CP ซื้อ Tesco คือ Hot Deal แห่งปี

เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ในวงการรีเทล เมื่อ CP ชนะการประมูลเข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยจำนวนเงิน 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 318,636 ล้านบาท ผ่านบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่บริษัท ซี.พี. รีเทลโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% เมื่อมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

หลังจากที่ CP ชนะการประมูลซื้อ Tesco จากคู่แข่งผู้ร่วมประมูลอีก 2 ราย ได้แก่ กลุ่ม Central และ BJC เป็นที่เรียบร้อย ได้เกิดคำถามในสังคมว่า การที่ CP ได้ Tesco ประเทศไทยไป จะเป็นการผูกขาดทางการค้าหรือไม่

เพราะถ้า CP ได้ Tesco เข้ามาอยู่ในพอร์ตธุรกิจ จะทำให้ CP มีอำนาจต่อรองมหาศาลที่อยู่เหนือตลาด และอาจจะเป็นอำนาจที่ผูกขาดทางการค้าได้

จากการเป็นเจ้าของ

เซเว่นอีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อ

ซีพีเฟรซ และซีพีเฟรซมาร์ท ที่วางตัวเองเป็นตู้เย็นชุมชน เพื่อจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง และอื่นๆ ที่จำเป็น

แม็คโคร ร้านค้าปลีกและค้าส่งที่เป็นร้านในรูปแบบ Specialty Store

และ Tesco Lotus ที่มีโมเดลทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ

 

การชนะการประมูลของ CP ในเดือนมีนาคม จึงถูก Hold ไว้ เพื่อรอสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. พิจารณาอีกครั้งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเข้าซื้อธุรกิจ Tesco ของ CP

 

จนในเดือนพฤศจิกายน 2563 กขค. ประกาศ อนุญาตให้ CP ซื้อ Tesco Lotus ในประเทศไทยได้ เนื่องจาก มติของ กขค. 4 ต่อ 3 มองว่าการซื้อ Tesco Lotus ในประเทศไทย แม้จะทำให้ CP มีอำนาจเหนือตลาดก็จริง แต่ยังไม่เป็นการผูกขาด

โดยหลักเกณฑ์ที่ กขค. พิจารณาคำขออนุญาตควบรวม Tesco Lotus พิจารณาจากความสัมพันธ์ของบริษัทในกลุ่ม CP ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการที่มีสถานะเหมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันกับบริษัทผู้ขออนุญาต

ประกอบด้วย 7 บริษัท ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด, บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ, บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัทซี.พี. รีเทล โฮลติ้งจำกัด, บริษัทชีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

กขค. นำมาพิจารณา ผ่าน 3 กลุ่มประเภทค้าปลีกได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก

สำหรับกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต กขค. พิจารณาว่า Tesco Lotus และ Big C เป็นสองกลุ่มที่มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจาก

Tesco Lotus มีส่วนแบ่งตลาด 46.79%

Big C มีส่วนแบ่งตลาด 38.56%

Tops Superstore มีส่วนแบ่งตลาด 1.89%

อื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 12.76%

 

กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต กขค.พิจารณาว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจาก

Tops Supermarket มีส่วนแบ่งตลาด 26.21%
ตลาดโลตัส มีส่วนแบ่งตลาด 15.79%

วิลล่า มาร์เก็ต มีส่วนแบ่งตลาด 4.88%

อื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 53.12%

 

กลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็ก กขค.พิจารณาให้เซเว่นอีเลฟเว่น และ Tesco Lotus Express มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจาก

เซเว่นอีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาด 73.60%

Tesco Lotus Express 9.45% มีอำนาจเหนือตลาดหลังควบรวมกิจการกับ CP

กลุ่มเซ็นทรัล ประกอบด้วยแฟมิลีมาร์ท และท็อปส์ เดลี มีส่วนแบ่งตลาด 4.79%

อื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 12.16%

 

และการซื้อกิจการในครั้งนี้ (อ้างอิงจาก กขค.) ทำให้ CP เป็นเจ้าของ

ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นมากกว่า 11,712 สาขา, Tesco Lotus Express 1,595 สาขา

เป็นเจ้าของร้านค้าส่งสมัยใหม่ (Specialty Store) แม็คโคร 134 สาขา

ไฮเปอร์มาร์เก็ต Tesco Lotus 215 สาขา

ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดโลตัส 178 สาขา

 

ภายใต้การอนุญาตนี้ CP ซื้อ Tesco จะต้องทำตามเงื่อนไขอีก 7 ข้อคือ

  1. ห้ามควบรวมธุรกิจกับธุรกิจค้าปลีกค่าส่งสมัยใหม่อื่นๆ ในระยะเวลา 3 ปี
  2. เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากเอสเอ็มอีไทย ในกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน และสินค้า OTOP ในอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
  3. บริษัทค้าปลีกในเครือ CP ห้ามใช้ข้อมูลร่วมกัน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า
  4. ห้ามเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ Tesco Lotus ทำกับคู่ค้าไว้ก่อนหน้านั้น และให้คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิม ที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ เป็นระยะเวลา 2 ปี
  5. ให้สนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการกำหนดระยะเวลา การให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เป็นระยะเวลา 30-45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงิน เป็นระยะเวลา 3 ปี
  6. ต้องรายงานผลการประกอบธุรกิจตามรูปแบบ และกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กขค. ในรูปแบบรายไตรมาสหรือในระยะเวลาที่กำหนด เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
  7. ให้กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

ซึ่งภายใต้เงื่อนไขของ กขค. CP ยอมรับในเงื่อนไข และดำเนินขั้นตอนการซื้อธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยตามนิตินัย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ภายใต้ การลงทุนโดยอ้อมผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทลโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 

CP ซื้อ Tesco

โดย บริษัทที่บริษัท ซี.พี. รีเทลโฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทที่ บมจ. ซีพี ออลล์ ถือหุ้น 40%  ซีพี กรุ๊ป ถือหุ้น 40% บริษัท ซี พี เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CPF ถือหุ้น 20%

 

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน