จากเด็กหนุ่มอายุ 19 ที่ตัดสินใจไม่เรียนต่อแล้วออกมาช่วยพี่ชายทำธุรกิจซื้อแผ่นเสียงไปใส่ตามตู้เพลง และเอาเพลงฮิตในแผ่นเสียงมาอัดลงเทปคาสเซ็ตเพื่อนำไปขายต่อ

จนกระทั่งในปี 2522 ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ได้เข้ามา Disrupt ธุรกิจของเด็กหนุ่มกับพี่ชาย

การนำเพลงจากแผ่นเสียงมาอัดใส่เทปคาสเซ็ตกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เขาและพี่ชายจึงต้องจ่ายเงินให้กับร้านแผ่นเสียง เพื่อทำให้ธุรกิจขายเทปคาสเซ็ตยังทำต่อไปได้

เมื่อนานเข้าเขารู้สึกว่าการพึ่งพาร้านขายแผ่นเสียงเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นอะไรที่ ยืมจมูกคนอื่นหายใจมากเกินไป

และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาคิดว่าจะต้องหันมาทำอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง

จากความคิดในตอนนั้นจึงกลายมาเป็น RS อย่างทุกวันนี้

ในอดีตเราอาจให้คำนิยามว่า RS เป็นค่ายเพลง แต่ปัจจุบันด้วยความที่ทำหลายสิ่งหลายอย่างทั้งคลื่นวิทยุ Cool, ทีวีดิจิทัลช่อง 8, ขายครีมขายของใช้ในบ้าน และล่าสุดที่กำลังจะขายอาหารสัตว์

คงไม่มีคำไหนจะนิยามความเป็น RS ได้ดีไปกว่า การเป็นบริษัทที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ‘รีบ Disrupt ตัวเองก่อนจะถูกโลกธุรกิจ Disrupt ไป’

ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และกุหลาบที่กลายมาเป็นค่ายเพลงแรกของชีวิต

เรากำลังนั่งคุยกับ เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ อยู่ในตึกออฟฟิศของ RS แห่งใหม่ บนพื้นที่กว่า 16 ไร่ ของถนนประเสริฐมนูกิจ

ตึกนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานีโทรทัศน์ช่อง 8, สถานีวิทยุ Cool, ที่ทำเพลงของ RS หรือฐานบัญชาการของ RS Mall เท่านั้น

แต่มันคือความฝัน… ที่กลายเป็นความจริงของเฮียฮ้อ

“เฮียเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดี คุณพ่อเป็นช่างทาสี คุณแม่เป็นแม่บ้าน แล้วก็จะเป็นคนสุดท้ายเสมอที่อาจารย์จะตามเรื่องค่าเทอม

ตอนเกิดมาเรียกว่าอยู่สลัมแถวโบ๊เบ๊ เป็นบ้านเช่าข้างทางรถไฟ ไม่เคยมีห้องส่วนตัวนอนตั้งแต่เด็ก ๆ

ชีวิตเฮียโตมาจากห้องแถว ทำธุรกิจก็ทำมากับห้องแถว ฝันมาตลอดว่าอยากมีตึกอยู่ริมถนนเป็นของตัวเอง เมื่อก่อนขับรถนี่ไม่ได้เลย ต้องมองตึกตลอด

จำได้ว่าเฮียเป็นเด็กไม่ค่อยชอบเรียน ชอบทำงานมากกว่า ตอนอายุ 19 ก็เลยตัดสินใจเดินไปบอกแม่ว่าไม่อยากเรียน อยากออกมาช่วยพี่ชายทำงานด้วยการเอาเพลงจากแผ่นเสียงมาอัดใส่คาสเซ็ต แล้วปั๊มเป็นตราดอกกุหลาบเพื่อเอาไปขาย

ตราดอกกุหลาบก็เลยเป็นคำว่า Rose Sound แล้วก็กลายมาเป็นชื่อของ RS จนถึงทุกวันนี้

อายุ 22 มีหนี้นอกระบบ 20 ล้าน

อย่างที่เล่าไปในตอนต้น คือเมื่อปี 2522 ที่เริ่มมีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้ามา disrupt ทำให้ธุรกิจขายคาสเซ็ตปั๊มตราดอกกุหลาบต้องปรับเปลี่ยน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เฮียฮ้อตัดสินใจทำธุรกิจค่ายเพลงขึ้นมาตอนอายุ 21

แม้ศิลปิน 4 เบอร์แรกในชีวิตที่เฮียฮ้อปั้นมากับมืออย่าง คีรีบูน ฟรุตตี้ เรนโบว์ และบรั่นดี จะดังเป็นพลุแตก มีเพลงดัง มีแฟนคลับมากมาย

