายย่อยขนาดย่อม ด้วยการรีแบรนด์เป็น Gojek จะทำให้บริษัทสามารถสร้างสรรค์ผลกระทบเชิงบวก และเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ให้กับพาร์ตเนอร์ ด้วยการนำเทคโนโลยีระดับโลกมาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดของผู้ใช้งานชาวไทย พร้อมนำฟีเจอร์และโปรดักต์ในออนไลน์ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วและเต็มศักยภาพ

 

Robinhood กำลังจะเปิดให้บริการ

หลังจากไทยพาณิชย์ โดยบริษัท 10X ประกาศเปิดตัวแอปโรบินฮู้ดในเดือนมิถุนายน 2563 และการแถลงข่าวเปิดตัวในครั้งนั้นไทยพาณิชย์คาดการณ์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในต้นเดือนสิงหาคม 2563

แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ในวันนี้ Robinhood ยังไม่สามารถเปิดตัวได้ และ Marketeer เชื่อว่าการเปิดตัว Robinhood อาจจะเลื่อนเปิดตัวเป็นภายในเดือนกันยายน 2563 แทน

การเปิดตัวของโรบินฮู้ดมาพร้อมจุดเด่นคือแอปสั่งอาหารออนไลน์ ที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม หรือ GP กับร้านอาหาร แต่คิดค่าส่งตามจริง ทำให้ร้านอาหารไม่ต้องบวกเพิ่มค่าอาหาร หรือลดปริมาณอาหารให้กับลูกค้าที่สั่ง เพื่อคงกำไรและให้ธุรกิจอยู่ได้

เพราะจุดมุ่งหมายจริง ๆ ของการให้บริการแอปโรบินฮู้ด นอกเหนือจากจะลด Pain Point ค่าอาหารแพงให้กับผู้บริโภคแล้ว

ในมุมของธุรกิจธนาคารคือการรู้จักลูกค้ามากขึ้น ผ่านดาต้าเบสผู้เข้ามาใช้บริการและโรบินฮู้ด

รวมถึงเป็นกาวใจเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์กับลูกค้าร้านอาหาร เพราะการเปิดบริการร้านอาหารในโรบินฮู้ด พนักงานในสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ที่ใกล้เคียงจะเป็นผู้ไปถ่ายภาพอาหารให้กับร้านอาหารเพื่ออัปลงแพลตฟอร์มแทนที่ร้านอาหารจะเป็นผู้ส่งภาพให้เอง

การที่พนักงานเข้าไปถ่ายภาพให้เป็นกุศโลบายที่น่าสนใจ เพราะนอกจากพนักงานจะรู้จักเจ้าของร้านค้าที่อาจจะกลายเป็นลูกค้าในอนาคตแล้ว เมื่อเจ้าของร้านค้าคิดจะเปิดบัญชี ขอสินเชื่อ และอื่น ๆ ที่ธนาคารมีให้บริการก็จะคิดถึงธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแรก

ในมุมของพนักงานเมื่อรู้จักเจ้าของร้านอาหารมากขึ้น โอกาสในการนำเสนอบริการของธนาคารที่ตรงกับความต้องการของเจ้าของร้านอาหารก็จะมีมากขึ้นตามมาเช่นกัน

 

Eatable แพลตฟอร์มช่วยร้านอาหารที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม

แพลตฟอร์ม Eatable เป็นแพลตฟอร์มของธนาคารกสิกรไทย ที่ให้บริการในการจัดการการสั่งอาหารของลูกค้าให้กับร้านอาหารฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม ที่พัฒนาโดยกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป

ในปัจจุบัน Eatable ยังคงอยู่ในช่วง Open Bata ด้วยการเปิดโอกาสให้ร้านอาหารเข้ามาลงทะเบียนใช้บริการ

และระบบ Eatable จะปรับเมนูอาหารในร้านเข้าสู่ระบบออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารในร้านสแกน QR Code เมนูอาหาร เพื่อสั่งอาหารผ่านสมาร์ทโฟนของตัวเองโดยไม่ต้องสัมผัสเมนูอาหารของร้าน

บริการต่าง ๆ ทำงานอยู่บน Web Base ผ่าน URL เว็บไซต์ โดยผู้ใช้งานทั้งร้านค้าและลูกค้าไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้ง

และในบริการของ Eatable มีส่วนของบริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ผ่านการสแกน QR Code ด้วยเช่นกัน โดยร้านค้าสามารถเลือกบริการส่งเอง หรือบริการส่งอาหารจากพาร์ตเนอร์ที่ร่วมกับ Eatable โดยคิดค่าส่งตามระยะทางตามผู้ให้บริการแต่ละค่าย พร้อมบริการแนะนำร้านค้ามอบส่วนลดในการส่งอาหารให้กับลูกค้าในราคาที่เหมาะสม

การให้บริการ Eatable ของกสิกรไทย มีเหตุผลคล้าย ๆ ไทยพาณิชย์ คือการเข้าไปเชื่อมความสัมพันธ์กับร้านอาหารเป็นหลัก เพื่อให้ร้านอาหารรู้สึกผูกพันกับธนาคารมากขึ้น และกลายเป็นลูกค้าธนาคารผ่านบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามมา

 

ทั้งนี้แม้ ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ จะระอุแค่ไหน แต่ความท้าทายที่สำคัญของธุรกิจนี้คือผู้บริโภค ที่ในวันนี้ยังมีพฤติกรรมตัดสินใจสั่งอาหารเดลิเวอรี่จากแพลตฟอร์มที่มีร้านอาหารให้เลือกจำนวนมาก และแคมเปญการตลาดที่ผู้บริโภคได้ผลประโยชน์สูงสุด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online