อิชิตัน ปรับกลยุทธ์เพิ่มฤดูกาลขายสินค้าเพื่อกลับมาแกร่งอีกครั้ง (วิเคราะห์)
เดือนมิถุนายน 2563 อิชิตันออก น้ำด่าง Alkaline พีเอชพลัส 8.5 เครื่องดื่มผสมวิตามินบีรวม
เดือนกันยายน 2563 อิชิตันออก อิชิตัน วิตามิน วอเตอร์ ซี+อี (เทียบได้กับยันฮี วิตามินวอเตอร์, VITTADAY)
เดือนกันยายน 2563 อิชิตันออก Vitt CC เครื่องดื่มวิตามินซี 200% (เทียบได้กับ ซีวิท, วูดดี้ ซี ล็อก)
ถามว่าทำไมแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์แข็งแรงในแง่ของการเป็นแบรนด์ชาเขียวอย่าง อิชิตัน ถึงตัดสินใจหันมาทำตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามิน
ถ้าอย่างนั้นเราก็ขออธิบายแบบไล่เรียงไปทีละข้อ ที่ด้านล่างนี้
1
อธิบายเป็น Background ให้ผู้อ่านเห็นภาพกันก่อนว่าในต่างประเทศ น้ำดื่มผสมวิตามิน หรือ Water Plus ที่เป็นน้ำสีใสผสมรสและกลิ่น นั้นเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
อย่างตู้กดน้ำ หรือตู้เย็นขายน้ำในญี่ปุ่นที่พื้นที่ของ Water Plus มีมากกว่าน้ำเปล่าธรรมดาซะอีก
2
เป็นธรรมดา ที่เมื่อญี่ปุ่นฮิตอะไร คนไทยก็จะฮิตตาม ไม่ว่าจะเป็นขนม อาหาร เครื่องสำอาง ครีมทาตัว กับ Water Plus ก็เช่นกัน
บวกกับเทรนด์สุขภาพที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ Water Plus ประเภทผสมวิตามิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิตามินซี) ได้รับความนิยมขึ้นไปอีก
3
โดยอิชิตันได้ทำการศึกษา แล้วพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า
ในปี 2019 ตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน มีมูลค่า 1,066 ล้านบาท
ภายในปี 2020 คาดว่าจะเติบโตขึ้น 87.62% หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท
และคาดว่าในปี 2021 ตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน จะมีมูลค่าแตะไปถึง 3,500 ล้านบาท
ด้วยทิศทางการเติบโตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างน้อย ๆ ก็ 5 ราย ที่กำลังจ่อเข้าตลาดนี้
4
จากสิ่งที่ได้เล่ามาข้างต้น จะเห็นได้ว่า น้ำดื่มผสมวิตามิน คือตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย
แถมยังเป็นโอกาสที่สอดคล้องกับ Mega Trend อย่างเทรนด์การรักสุขภาพ
มันจึงไม่ใช่สินค้าที่ มาไว ไปไว อย่างแน่นอน
5
โดยหลัก ๆ แล้ว เครื่องดื่มผสมวิตามินที่มีขายอยู่ในตลาด จะแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน
นั่นคือเครื่องดื่มผสมวิตามิน ที่มีน้ำเป็นเบสหลัก (ยันฮี วิตามินวอเตอร์, VITTADAY, น้ำด่าง Alkaline พีเอชพลัส 8.5, อิชิตัน วิตามิน วอเตอร์ ซี+อี) ที่แบรนด์จะเน้นสื่อสารให้ผู้คนดื่มเหมือนเป็นน้ำเปล่า
และเครื่องดื่มผสมวิตามิน ที่มีน้ำผลไม้เป็นเบสหลัก (ซีวิท, วูดดี้ ซี ล็อก, อิชิตัน Vitt CC)
6
ซึ่งหากเอา Framwork ของนักการตลาดอย่าง S.W.O.T มาครอบ ก็ดูเหมือนว่าน้ำดื่มผสมวิตามิน จะตอบโจทย์อิชิตันทั้งตัวอักษร O หรือ Opportunities ที่หมายถึงโอกาส
และ T หรือ Threats ที่หมายถึงอุปสรรค
7
เพราะ T หรืออุปสรรคที่อิชิตันต้องพบเจอ ก็คือเทรนด์การบริโภคชาเขียวที่น้อยลง ซ้ำยังโดนภาษีความหวานมาตอกย้ำ
การทำเครื่องดื่มผสมวิตามิน จึงเข้ามาปิดอุปสรรคในด้านนี้ของบริษัท ทั้งยังสามารถใช้ต้นทุนเดิมที่มีอยู่ได้ก็คือไลน์ผลิตเครื่องดื่มของอิชิตันที่มีมากถึง 7 ไลน์
โดยอิชิตันตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปีรายได้ของบริษัทจะมาจากเครื่องดื่มแบบไม่ใช่ชาประมาณ 30-40%
จากพอร์ตปัจจุบันทั้งหมดที่มีรายได้มาจากการขายชาราว 50% และเครื่องดื่มเย็นเย็นอีก 17%
8
ส่วนในอีกมุมหนึ่งการทำเครื่องดื่มผสมวิตามินยังช่วยเข้ามาเติมเต็มฤดูกาลการขายของอิชิตันให้สามารถมี High Season ได้ตลอดทั้งปี
เพราะก็อย่างที่รู้กันดีว่าสินค้าอย่างชาเขียว มี High Season คือช่วงหน้าร้อน ซึ่งยอดขายชาเขียวของอิชิตันกว่า 50% มาจากเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
อิชิตันจึงตั้งใจว่าจะใช้เครื่องดื่มผสมวิตามิน ที่ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของวิตามินซี มาเติมเต็มพอร์ตในฤดูฝนและหนาว
พร้อมตั้งเป้ายอดขาย 3 โปรดักต์อย่าง อิชิตันน้ำด่าง 8.5, วิตามินวอเตอร์ C + E และ อิชิตัน วิตซีซี ไว้ที่ 400 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้
และ 1,000 ล้านบาทภายใน 12 เดือน
9
นอกจากจะกระจายความเสี่ยงด้วยการแตกไลน์โปรดักต์ใหม่ จากชาเขียวมาทำน้ำดื่มผสมวิตามิน ในอนาคตอิชิตันก็มีแพลนที่จะขยายธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 3 N ด้วยกันนั่นคือ
New Product
New Market
และ New Business
10
ในแง่ของการตลาด อิชิตันจะเน้นการทำตลาดที่สร้าง Engagement กับลูกค้าที่เป็น Segment มากกว่าจะทำการตลาดแบบ Mass เหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่น ชาเขียวอิชิตันเน้นทำการตลาดในส่วนที่เป็นเกมมากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก
ส่วนน้ำดื่มผสมวิตามินก็เน้นเจาะไปที่กลุ่มคนในเมือง วัยทำงาน เป็นต้น
11
คุณตันเล่าเพิ่มเติมว่า ด้วยความเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย ในอนาคตเครื่องดื่มผสมวิตามินจะมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น และมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
เพราะมันก็เหมือนกับชาเขียว ในช่วงที่ชาเขียวได้รับความนิยมก็มีผู้เล่นราว 20-30 ราย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะเหลือแต่ตัวจริงในตลาดเพียงแค่ไม่กี่เจ้า
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



