สถานการณ์ของ Richard Branson มหาเศรษฐีชาวอังกฤษกำลังดีขึ้นตามลำดับ จากความเสียหายของธุรกิจในเครือ Virgin Group เพราะวิกฤตโควิด โดย Vg Acquisition Corp บริษัทน้องใหม่ในเครือ Virgin ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเน้นการเข้าซื้อกิจการ หรือที่นักลงทุนเรียกอีกชื่อว่า “บริษัทเช็คเปล่า” ทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,200 ล้านบาท) เกินเป้า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12,600 ล้านบาท) ที่ตั้งไว้
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจทั่วโลกในระดับที่ต่างกันไป แต่หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือสายการบิน โดยสายการบิน Virgin Australia ในเครือ Virgin Group ต้องล้มละลาย หลังรัฐบาลออสเตรเลียไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตามที่ Richard Branson ได้ร้องขอ
Virgin Atlantic แม้รอดอย่างหวุดหวิด หลังกองทุนบริหารความเสี่ยงในสหรัฐฯ หนึ่งในผู้ถือหุ้นเพิ่มเงินลงทุน และ Richard Branson ขายหุ้นก้อนใหญ่ของบริษัทท่องอวกาศ Virgin Galactic ออกไป แต่ Virgin Atlantic ก็ต้องฟื้นฟูกิจการครั้งใหญ่ จนพนักงานนับหมื่นคนถูกพักงาน ส่วน 1 ใน 3 ต้องถูกปลด
ขณะที่แผนการซื้อเครื่องบินลำใหม่ ๆ ของ Virgin Atlantic ก็ต้องระงับไว้ก่อน และปิดสำนักงานที่สนาม Gatwick เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
แน่นอนว่าผลกระทบจากธุรกิจสายการบินสร้างความเสียหายอย่างหนักให้ Virgin Group ที่ Richard Branson เป็นคนก่อตั้ง และฉุดให้มูลค่าทรัพย์สินของเขาลดลง โดยจาก 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 133,000 ล้านบาท) เมื่อช่วงเมษายน พอเข้าสู่ช่วงตุลาคมลดลงมาอยู่ที่ 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 107,000 ล้านบาท)
Richard Branson
ทว่าล่าสุด Richard Branson ก็เดินหน้าต่อได้อีกครั้ง หลัง Vg Acquisition Corp ระดมทุนผ่าน IPO ได้ดีเกินคาด โดยแม้ยังไม่มีข้อมูลว่า Vg Acquisition Corp จะซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการกับบริษัทใด แต่ก็ถือเป็นข่าวดีของทั้ง Virgin Group และตัว Richard Branson ระหว่างที่ธุรกิจสายการบินต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะฟื้นคืนกลับสู่ระดับปกติ
“บริษัทเช็คเปล่า” อีกหนึ่งธุรกิจที่โตจากวิกฤตไวรัส
การทำ IPO แบบเปิดตัวสวยเกินคาดของ Vg Acquisition Corp ยังมีอีกประเด็นน่าสนใจ นั่นคือการขยายตัวอย่างชัดเจนของ “บริษัทเช็คเปล่า” จนทำให้ Virgin Group ขอร่วมวงด้วย
“บริษัทเช็คเปล่า” เป็นชื่อที่นักลงทุนใช้เรียกบริษัทที่มีจุดประสงค์พิเศษในการซื้อกิจการ (Special Purpose Acquisition Company – SPAC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการลงทุนของบริษัทใหญ่ กลุ่มทุนหรือมหาเศรษฐี เพื่อเป็นทุนให้บริษัทหน้าใหม่ที่เล็กกว่าแต่มีไอเดียทางธุรกิจน่าสนใจ นำไปใช้พัฒนาธุรกิจ และเป็นประตูหรือทางลัดสู่ IPO
ปัจจุบันกลุ่ม “บริษัทเช็คเปล่า” หรือ IPO ที่บริษัทกลุ่มเกี่ยวนี้เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพราะฝ่ายเจ้าของเงินก็อยากลงทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากสถานการณ์โรคระบาด
ส่วนบริษัทหน้าใหม่ เช่น กลุ่ม Startup ทั้งหลายก็เห็นว่าเป็นทางออกที่ปลอดภัยที่สุดและประหยัดเวลาในช่วงเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว
ข้อมูลจาก Refinitiv บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในสหรัฐฯ ระบุว่า ปีนี้กลุ่ม “บริษัทเช็คเปล่า” ระดมทุนผ่าน IPO ไปแล้วมากถึง 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) มากกว่าปี 2019 ถึง 4 เท่า
ด้าน Goldman Sachs วาณิชธนกิจดังร่วมชาติก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ปีนี้มี “บริษัทเช็คเปล่า” ทำ IPO ไปแล้วหลายสิบบริษัท
IPO ที่ “บริษัทเช็คเปล่า” มีส่วนเกี่ยวข้องปีนี้ที่น่าสนใจก็มีอยู่พอสมควร เช่น Nikola และ Lordstown สองบริษัทรถไฟฟ้าน้องใหม่ คู่แข่งของ Tesla, DraftKings บริษัทรับพนันในการแข่งขันกีฬา และ Vg Acquisition Corp ของ Virgin Group
รวมไปถึง Playboy เตรียมกลับมาทำ IPO ผ่านการรวมกิจการกับ “บริษัทเช็คเปล่า” ที่ชื่อ Mountain Crest และเปลี่ยนมาเป็นบริษัทกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ แทนบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ที่เสื่อมความนิยมลงไปจนต้องถอนตัวจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม จากนี้ต้องจับตาดูว่าการทำ IPO ของกลุ่ม “บริษัทเช็คเปล่า” จะเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน เมื่อตลาดหุ้นและสภาพเศรษฐกิจเข้าสู่สภาพปกติ เพราะทางการสหรัฐฯ กำหนดว่าบริษัทกลุ่มนี้ต้องถอนตัวจากตลาดหรือยุบไป หากภายใน 2 ปีไม่ทำกำไร ซื้อกิจการ หรือควบรวมกับบริษัทอื่น
ประกอบกับช่วง 5 ปีมานี้ เกือบ 1 ใน 5 ของ “บริษัทเช็คเปล่า” ต้องประสบปัญหาขาดทุน/cnn, cnbc, bbc, wikipedia, forbes
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