แต่ในมุมธุรกิจความดังนั้นก็ไม่ได้ทำให้ RS มีกำไร ซ้ำยังทำให้เฮียฮ้อในวัย 22 ต้องติดหนี้นอกระบบกว่า 20 ล้าน

“ทำ RS ช่วงแรก ๆ นี่ขาดทุนตลอดนะ เพราะเวลาเราทำธุรกิจเพลงสมัยก่อน ทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินหมด เราต้องลงทุนก่อน ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเพลงมันจะดังไหม

เฮียกู้เงินนอกระบบมาทำ เพราะเฮียกู้แบงก์ไม่ได้ ก็ติดหนี้สะสมมาเรื่อย ๆ ทำขาดทุนก็เอาเงินหมุนมาทำ ไม่พอก็ไปกู้นอกระบบ

กู้มากขึ้นเรื่อย ๆ อายุ 22-23 เฮียมีหนี้เกือบ 20 ล้าน

แต่เฮียไม่ได้กู้ไปซี้ซั้วใช้ไง เพราะกู้มาทำเพลงมันดัง เพียงแต่มันขายไม่ได้ ถ้าชุดแรกดังแล้วมันก็ต้องทำต่อ เพราะถ้าไม่ทำต่อก็เหมือนเราลงทุนไปเสียเปล่า

อย่างคีรีบูนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ชุดแรกดังแต่ขาดทุน พอชุดสองดังมาก ก็เลยได้กำไรกลับมา ก็เอามาลดหนี้ การทำค่ายเพลงในตอนนั้นมันก็จะเป็นลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ”

เมื่อทำเพลงแมสแล้วเป็นที่ 1 ไม่ได้ เลยหันไปจับตลาดเพลงวัยรุ่นแทน

ต่อจากยุคของเรนโบว์-ฟรุตตี้-คีรีบูน-บรั่นดี ก็จะกลายมาเป็นยุคของ อิทธิ พลางกูร และ อริสมันต์ ที่เฮียฮ้อเล่าให้ฟังต่อว่า ตอนนั้นธุรกิจ RS เริ่มแข็งแรง แต่ยังถือเป็นบริษัทอินดี้ที่ไม่สามารถสู้กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 2-3 ค่ายในเวลานั้นได้

และเมื่อในตลาดมีแต่เพลง Mass เฮียฮ้อจึงตัดสินใจหันไปจับ Segment เพลงวัยรุ่นแทน เพราะรู้ดีว่าถ้ายังคงทำ Mass ต่อไปก็คงจะเป็นที่ 1 ไม่ได้

“ตอนเราจะทำเพลงวัยรุ่นเนี่ยไม่มีใครสนใจเลย เพราะทุกคนคิดว่าวัยรุ่นไม่มีกำลังซื้อ แต่สุดท้ายเต๋า หัวโจก, บอยสะเก้าท์, ลิฟต์-ออย, เจอาร์-วอย เจมส์ เรืองศักดิ์, นุ๊ก สุทธิดา, ศรราม ทั้งหมดนี้ขายได้เป็นล้านแผ่นทั้งนั้น

แล้วจากที่คนไม่มองตลาดวัยรุ่น พอเราทำแล้ว Success บริษัทอื่นก็เริ่มมองแล้วว่า เอ๊ะ… ทำไมมันขายได้เป็นล้านแผ่น

สุดท้ายมันยังงี้ฮะ เด็กไม่มีกำลังซื้อแต่พ่อแม่จ่ายให้ แล้วพ่อแม่เนี่ยซื้อให้ตัวเองคิดเยอะ แต่ถ้าลูกชอบเนี่ย ซื้อเลย!”

ในวันที่ไม่อยากยืมจมูกคนอื่นหายใจมากเกินไป

หลังจากประสบความสำเร็จในการทำเพลงตลาดวัยรุ่น จึงทำให้ในตอนนั้นมีค่ายหนัง-ค่ายละครเข้ามาขอดาราจาก RS ไปเป็นนักแสดงกันมากมาย

จนมาถึงจุดหนึ่งที่เฮียฮ้อเริ่มคิดว่า “ทำไมเราสร้างดาราแล้วต้องเอาไปให้เขาเล่นละครด้วย”

นี่เลยเป็นที่มาที่ทำให้เฮียฮ้อตัดสินใจทำบริษัท RS Film ขึ้นมา จนกลายมาเป็นภาพยนตร์ชื่อดังมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น รองต๊ะ แล่ปแปล๊บ, เกิดอีกทีต้องมีเธอ และภาพยนตร์ในดวงใจของเด็ก 90’ ตลอดกาลอย่าง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว

ถัดจากภาพยนตร์ก็เป็นละคร จากที่เคยต้องเอาดาราไปให้คนอื่น ก็เริ่มหันมาผลิตละครแล้วเช่าเวลาจากช่องแทน

