รายได้เอสซีจี ไตรมาส 3 ปี 2563 เท่าไร และทำไม ธุรกิจเคมิคอลส์ จึงเริ่มฟื้นตัว ?
ตั้งแต่ปี 2561 รายได้และกำไรของเอสซีจีลดลงต่อเนื่อง จากช่วงขาลงของกลุ่มธุรกิจหลักเคมิคอลส์ ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างก็เจอปัญหากับวิกฤตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากโควิด-19
มีแต่แพ็กเกจจิ้งเท่านั้นที่สามารถสวนกระแส สร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
มาดูกันว่าในไตรมาสที่ 3 รายได้เอสซีจี จะดีขึ้น หรือเลวลงอย่างไร
9 เดือนแรกของปี 2563 เอสซีจียังมีรายได้จากการขาย 302,689 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แต่มีกำไรสำหรับงวด 26,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และถ้าเปรียบเทียบเป็นรายไตรมาสจะพบว่า
ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 100,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 9,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายลดลงร้อยละ 9 ในขณะที่กำไรสำหรับงวดเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดถึงร้อยละ 57
ตัวรายได้ลดลงจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ลดลง ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ในขณะที่กำไรเพิ่มขึ้น จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้น ตามความต้องการสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ดีขึ้น
ในยุครุ่งโรจน์ ช่วงปี 2558-2560 รายได้และกำไรของเคมิคอลล์คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้และกำไรทั้งหมดที่มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก
หลังจากเคมิคอลส์ตกต่ำเป็นรูปตัวยูมาหลายปี รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกว่าต่อไปจะฟื้นตัวเป็นรูปตัววี
โดยเคมิคอลส์ฟื้นตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เป็นผลมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ยานยนต์ และสินค้าคงทนกลับมาดีขึ้นในไตรมาสที่ 3
โควิด-19 กระทบกับ 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจีอย่างไรบ้าง
เบอร์ 1 ของเอสซีจี อธิบายว่า
1. ธุรกิจเคมิคอลส์ เม็ดพลาสสติกที่เอาไปใช้ในเรื่องของแพ็กเกจจิ้งดีขึ้น แต่เม็ดพลาสติกที่นำไปใช้ในธุรกิจยานยนต์ได้รับผลกระทบหนัก
2. ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง การก่อสร้างที่พักอาศัยได้รับผลกระทบโดยตรง และแรงมาก หลายโครงการยอดขายไม่มีจนต้องปิดโครงการหรือเลื่อนการก่อสร้างออกไป แต่ยังมีความโชคดีในเรื่องการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการผ่านขั้นตอนการประมูลไปแล้ว และกำลังเดินหน้าในการก่อสร้าง
3. ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง วิกฤตโควิดอาจจะเป็นบวก จากการเติบโตของธุรกิจทางด้านอีคอมเมิร์ซ แต่ยังเป็นลบสำหรับแพ็กเกจจิ้งสำหรับสินค้าทนทานหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
วางแนวทางต่อสู้อย่างไร
ธุรกิจเคมิคอลส์ โดยธุรกิจเร่งพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ฟื้นตัว ตลอดจนเร่งพัฒนาออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น เม็ดพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ Flexible Packaging เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลและตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์สินค้า
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังสามารถสร้างรายได้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชั่นครบวงจร (End-to-End Service Solution) ที่ยังคงเติบโต เช่น CPAC Construction Solution ที่ร่วมกับเครือข่ายนำเทคโนโลยีล้ำสมัย ผนวกกับสินค้าคุณภาพสูงและความเชี่ยวชาญของเอสซีจี มาให้บริการงานก่อสร้างครบวงจร
ธุรกิจยังเดินหน้าพัฒนาช่องทางค้าปลีกในรูปแบบ Active Omni-Channel ที่เชื่อมต่อช่องทางออนไลน์ SCGHOME.com กับเครือข่ายร้านค้าปลีกรูปแบบแฟรนไชส์ของ SCG HOME 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ต้องการปรับปรุงบ้านด้วยสินค้าพร้อมการบริการติดตั้ง
ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว OptiSorb-X ที่ช่วยคงคุณภาพของสินค้า และยืดอายุการเก็บสินค้าให้ยาวนานขึ้น
แล้วผู้นำเอสซีจีคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าไว้อย่างไร
เขากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไรใน 2 เรื่องหลัก คือ
1. เรื่องการท่องเที่ยว จะหาจุดสมดุลได้อย่างไรในการรับนักท่องเที่ยวเข้ามา และความสามารถในการดูแลสุขภาพ
2. หากสามารถผลิตวัคซีนได้จริง วัคซีนนั้นจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน และต้องบริหารจัดการอย่างไรที่จะสามารถฉีดป้องกันคนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็ว ถ้า 2 เรื่องนี้ทำได้ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้
ส่วนการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ต้องรอติดตามสถานการณ์กันต่อไป
ดูกันชัด ๆ กับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรก ตามรายธุรกิจ
ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 37,748 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และส่วนต่างราคา PVC-EDC/C2 ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 110,835 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 11,830 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 42,685 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงลดลงจากมาตรการปิดเมือง แต่คงที่เมื่อเทียบไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 176 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยตามฤดูกาล
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 131,436 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดที่ยังคงลดลงจากมาตรการปิดเมือง โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องและต้นทุนพลังงานที่ลดลง
ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 23,287 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคระบาด COVID-19 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน จากปริมาณความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังเติบโต ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขี้น และการเริ่มฟื้นตัวของสินค้าคงทนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,335 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 30 จากไตรมาสก่อน จากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลรูเปียห์ อินโดนีเซีย ส่งผลให้เกิดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทางบัญชี (หลังหักภาษีและส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม) 111 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจแพ็กเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 69,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของความต้องการใช้สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากการซื้อกิจการกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย และบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ในประเทศไทย โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เอสซีจียังมียอดขายสินค้าและบริการ HVA ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 93,593 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31 ของยอดขายรวม
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 128,937 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดขายรวม ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีมูลค่า 723,147 ล้านบาท โดยร้อยละ 38 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



