Convergence Platform บนโลก Online Shopping เทรนด์นี้มาแน่ (วิเคราะห์)

คนไทยช้อปออนไลน์เก่งขึ้น

ดูได้จากมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในส่วนของ B2C และ C2C ในปีนี้ที่เติบโตมากถึง 35% ด้วยมูลค่า 220,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามูลค่า 163,000 ล้านบาท

การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งมาจากโควิด-19 ที่ผลักดันคนไทยให้เปลี่ยนพฤติกรรมสู่ออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถหาซื้อสินค้าผ่านช่องทางปกติได้

การปิดพื้นที่ต่าง ๆ  ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้แบรนด์ไม่สามารถขายของได้ในช่องทางปกติและเริ่มที่จะไปช่องทางออนไลน์จากการเห็นกลุ่มผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปอยู่ตรงนั้น

และหลังจากคลายล็อกดาวน์ลงพฤติกรรมนี้ยังคงอยู่ จากความสะดวกในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค และการเป็นช่องทางที่แบรนด์สามารถขายสินค้าได้มากขึ้นจากจุดเด่นของโลกออนไลน์ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา

ในงาน GroupM Focal 2020 ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเปิดเผยข้อมูลในวงการช้อปออนไลน์ว่า มีโอกาสการเติบโตอย่างมหาศาล

เพราะที่ผ่านมา มูลค่าอีคอมเมิร์ซหรือช้อปออนไลน์ในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 2% จากมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด โดยประเทศจีนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่สัดส่วนอัตราช้อปออนไลน์สูงสุดของโลก ด้วยสัดส่วนมากถึง 24% จากมูลค่าค้าปลีกทั้งประเทศ

 

ช้อปออนไลน์สัดส่วนเท่าไรของค้าปลีก

เฉลี่ยทั่วโลก 16%

จีน 24%

สหราชอาณาจักร 19%

ไต้หวัน 17%

สหรัฐอเมริกา 15%

เกาหลีใต้ 16%

ญี่ปุ่น 9%

อินเดีย 4%

ไทย 2%

 

โดยในปัจจุบันช่องทางช้อปออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ eMarketplace มีส่วนแบ่งมากถึง 47% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด รองลงมาได้แก่ โซเชียลมีเดีย และแบรนด์ดอทคอมตามลำดับ

ช่องทางช้อปออนไลน์ยอดนิยม

eMarketplace 47%

Social media 38%

E-Tailer Brand.com 15%

ที่มา: GroupM Focal 2020 อ้างอิงโดย ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย

 

ธนาวัฒน์ให้ข้อสังเกตว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในปัจจุบัน เมื่อต้องการซื้อสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มากถึง 90% จะหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อและส่วนใหญ่จะหาข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าแพลตฟอร์มมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า และดิจิทัลมีเดีย กับแอดเวอร์ไทซิ่งแพลตฟอร์มมีอิทธิพลในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน

มีการนำสินค้าที่ค้นหาหรือสนใจไปโชว์ยังโซเชียลมีเดีย

 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแลนด์สเคปของการซื้อสินค้าออนไลน์ ใน Journey ของผู้บริโภคจะผูกติดกับแพลตฟอร์มทั้งสิ้น และแพลตฟอร์มไหนสามารถพาตัวเองไปอยู่ใน Journey ของผู้บริโภค การได้มาซึ่งดาต้าเบสในการวิเคราะห์ผู้บริโภคมีมากขึ้นตามมา

ทำให้แต่ละแพลตฟอร์มพยายามทำตัวในหน้าที่ต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากบริการหลัก เช่น แพลตฟอร์มช้อปออนไลน์ ขยายไปให้บริการโลจิสติกส์ การเงิน สื่อ และอื่นๆ

และเชื่อว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าภาพของแพลตฟอร์มดิจิทัลจะขยายขอบเขตการให้บริการในรูปแบบคอนเวอร์เจนซ์เพื่อครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคทั้งหมดจะเห็นเด่นชัดกว่าในปัจจุบัน

 

มาถึงบรรทัดนี้นักการตลาดคงมีคำถามในใจว่าแบรนด์จะทำอย่างไรในแลนด์สเปกที่เปลี่ยนไป

ธนาวัฒน์แนะนำว่าถ้านักการตลาดต้องการ Unlock โอกาสที่แบรนด์จะขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อสร้างการเติบโต ต้องหาโอกาสด้วยการเชื่อมโยงดาต้าเบสของลูกค้าในช่องทางการซื้อทั้งหมด ทั้งอีมาร์เก็ตเพลส โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ช่องทางขายของตัวเองผ่านแบรนด์ดอทคอม เพื่อเก็บพฤติกรรมการซื้อสินค้านำไปต่อยอดเป็นการสื่อสารและแคมเปญการตลาดต่าง ๆ ได้

 

ยกตัวอย่างการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านกรณีศึกษาของฮาซัน

อย่างที่ทราบกันว่าฮาซันเกิดจากการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ในการขายสินค้านั่นก็คืออาหารทะเลตากแห้ง และสามารถสร้างตัวได้จากการขายผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์เป็นหลัก ซึ่งช่องทางนี้ฮาซันสามารถทำได้ดี

แต่ถ้าฮาซันสามารถสร้างฐานข้อมูลจากดาต้าเบสของลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในแต่ละวันได้ จะสร้างโอกาสได้มากกว่านั้น

เพราะข้อดีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซคือผู้ขายรู้ดาต้าของลูกค้า ทั้ง ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์

 

ธนวัฒน์แนะนำว่าโอกาสที่ฮาซันสามารถ Unlock ธุรกิจตัวเองไปไกลกว่านั้นได้คือการสร้างเว็บไซต์ของตัวเอง ให้ลูกค้าที่ภักดีกับฮาซันสามารถเข้ามาซื้อได้โดยไม่ต้องรอตอนไลฟ์สด รวมถึงการเปิดร้านในอีมาร์เก็ตเพลสเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับลูกค้าอีกทางหนึ่ง

และการ Convergence Platform ด้วยการนำข้อมูลจากลูกค้าทุกช่องทางมาเชื่อมโยงกัน การเชื่อมโยงข้อมูลฮาซันจะสามารถนำไปทำการตลาดหรือทำ CRM ต่อยอดได้อีกทางหนึ่ง

เพราะในยุคนี้การเก็บดาต้าไม่ได้แยกเป็นแพลตฟอร์ม แต่ต้องหาว่าลูกค้าอยู่ตรงไหน เพื่อไปหาและเก็บข้อมูลของลูกค้าให้มาอยู่ในถังดาต้าเบสเดียวกันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

และสุดท้าย ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อผ่านช่องทางไหนแต่ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการขายทั้งหมดคือแบรนด์

I

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online