สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ทำความรู้จักหน่วยงานใหม่ที่จะมากำจัดการผูกขาด
เชื่อว่าอีกหลาย ๆ คน คงไม่เคยได้ยินคำว่าสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ทั้ง ๆ ที่สำนักงานแห่งนี้มีบทบาทต่อผู้ประกอบธุรกิจทางการค้าทุกคน ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายกลาง หรือรายเล็ก
ไปทำความรู้จักกับบทบาทกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้มากขึ้นก่อนที่ความไม่รู้ จะทำให้ “เสียภาพลักษณ์ของแบรนด์
บ่ายวันหนึ่ง Marketeer มีนัดสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เข้ามารับตำแหน่งนี้เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์กล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามารับตำแหน่งนี้ว่า บทบาทของ กขค. เป็นความสำคัญระดับประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการออกแบบกฎกติกา และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการแข่งขันทางการค้า
และคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ต้องเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างธุรกิจ และเข้าใจในผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย
ในระบบเศรษฐกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการแข่งขันอย่างเสรี นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการแข่งขันเป็นหัวใจสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ แต่ต้องมีความเป็นธรรม เหมือนการวิ่งแข่งที่ต้องใช้ศักยภาพของตัวเองเท่านั้นในการแข่งขัน”
ในขณะเดียวกัน การเปิดประเทศโดยการสร้างกฎระเบียบด้านการแข่งขันทางการค้าที่เป็นมาตรฐานสากล จะช่วยให้เกิดแรงดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาสร้างเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ และจะมีส่วนสร้างโอกาสทางธุรกิจสู่เศรษฐกิจภูมิภาคด้วย
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพื่อการทำงานที่รวดเร็ว โปร่งใส ต้องเป็นหน่วยงานอิสระ
สขค. ไม่ใช่บริษัทเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และไม่ใช่ รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ จากการเมือง เพื่อให้การทำงานมีความเป็นธรรมมากที่สุด แล้วพฤติกรรมการแข่งขันแบบไหนที่ผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
ศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์อธิบายว่าหลัก ๆ มีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน คือ
1. การใช้ความใหญ่ของธุรกิจมามีอำนาจเหนือตลาด
โดยนิยามของเราบริษัทใหญ่โตแค่ไหนไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่การมีอำนาจเหนือตลาดหมายความว่าคุณมีธุรกิจใหญ่แล้วไปกลั่นแกล้งหรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น แบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงผิดกฎหมาย”
2. การควบรวมระหว่างธุรกิจประเภทเดียวกัน ทำให้เกิดอิทธิพลเหนือตลาด เอาความใหญ่ไปลดโอกาสของคู่แข่ง สร้างอำนาจเหนือซัปพลายเออร์ หรือรวมแล้วทำให้มีพลังในการร่วมมือกันกำหนดช่องทางในการจัดจำหน่ายที่เอื้อกับบริษัทใหม่มากขึ้น สำหรับธุรกิจที่ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจ เช่น มียอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งหรือรวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
ในอนาคตการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้วิธีการควบรวมกิจการจะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกันเพื่อสร้างความใหญ่ ความแข็งแกร่ง และลดต้นทุนการผลิต ทำให้คณะกรรมการต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด”
3. การทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น ร่วมกันกำหนดราคา กำหนดพื้นที่ขาย กำหนดปริมาณ การฮั้วประมูล Bid Rigging เป็นต้น
โดยเฉพาะการกำหนดคุณภาพสินค้า อันนี้ถือว่าโทษรุนแรง เพราะผลกระทบเกิดกับคุณภาพชีวิต กระทบกับผู้บริโภค กรณีแบบนี้จะเป็นโทษทางอาญา”
4. แสดงพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในโลกธุรกิจปัจจุบัน ต้องอาศัยทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักกฎหมายมาช่วยกันวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่าย ผิดหรือไม่ผิด
กฎหมายฉบับนี้สังคมคาดหวังมาก ผมต้องพูดอย่างนี้เลยเพราะเราก็เห็นภาพอยู่ว่า ผู้ประกอบการหลายคนมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบจากการแข่งขันที่มีสูงมากในปัจจุบัน”
เวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมาเป็น 100 เรื่อง มีหลายกรณีที่เป็นตัวอย่างน่าสนใจ เช่น
บริษัท เอ็ม-150 จำกัด ห้ามตัวแทนจำหน่ายขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังของคู่แข่ง หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่ส่งสินค้าตรา เอ็ม-150 ให้จำหน่าย ทำให้ตัวแทนจำหน่ายเดือดร้อน ซึ่งภายหลังสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่ามีความผิด เพราะพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการจำกัดการแข่งขันแทรกแซงการประกอบธุรกิจ ประกอบกับการมีอำนาจเหนือตลาด กขค. จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง แต่ผู้ต้องหาขอให้เปรียบเทียบปรับ กขค. จึงได้สั่งเปรียบเทียบปรับบริษัทและกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท เป็นผลให้คดีเลิกกัน
