ZAAP PARTY เปิดสูตรทางรอดในวันที่โควิดทำให้ ‘ธุรกิจอีเวนต์’ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (วิเคราะห์)
ก่อนจะเลื่อนลงไปอ่านข้อความด้านล่าง เราอยากให้คุณลองถามตัวเองกันเล่น ๆ ก่อนว่าหากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจอีเวนต์ที่เน้นจัดงานคอนเสิร์ตซะเป็นส่วนใหญ่
แต่จู่ ๆ วันหนึ่งไวรัสโควิดก็ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก งานที่แพลนมาหลายเดือนต้องถูกเลื่อนไป ส่วนอนาคตข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะจัดงานยังไงต่อ
เป็นคุณจะทำยังไง?
เพียงแค่ลองคิดเล่น ๆ ก็ฟังดูแล้วช่างเป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากเสียเหลือเกิน
แต่นี่คือคำถามที่ บาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ CEO ของ ZAAP PARTY ต้องเจอในชีวิตจริง
ZAAP PARTYคือบริษัทอีเวนต์-ออแกไนเซอร์ที่พึ่งพารายได้จากการจัดอีเวนต์เป็นหลัก โดยในปี ๆ หนึ่ง ZAAP PARTYมีอีเวนต์เข้ามาเฉลี่ยแล้วมากกว่าร้อยครั้ง
ทำตั้งแต่งานไซส์เล็กไปจนถึงสเกลขนาดใหญ่อย่างเช่น S2O Songkran Festival, Fullmoon Party Live in Bangkok, Single Festival หรือ Bodyslam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลาฯ
แต่ในวันนี้ที่โควิดทำธุรกิจอีเวนต์แทบต้องหยุดชะงัก จึงส่งผลให้รายได้ของZAAP PARTY ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2020 นั้นหายไปราว 75-80%
และโควิดก็เกิดขึ้นมาในช่วงเวลา Prime Time ของบริษัทแบบพอดิบพอดี เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของ ZAAP PARTY นั้นมาจากการจัดงานในช่วงสงกรานต์เป็นหลัก เทียบแล้วเป็นสัดส่วนที่มากถึง 30% ของรายได้ทั้งปี
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า ZAAP PARTYจะแก้เกมหาทางรอดให้ตัวเองไปต่อได้ยังไง?
บาสเล่าให้เราฟังว่าเขาใช้ช่วงล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถจัดอีเวนต์ได้ในการ Brainstrom กับทีมงาน คิดงานเผื่ออนาคตภายใต้โจทย์ใหญ่ว่าหากสถานการณ์คลี่คลายZAAP PARTYจะจัดอีเวนต์ในรูปแบบของ Social Distancing ได้อย่างไร
เพราะหากเป็นในช่วงปกติที่ยังไม่มีโควิดระบาด ขั้นตอนของการทำงานที่กินเวลามากที่สุดก็คือการคิดงาน บาสจึงมองว่าหากคิดและสต๊อกไอเดียเอาไว้ก่อน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็สามารถช้อปปิ้งไอเดียที่มีอยู่ในสต๊อกมาใช้ได้ทันที
และหนึ่งในผลลัพธ์จากการ Brainstrom ในช่วงล็อกดาวน์นั้นก็กลายมาเป็นงาน TUK TUK Festival คอนเสิร์ตในรูปแบบ Social Distancing สไตล์ไทย ที่สร้างสรรค์จนสื่อต่างชาตินำไปแชร์ต่อ
จากความสำเร็จของ TUK TUK Festival ก็ต่อยอดไปยังอีเวนต์อื่น ๆ อีกมากมายอย่าง Social This Camping ที่ให้ผู้คนมาตั้งแคมป์ดูดนตรี หรือกับ Hotel Fest อีเวนต์ที่ให้ผู้ร่วมงานได้ชมคอนเสิร์ตแบบสด ๆ จากริมห้องพัก
แต่เมื่อทุกอีเวนต์ต้องทำภายใต้นโยบาย Social Distancing นั่นหมายถึงว่าจำนวนผู้เข้างานจะลดลง ซึ่งก็ส่งผลกระทบทำให้รายได้ค่าบัตรเข้าชมงานลดลงตามไปด้วย
และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่คนรัดเข็มขัดกันมากขึ้น การจะเพิ่มราคาบัตรให้แพงกว่าเดิมอาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์สักเท่าไร
ในประเด็นนี้ ZAAP PARTYจึงแก้เกมด้วยการปรับโมเดลการหารายได้ใหม่ ด้วยการพึ่งพารายได้จากสปอนเซอร์มากขึ้น ลดรายได้จากการขายบัตรเข้าชม
ยกตัวอย่างเช่นงาน TUK TUK Festival ที่รายได้มาจากสปอนเซอร์ 100% ไม่มีการขายบัตร ผู้ที่อยากเข้าร่วมงานต้องซื้อผลิตภัณฑ์ของสปอนเซอร์เพื่อร่วมลุ้นสิทธิ์เข้างานเท่านั้น
ซึ่งในมุมของแบรนด์เอง การเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้ในลักษณะนี้ นอกจากจะได้โฆษณาแล้วก็สามารถสร้างยอดขายสินค้าได้ในเวลาเดียวกัน
สะท้อนได้จาก Top Spender รายหนึ่งที่ซื้อสินค้าเพื่อที่จะลุ้นสิทธิ์เข้าร่วมงาน เพียงแค่สินค้าอย่างน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียวก็มียอดใช้จ่ายที่สูงถึง 9,000 บาท
โดยตอนนี้สปอนเซอร์ส่วนใหญ่ของZAAP PARTYจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่ม, เครือข่ายโทรศัพท์ รวมไปถึงภาครัฐที่เข้ามาอุดหนุนเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจคือแม้รายของZAAP PARTYในสองไตรมาสแรกของปีจะลดลงกว่า 75-80% ก็คือการที่บาสยังตั้งเป้าว่าสิ้นไตรมาส 4 รายได้ของZAAP PARTYจะเติบโตขึ้น 29% เมื่อเทียบกับสองไตรมาสก่อนหน้า
ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้รายได้ของ ZAAP PARTY จะยังเติบโต?
ZAAP PARTYจะใช้กลยุทธ์การจัดงานให้มีความถี่มากยิ่งขึ้น ด้วยการไปจับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างก็เช่นอีเวนต์ Social This Camping ที่จับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบตั้งแคมป์-เดินป่ามากยิ่งขึ้น
หรืออย่างอีเวนต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่าง โสดนั่งเศร้า ที่จับกลุ่มคนอกหักให้มานั่งดูคอนเสิร์ตที่มีแต่เพลงอกหัก
ซึ่งในมุมหนึ่งการที่ZAAP PARTYใช้กลยุทธ์ที่เข้าไปจัดอีเวนต์ตาม Local หรือหัวเมืองของจังหวัดต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