แต่การเช่าเวลาก็ยังไม่เพียงพอเพราะเฮียฮ้อรู้สึกว่ามันไม่มีความแน่นอน ไม่รู้ช่องจะเปลี่ยนผังเมื่อไหร่ และนั่นก็เป็นความฝันที่ทำให้เฮียฮ้ออยากจะทำช่องทีวีเป็นของตัวเอง จนกลายมาเป็นช่องเคเบิล

สุดท้ายแล้วจากช่องเคเบิลในวันนั้น ก็พัฒนามาเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งอยู่อันดับต้น ๆ อย่างช่อง 8 แบบทุกวันนี้

ไม่มีแผนธุรกิจที่ 100% แล้วถึงจะเข้าไปทำ

ค่ายเพลง-ช่องทีวี-คลื่นวิทยุ-คอมเมิร์ซ

ธุรกิจทั้ง 4 ขา ล้วนแต่ใช้ศาสตร์ในการบริหารที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อทั้ง 4 ธุรกิจต่างกันแบบนี้ เราจึงตั้งคำถามกลับไป แล้วแนวคิดหลักในการทำธุรกิจของเฮียฮ้อคืออะไร?

“อย่างแรกเลยคือเฮียจะไม่ได้มองว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่จะมองน่านน้ำก่อน ว่าน่านน้ำนั้นใหญ่พอไหม เป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์โลก เทรนด์ประเทศหรือเปล่า แล้วมันมีอนาคตในการเติบโตไหม

อย่างที่สองคือ เฮียจะดูว่าในน่านน้ำนั้นมีใครเป็นผู้ชนะอยู่บ้าง แล้วมาวิเคราะห์ ว่าเขาชนะเพราะอะไร เขามีอะไรที่เราไม่มี เรามีอะไรที่เขาไม่มี

ถ้าเขาไม่มีอย่างที่เรามี แต่ยังชนะได้เลย ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะทำแล้วสู้เขาไม่ได้ วิธีคิดมันก็แค่นี้ จากนั้นก็แค่เข้าไปทำ

เหมือนอย่างเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่เฮียโดดเข้ามาทำคอมเมิร์ซ วิธีคิดก็แบบเดียวกัน เราเข้าธุรกิจนี้ด้วยโปรดักต์ Health & Beauty ตอนนั้นก็ไปดูว่าใครคือคนที่ชนะในอุตสาหกรรมนี้บ้าง แล้วเขาชนะด้วยอะไร ปัจจัยความสำเร็จเขามีอะไรบ้าง

ก็ไปเจอว่าเอ๊ะ สื่อเขาไม่มีหนิ โรงงานเขาจ้าง OEM ผลิตหนิ ซึ่งเราก็ทำได้

สิ่งที่เดียวที่เราไม่มีคือความเข้าใจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ซึ่ง “เฮียว่ามันไม่มีใครเข้าใจตั้งแต่เกิด ที่เขาทำมา 10 ปี เขาก็เพิ่งจะมาเข้าใจ 10 ปีนั้นแหละ เพราะก่อนหน้าเขาก็เป็นคนใหม่อยู่ดี” 

ถึงเราจะเข้ามานับ 1 ใหม่ แต่ก็เป็นการนับ 1 ที่มีแต้มต่อ เพราะเฮียเชื่อว่าไม่มีแผนธุรกิจที่ 100% แล้วถึงจะไปทำ แม้คุณจะคิดครบแล้วแต่ถึงเวลาไปทำจริงมันก็จะมีเรื่องที่คุณคาดไม่ถึงอยู่ดี

ฉะนั้นเวลาเฮียคิดอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีสัก 50-60% ที่ควบคุมได้แล้วเป็น Key to success เฮียจะทำ

แค่ตอนโดดเข้าไปเนี่ยให้วิเคราะห์ว่าถ้าแพ้แล้ว Down Side นั้นอยู่แค่ไหน ถ้ารับดาวน์ไซด์นั้นได้

โดดเข้าไปเลย”

ธุรกิจสัตว์เลี้ยง น่านน้ำใหม่ ที่ใหญ่ระดับ 40,000 ล้านบาท

อีกหนึ่งไฮไลท์ในงานแถลงข่าวครั้งใหญ่ของ RS เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือการที่เฮียฮ้อได้ประกาศว่า RS จะรุกตลาดสัตว์เลี้ยงใน Q4 ของปีนี้

เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงนี้คืออะไร เฮียฮ้อจึงเล่าให้เราฟังว่า

“ตอนเฮียบอกทีมผู้บริหารว่า ไปทำธุรกิจอาหารสัตว์เถอะ ตลาดมันใหญ่มากนะ เขาก็มองหน้าเฮียกัน