ส่วนเรื่องโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่เคยมีข่าวขอเสนอซื้อหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทำให้เกิดการควบรวม ทำให้เกิดอิทธิพลเหนือตลาดหรือไม่นั้น
ปัจจุบันหลังเกิดวิกฤตโควิดโรงพยาบาลกรุงเทพก็หยุดดำเนินการเรื่องนี้ไป ซึ่งตอนนั้นทาง กขค. ก็รอการยื่นเรื่องขออนุญาตเข้ามาพร้อม ๆ กับการเตรียมทีมงานเพื่อหาข้อมูลและติดตามเรื่องราวไว้แล้วเช่นกัน
จับตา Food Delivery แข่งเดือด เสี่ยงผิดกฎหมาย
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่เกิดขึ้นมากมาย การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นแบบก้าวกระโดดนี้ ทำให้โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนจากเดิมอย่างมาก
และในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีข้อร้องเรียนผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า ผู้ให้บริการส่งอาหารหลายรายเรียกเก็บค่าบริการจากร้านอาหารในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมาก มีการเรียกเก็บค่าบริการอื่น ๆ เพิ่มอีก รวมทั้งกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งเสริมการขาย นอกจากนี้ ผู้ให้บริการส่งอาหารหลายรายอาจมีการตกลงร่วมกันในการกำหนดหรือเพิ่มค่าบริการหรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายอาหารเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน
เราเห็นพฤติกรรมของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่อาจจะผิดกฎหมายได้ กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่าถูกหรือผิด และขัดกับกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งมีหลายประเด็นมากตอนนี้อยู่ในระหว่างสืบสวนสอบสวนอยู่”
จับตาต่อ โลจิสติกส์ แข่งหนัก
ในขณะเดียวกันการซื้อของทางออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้การเติบโตของระบบโลจิสติกส์ถูกพัฒนาขึ้นมาอีกระดับ
คำถามคือ กฎ กติกาที่บังคับใช้ในเรื่องโลจิสติกส์ในบ้านเราวันนี้เป็นอุปสรรคในการเปิดให้มีการแข่งขันหรือเปล่า ดังนั้น ในวันที่ 16 กันยายนนี้จะมีการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ครั้งใหญ่ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ”
โดยการสัมมนายังจัดให้มีการสัมมนาข้ามทวีป ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น OECD ในยุโรปที่มีบทบาทในการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องโลจิสติกส์ในบ้านเรา มาร่วมกันแชร์ความรู้ มาร่วมกันหาคำตอบว่าจะมีแนวทางในการกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันด้านโลจิสติส์ในบ้านเราอย่างไรได้บ้าง
สิ่งที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้คือ การเข้ามาวิเคราะห์กฎ ระเบียบ กติกา ที่มีอยู่ในประเทศอาจจะมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ตั้งแต่รายใหญ่จนถึงรายย่อย รวมถึงแนวทางในการกำกับดูแลเพื่อความเป็นธรรมของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในเมืองไทย
เป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก
กฎหมายแข่งขันทางการค้า เราไม่ได้มองมิติในเรื่องนิติศาสตร์อย่างเดียว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเราจะได้แค่เรื่องถูกกับผิด ขาวกับดำ แต่ในการกำกับการแข่งขันในทางธุรกิจ ต้องอาศัยความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ และความเข้าใจพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของการทำธุรกิจประกอบด้วย ทำให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนต้องเข้าใจทั้ง 2 มิติ“
เมื่อ Marketeer ถามว่า ตลอด 2 ปีที่นั่งอยู่ในตำแหน่งประธาน อะไรคือความท้าทายที่สุดในการทำงาน
สำหรับธุรกิจรายใหญ่ผมไม่ห่วง เพราะเขาจะมีฝ่ายกฎหมายที่ติดตาม หรือให้คำแนะนำในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่รายย่อยผมต้องเรียนตามตรงว่าพฤติกรรมในการทำธุรกิจในบ้านเราหลาย ๆ เรื่อง เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นวัฒนธรรมการทำธุรกิจที่ทำกันมานาน แต่หลาย ๆ ครั้งสิ่งเหล่านั้นอาจจะผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า”
ศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์ยังมีความเห็นว่า
สำนักงานเราเองไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าเรื่องร้องเรียนต้องเข้ามามาก ๆ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเราล้มเหลวเรื่องการสื่อสาร สร้างความเข้าใจของกฎหมายต่อสังคม”
นั่นคือความท้าทายภายนอก ส่วนความท้าทายภายในก็จะเป็นเรื่องบุคลากร ที่ต้องมีคนที่มีความรู้ความสามารถ และรู้เท่าทันในเรื่องธุรกิจของโลกสมัยใหม่มาเป็นกำลังสำคัญ
จบกฎหมายมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถบังคับเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าได้เลย ต้องเข้าใจในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการทำธุรกิจ จบเศรษฐศาสตร์มาก็ต้องเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายด้วย และที่สำคัญ ต้องรู้เท่าทัน เพราะการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน”
โชคดีที่หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานใหม่ ซึ่งผนึกกำลังบุคลากร Generation ใหม่ จำนวนมากกว่า 100 คน ล้วนเป็นพนักงานวัยหนุ่มสาวที่มีไฟ และมีพลังในการขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้องค์กรแห่งนี้เป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ” เท่านั้น
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



