พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด 19 เปลี่ยนไปอย่างไร และกังวลอะไร ?
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจทุกภาคส่วน แล้วช่วงหลังโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน แล้วแบรนด์จะต้องทำอย่างไร
วันเดอร์แมน ธอมสัน สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยในช่วงภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 ระหว่างเดือน ก.ค. ใน 4 เรื่องหลัก คือ เรื่องการเงินและเศรษฐกิจ (Finance & Economy), การงานและอาชีพ (Work & Career), การเข้าสังคมและการรักษาระยะห่างทางสังคม (Socialising & Social Distancing) และสุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellbeing)
พบว่า เป็นครั้งแรกที่คนไทยครบทุกเจเนอเรชั่น กังวลเรื่องความมั่นคงทางการงานการเงินมากที่สุด
ในด้านการเงินและเศรษฐกิจ ผู้บริโภคมีความกังวลด้านเศรษฐกิจและการเงินมากที่สุด โดยกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากถึง 71% และมีความกังวลในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวได้ช้า 60% และกังวัลเรื่องหน้าที่การงานและธุรกิจของตนเองจะหยุดชะงัก 60%
พบว่าผู้บริโภคกว่าครึ่งหนึ่งเลือกที่จะไม่ลงทุนกับเรื่องใด ๆ เลย แต่เลือกที่จะถือเงินสดไว้กับตัว หรือเลือกที่จะฝากเงินไว้ที่ธนาคารมากกว่า
และหากจะเลือกลงทุนมากที่สุดในช่วงนี้ พบว่าผู้บริโภคเลือกออมเงินประจำเดือน 33% รองมาเป็นการลงทุนเกี่ยวกับการเปิดธุรกิจของตนเอง 20% และลงทุนกับการซื้อประกันภัย 12%
ด้านการงานและอาชีพ ในช่วงเวลานี้ผู้บริโภคไม่ได้มองเรื่องความก้าวหน้าทางการงานเป็นเป้าหมายหลักอีกต่อไป การมีงานทำ คือเรื่องสำคัญที่สุด
พบว่า ผู้บริโภคมีความคิดที่จะลงทุน ลงแรงในการหางานทำและการรักษาหน้าที่การงานมากขึ้น ด้วยการเพิ่มความสามารถ (Up-Skill) และกลับไปเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม (Re-Skill) รวมไปถึงการเข้าอบรมที่ทางบริษัทส่งไป โดยผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในเรื่องนี้ถึง 31.5% และผู้บริโภคเลือกที่จะใช้ไปกับการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 19.4%
ส่วนการเข้าสังคมและการรักษาระยะห่างทางสังคม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ การใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของกันและกัน โดยใส่ใจเรื่องความสะอาดสูงถึง 70%
และจากสถานการณ์ที่ผ่านมาที่มีการล็อกดาวน์ ทำให้หลังการแพร่ระบาดผู้บริโภคก็ยังเลือกที่จะใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นถึง 56% สอดคล้องกับการเลือกที่จะออกจากบ้านเพื่อความบันเทิงน้อยลง 46% นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่า 52%
การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าในแบบ New Normal พบว่าผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องสุขอนามัย การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการใช้เวลาอย่างมีนัยสำคัญ
ระมัดระวังเรื่องความสะอาดภายนอกบ้านมากขึ้นเมื่อต้องออกไปซื้อของ 72% เลือกที่จะรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลมากขึ้น 59% เลือกที่จะเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีความแออัด 58% และการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มีเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นเพียง 28% เท่านั้น เพราะยังคงมีการซื้อสินค้าเกิดขึ้นทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป
และด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องสุขภาพจิตใจและความเครียดมากที่สุดถึง 47% รองลงมาคือความกังวลในวิธีการรักษาโควิด-19 และการวิจัยวัคซีนที่อาจจะยังไม่สำเร็จในเร็ว ๆ นี้ 45%
และสำหรับสิ่งที่ผู้บริโภคกังวลน้อยกว่าที่คาดคือ เรื่องการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อว่าโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขสามารถรับมือได้หากการระบาดระลอกใหม่มาถึง
แล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด 19 ที่เปลี่ยนไปนี้แบรนด์ควรรับมืออย่างไร
1. แบรนด์จะต้องกลับมานึกถึงคุณค่าที่แบรนด์ต้องการจะเสนอแก่ผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยเน้นเรื่องมูลค่าที่ได้รับ หรือความคุ้มค่าที่ได้ซื้อ
2. สร้างความรู้สึกถึงการได้รับประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากการลดราคา เช่น การสะสมแต้ม เงินคืน แลกของรางวัล หรือ Loyalty Program ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อและช่องทางที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น รู้สึกแบรนด์ได้ให้อะไรกลับไปสู่ผู้บริโภค
3. ทบทวนบทบาทของสินค้าแบรนด์ตนเองที่มีต่อผู้บริโภค ว่าสามารถสร้างประสิทธิภาพ ผลตอบแทน รายได้ หรือเพิ่มทักษะเกี่ยวกับงานของผู้บริโภคได้อย่างไร
4. นำเสนอคุณค่าทางอารมณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค อาจเปลี่ยนจากการสร้างความรู้สึกของการเป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับเป็นความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยแทน
ทั้งนี้ วันเดอร์แมน ธอมสัน ได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยในช่วงภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 ระหว่างเดือนกรกฎาคม จำนวน 812 คน ช่วงอายุ 15-60 ปี เป็นชาย 32% หญิง 68% ครอบคลุมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมถึงปริญญาเอก อาชีพรายได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10,000 บาท-50,000 บาทขึ้นไป
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