ก็เลยเล่าให้เขาฟังว่าเฮียเป็นทาสหมา เลี้ยงหมามา 5 ปี คุณรู้ไหมอาหารเสริมสุนัขเนี่ยเป็นขวด ๆ เลยนะ ขวดนี้กินให้ขนเงา ขวดนี้กินให้ข้อแข็ง อีกขวดกินให้กระดูกดี แชมพูสุนัขขวดนึงเป็น 700-800 เลยนะ

หรืออย่างไปตรวจร่างกายสุนัขเนี่ย เป็นหมื่นเลยนะ ตรวจเหมือนคนเลย มีเอกซเรย์ปอด ตับ ไต มีห้องแยก มีห้องเยี่ยมญาติ อย่างแมวนี่มีโรงแรมแมวอีก

ก็เล่าแบบนี้ให้ทีมฟัง เสร็จแล้วมาคุยกันอีกที ทีมก็กลับมาพร้อมข้อมูลที่มัน ว้าว บอกว่าโอ้โหเฮีย…..ตลาดมัน 40,000 ล้านบาท

แล้วในเชิง Marketing สินค้าที่คนซื้อไม่ได้ใช้ เขาจะซื้อด้วย Emotional ต่างจากเวลาที่ซื้อให้ตัวเองที่คิดแล้วคิดอีก

ซึ่งสินค้าสำหรับหมาแมวเนี่ย คนซื้อด้วย Emotional ทั้งนั้น”

วิธีตัดใจกับธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้

นอกจากเรื่องธุรกิจสัตว์เลี้ยง ในวันแถลงข่าวครั้งนั้นยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน

นั่นคือการที่ RS จะกลับมาโฟกัสตลาดค่ายเพลงมากถึง 3 ค่าย ทั้ง Rose Sound ที่เป็นค่ายแรกในชีวิตของเฮียฮ้อ ค่ายเพลงลูกทุ่งอย่าง RSiam และค่ายเพลงที่ใครหลายคนคิดถึงอย่าง Kamikaze

เฮียฮ้อบอกเหตุผลในการกลับมาทำค่ายเพลงครั้งนี้ว่า เพราะ RS มีธุรกิจ Commerce มารองรับ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือการที่ศิลปินในค่ายสามารถทำ Music Marketing ได้

เราจึงถามย้อนกลับไปว่าแล้วในวันที่เฮียฮ้อตัดสินใจ ‘ตัดใจ’ เลิกทำค่ายเพลง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัวจนทำให้ RS มีวันนี้ได้คืออะไร

เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการจะเลิกทำบางสิ่งบางอย่าง ที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตก่อร่างสร้างมันขึ้นมา?

“เฮียว่าแล้วแต่คน สำหรับเฮีย เฮียไม่เคยผูกเลย ถ้าไปมองย้อน ที่ผ่านมาอะไรไม่ดีเฮียทิ้ง

คือถ้าเฮียสู้ สู้แล้วยังไม่ดี ลองสู้อีกก็ยังไม่ดี เฮียจะทิ้ง

แต่มันก็ไม่ใช่ทิ้งไปเลยนะ เพราะบางธุรกิจที่ไม่สำเร็จ แต่ถ้าปัจจัยความสำเร็จมันยังอยู่ในมือเรา มันก็อาจเป็นเรื่องของจังหวะ

ดังนั้น ก็เก็บมันไว้ก่อน เมื่อเจอเวลาที่เหมาะสมหรือถ้าวันหนึ่งที่เราพร้อมแล้วธุรกิจนั้นยังน่าสนใจอยู่ ก็ค่อยเอากลับมาทำใหม่

ก็เหมือนค่ายเพลงนี่แหละ ที่เอากลับมาทำใหม่ เพราะเพลงสามารถเอามาทำเป็น Music Marketing ที่รองรับ Commerce ได้”

ตลอดบทสนทนาราว 1 ชั่วโมงกว่า

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือท่าทีของ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เวลาพูดถึงเรื่องธุรกิจใหม่ เขามักจะยืดหลังตรงออกห่างจากพนักเก้าอี้พิง กับท่าทีที่ดูสนุกเวลาได้พูดถึงเรื่องราวใหม่  ๆ

เรา… ซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์วัย 20 ปลาย ๆ ที่บางครั้งรู้สึกหมดไฟ จึงขอเคล็ดลับ ตั้งคำถามกับเฮียฮ้อว่าในวันที่อายุ 58 เขามีวิธีรักษา Passion เติมไฟในการทำงานให้พร้อมทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลายังไง

สิ่งที่เฮียฮ้อตอบกลับเรามาก็คือ

“เฮียจะตั้งเป้าหมายท้าทายตัวเองขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่งั้นเราก็จะไม่มีแรงผลักดัน ไม่มี Passion

สำเร็จตรงนี้ก็ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง ปักหมุดใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ จะได้คิดว่ามันยังไม่สำเร็จนะ ยังมีเรื่องใหม่ที่ต้องทำอยู่นะ”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online